ภูมิปัญญาชาวบ้าน (Popular Wisdom)
และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom)
หมายถึง พื้นความรู้ดั้งเดิมของชาวบ้าน หรือความรู้ของชาวบ้านที่มีการสืบต่อกันมาผ่านรุ่นสู่รุ่น หรือกล่าวได้ว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดได้เองและนำมาใช้แก้ปัญหา โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินวิถีชีวิตในท้องถิ่นได้เหมาะสมกับกาลสมัย
รากเหง้าของภูมิปัญญาชาวบ้านมักเกี่ยวข้องกับการนำธรรมชาติมาปรับปรุงสร้างสรรค์ ประยุกต์ให้เหมาะแก่การดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การแสดงออกของภูมิปัญญาชาวบ้านจะสะท้อนออกมาซึ่งความสัมพันธ์ ใน 3 ลักษณะ
- ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับโลก สิ่งแวดล้อม สัตว์ พืช ธรรมชาติ
- ความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกันในสังคมหรือชุมชน
- ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งที่ไม่สามารถสัมผัสได้ทั้งหลาย
เทคโนโลยีท้องถิ่น (Local Technology)
หมายถึง งานที่มาจากการประดิษฐ์คิดค้นของชาวบ้าน ผลผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญา แนวความคิด
วิธีการสร้างสรรค์ ประยุกต์วัสดุเครื่องมือหรือเครื่องใช้ เทคโนโลยีท้องถิ่นขนาดย่อม ประกอบด้วยปัจจัยเกื้อกูลต่อประโยขน์ใช้สอยสำหรับแต่ละท้องถิ่น ด้วยการผสมผสานกับแนวความคิด ความเชื่อ และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเกิดภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น ย่อมมีที่มาจากพื้นฐานแนวความคิดในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ซึ่งเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ปัจจัยที่มาของภูมิปัญญา ได้แก่
- สภาพภูมิศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มีอิทธิพลสำคัญที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำรงชีวิต ส่งผลให้เกิดรูปแบบของวิถีชีวิต การเพาะปลูกที่เหมาะสม การสร้างบ้านตามลักษณะพื้นที่ การสัญจรทางน้ำหรือทางบก เกิดความรู้จากการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
- ความเชื่อมั่นศรัทธาในศาสนา มนุษย์มีความต้องการที่จะได้รับผลของการตอบสนองในลักษณะของความเชื่อในกฎแห่งกรรม ศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือ ศาสนาพราหมณ์ พระพุทธศาสนา และศาสนาอิสลาม
- ความเชื่อในลัทธิบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณ บรรพชน เป็นการสืบทอดกันมาภายในชุมชนที่ต่อมาเมื่อมีศาสนาจึงเกิดการรวมกันของความเชื่อดังกล่าว จึงเป็นที่มาของพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ การบวงสรวง การไหว้บรรพบุรุษ เพื่อแสดงถึงความกตัญญูและเชื่อว่าบรรพบุรุษยังอยู่คุ้มครอง หรือการขอผีสางเทวดาให้เกิดฝนตกตามฤดู เป็นต้น
- ความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เกิดจากการสั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนทำให้ทราบว่าสิ่งใดจำเป็นต่อชีวิตของเรา ผ่านคติความเชื่อ และเป็นจารีตประเพณีต่าง ๆ อาทิ ด้านอาหาร ข้าวคืออาหารหลักของคนไทย ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่จะเพาะปลูกข้าวเพื่อใช้ดำรงชีวิต เป็นต้น
- ความต้องการประเทืองอารมณ์และจิตใจ เป็นการตอบสนองต่อจิตใจของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสังคมในแง่ของงานศิลปะ การแสดง การละเล่น นันทนาการ เช่น การแต่งคำกลอน แต่งเพลงกล่อมเด็ก เพลงเกี่ยวข้าว การละเล่นโยนบอลของชาวเขาเพื่อเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวหาคู่ภายใต้สายตาของผู้ใหญ่ เครื่องดนตรี