สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรงสมณศักดิ์เมื่อปี พ.ศ. 2394-2396 รวม 2 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 64 พรรษา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงศึกษาหนังสือไทยและภาษาบาลีตลอดทั้งวิชาอื่น ๆ จากสมเด็จ พระพนรัตน์ จนมีพระปรีชาสามารถ ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม มีผลงานอันเป็นพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงให้รวมวัดในแขวงกรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกลาง แล้วได้สถาปนากรมหมื่นนุชิตชิโนรสให้ดำรงสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะรอง และทรงตั้งเป็นเจ้าคณะกลาง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส (ปัจจุบันกรมสมเด็จพระ คือ กรมพระยา) ทรงสมณศักดิ์เป็นพระมหาสังฆปริณายก ทั่วพระราชอาณาเขต ให้จัดตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามมีทั้งพิธีสงฆ์ และพิธีพราหมณ์ คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกของคณะสงฆ์ไทย
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระบรมราชวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตาม พระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” หรือที่เรียกอย่างย่อว่า “สมเด็จพระสังฆราช” พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย ดังนั้น จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส”
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีพระอัจฉริยภาพหลายด้าน ในทางอักษรศาสตร์ ทรงพระปรีชาญาณเป็นนักปราชญ์ด้านภาษามคธ ภาษาขอม และภาษาไทยเป็นอย่างดี ได้นิพนธ์เรื่องฉันท์มาตราพฤติ และวรรณพฤติ ตำราโคลงกลบท คำกฤษฎี เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้นิพนธ์บทกวีอีกเป็นจำนวนมาก ที่ล้วนมีคุณค่าทางวรรณกรรมอย่างมาก
ในทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ไว้มากเช่น ลิลิตตะเลงพ่าย พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ลิลิตกระบวนพยุหยาตราพระกฐินสถลมารค และชลมารค เป็นต้น สำหรับวรรณกรรมศาสนา ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องพระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก หรือร่ายยาวมหาชาติ ซึ่งนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกทางพระพุทธศาสนาในสมัยรัตนโกสินทร์
ในทางพระพุทธศิลป์ ได้ทรงคิดแบบพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเลือกพระอิริยาบถต่าง ๆ จากพุทธประวัติเป็นจำนวน 37 ปาง เริ่มตั้งแต่ปางบำเพ็ญทุกขกิริยา จนถึงปางห้ามมาร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นเจ้าฟ้าผู้ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนง ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ดนตรีและงานช่าง พระองค์มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย ประสูติที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2406 ทรงได้รับการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนคะเด็ตทหาร จากนั้นผนวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากนั้นทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ และราชประเพณี
พระองค์เจ้าจิตรเจริญทรงผนวชเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2427 ครั้นลาผนวชแล้วทรงรับราชการในพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระสติปัญญารอบรู้เป็นที่วางพระราชหฤทัยจนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญอยู่หลายหน่วยงาน เพื่อวางรากฐานในการบริหารราชการให้มั่นคงทั้งกระทรวงโยธาธิการ, กระทรวงพระคลัง, กระทรวงกลาโหม, และกระทรวงวัง
ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์และโปรดเกล้าฯให้ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงทรงพ้นจากตำแหน่ง ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในบั้นปลายพระชนม์ทรงประทับที่บ้านปลายเนินจนสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 พระชันษา 83 ปี ทรงเป็นต้นราชสกลุลจิตรพงศ์
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานช่างหลายแขนงได้ทรงงานออกแบบไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งตรากระทรวง, พระราชลัญจกรและตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ, อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1, องค์พระธรณีบีบมวยผมที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา, พระบรมรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า, รวมทั้งทรงออกแบบพระเมรุมาศ และพระเมรุของพระบรมวงศ์หลายพระองค์
ด้านงานจิตรกรรมเขียนในวรรณคดี ประกอบเรื่องธรรมาธรรมะสงคราม เขียนภาพสีน้ำมันประกอบพระราชพงศาวดาร แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นภาพช้างทรงพระมหาอุปราชแทงช้างพระที่นั่ง ภาพเขียนรถพระอาทิตย์ที่เพดานพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ (พระที่นั่งบรมพิมาน) รวมทั้งภาพแบบตาลปัตร พัดต่าง ๆ
ผลงานสถาปัตยกรรมที่รู้จักแพร่หลาย เช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบิตรดุสิตวนาราม พระอุโบสถวัดราชาธิวาส พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านช่างนี้เอง ทำให้ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” และยังถือเป็น “สมเด็จครู” ของเหล่าช่างศิลปะทุกแขนงต่อไป
นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารถด้านดนตรี ทรงพระนิพนธ์เพลงเขมรไทรโยค เพลงตับนิทราชาคริต เพลงตับจูล่ง ฯลฯ ส่วนด้านวรรณกรรมทรงมีลายพระหัตถ์โต้ตอบกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นเอกสารที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและอักษรศาสตร์ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ "สาส์นสมเด็จ"
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ประสูติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2405 ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ แล้วเลื่อนเป็นกรมหลวง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระยาและเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผลงานสำคัญในแต่ละด้าน ได้แก่
ด้านการปกครอง ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรกเป็นเวลานานถึง 23 ปีติดต่อกัน ทรงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในแนวใหม่ โดยยกเลิกการปกครองที่เรียกว่า ระบบกินเมือง มาเป็นแบบ “ระบบเทศาภิบาล” โดยทรงรวมหัวเมืองต่าง ๆ จัดเข้าเป็น “มณฑล” และมี “ข้าหลวงเทศาภิบาล” ที่แต่งตั้งมาจากส่วนกลางส่งไปเป็นผู้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ในอำนาจของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง ระบบนี้ถือเป็นการรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง นอกจากนี้ยังทรงริเริ่มจัดตั้ง “การสุขาภิบาลหัวเมือง” ในปี พ.ศ. 2448 โดยริเริ่มจัดตั้งการสุขาภิบาลหัวเมืองที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เป็นแห่งแรก และนับเป็นการปูพื้นฐานการปกครองส่วนท้องถิ่น
มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในกระทรวงมหาดไทยเพื่อทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขราษฎร เช่น กรมตำรวจ กรมป่าไม้ กรมพยาบาล ตลอดเวลาที่ทรงดูแลงานมหาดไทย ทรงให้ความสำคัญแก่การตรวจราชการเป็นอย่างมาก เพราะต้องการเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ดูการทำงานของข้าราชการ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการหัวเมืองด้วย
ในด้านการศึกษา ทรงเริ่มงานจัดการศึกษาเป็นครั้งแรก เมื่อรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก พระองค์ได้เสนอให้เปลี่ยนสภาพ “โรงเรียนทหารมหาดเล็ก” ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนวิชาทหารให้แก่นายร้อย และนายสิบ ในกรมทหารมหาดเล็ก มาเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน มีชื่อเรียกว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” และพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียน
ทรงจัดตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน” เมื่อปี พ.ศ. 2442 ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต่อมา ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” และเปลี่ยนเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในเวลาต่อมา
ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัย “วัด” ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ และอบรมศีลธรรมให้แก่ราษฎรมาแต่โบราณ และ “วัดมหรรณพาราม” เป็นโรงเรียนหลวงแห่งแรกที่ทรงจัดตั้งขึ้น การศึกษาลักษณะนี้ได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมาเมื่อทรงปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอน ตลอดจนจัดพิมพ์ตำราเรียนเรียบร้อยแล้ว ได้ทรงขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรตามหัวเมืองต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้ง โรงเรียนหลวงขึ้นทั่วประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2435
ในปี พ.ศ. 2433 ทรงเป็นเสนาบดีกรมธรรมการจึงปรับปรุงงานด้านการศึกษาให้ทันสมัย เช่น กำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ คือ ฝึกคนเพื่อเข้ารับราชการ กำหนดหลักสูตร เวลาเรียนเป็นแบบสากล ทรงนิพนธ์ “ตำราแบบเรียนเร็ว” ขึ้นใช้เพื่อสอนให้อ่านได้ภายใน 3 เดือน มีการตรวจคัดเลือกหนังสือเรียน
งานด้านพระนิพนธ์ ทรงนิพนธ์งานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมไว้เป็นจำนวนมาก ทรงใช้วิธีสมัยใหม่ในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดี นอกจากนั้นยังทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “พระบิดาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2458 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ แต่ต่อมาเสด็จกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธิการ และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี
งานสำคัญอื่น ๆ ที่ทรงวางรากฐานไว้ ได้แก่ หอสมุดสำหรับพระนคร และงานด้านพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์เป็น “วันดำรงราชานุภาพ” เพื่อน้อมนำให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระองค์ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยเป็นอเนกอนันต์สืบไป และองค์การยูเนสโกได้ถวายสดุดีให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็น “บุคคลสำคัญของโลก” ท่านได้สร้างผลงานไว้จำนวนมาก ซึ่งเป็นมรดกทางปัญญาของคนไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้