เวลา ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ และการตั้งถิ่นฐานในดินแดนไทย
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 (ก่อนสมัยสุโขทัย)
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยหลังพุทธศตวรรษที่ 19 (สมัยการสถาปนาราชธานีของอาณาจักรไทย)
สถาบันพระมหากษัตริย์และพัฒนาการในประวัติศาสตร์ชาติไทย
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
บุคคลสำคัญกับการสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทย
ภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทย

การศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย และวิธีการทางประวัติศาสตร์

ยอดวิว 66.2k

แบบฝึกหัด

EASY

การศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย และวิธีการทางประวัติศาสตร์ (ชุดที่ 1)

HARD

การศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย และวิธีการทางประวัติศาสตร์ (ชุดที่ 2)

news

การศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย และวิธีการทางประวัติศาสตร์

เนื้อหา

การศึกษาประวัติศาสตร์ในประเทศไทย 

        มีกรอบความคิดจากสิ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้ ในสมัยก่อนผู้เขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่ จะเป็นผู้ที่อยู่ในราชสำนัก มีความเกี่ยวข้องกับกษัตริย์ หรือยอมรับว่าเป็น  ผู้รู้ เช่น นักบวชหรือผู้นำศาสนา ได้บันทึกในรูปแบบจารึก ตำนาน พงศาวดาร ที่เน้นเรื่องราวทางศาสนา การก่อตั้งบ้านเมือง วีรกรรมของกษัตริย์ การกำเนิดหรือที่มาของปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน

        ประเทศไทยได้เริ่มมีการศึกษาด้านประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า  อยู่หัว พระองค์ทรงกำหนดให้มีการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาประวัติศาสตร์ จนได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย"

        ต่อมามีผลงานทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในไทยมากมาย เพื่อกระตุ้นให้คนไทยรักชาติ ซึ่งมีข้อมูลที่สามารถใช้ศึกษาหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ สถานที่ เอกสาร จารึกต่าง ๆ ให้ต้องมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ตีความ หลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

       วิธีการทางประวัติศาสตร์

         หมายถึง กระบวนการศึกษาเรื่องราวของสังคมมนุษย์ในอดีต จากร่องรอยหลักฐาน โดยใช้เหตุผลในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหลักฐานอย่างเป็นระบบ ตามขั้นตอนดังนี้

       1) การกำหนดประเด็นศึกษา ประเด็นที่ต้องการจะศึกษาเกิดจากการตั้งคำถามเพื่อนำไปสืบค้นหาคำตอบที่ต้องการศึกษา เช่น หากผู้ศึกษาต้องการสืบค้นประวัติความเป็นมาของชุมชน ผู้ศึกษาจะต้องเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชน ซึ่งการตั้งคำถามจะเป็นประเด็นศึกษาที่จะนำไปสู่การสืบค้นข้อมูล นอกจากนี้คำถามดังกล่าวจะต้องเป็นคำถามที่ตอบได้และนำไปสู่การค้นคว้าแสวงหาความรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างขวางออกไป การตอบคำถามดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์สามารถตั้งสมมติฐานหรือวางกรอบประเด็นที่ต้องการจะศึกษาได้เหมาะสม โดยไม่กว้างหรือแคบจนเกินไป และยังเป็นแนวทางสำหรับการรวบรวมหลักฐานอีกด้วย

 สำหรับการตั้งคำถาม ควรตั้งตามหลัก 5W 1H ดังนี้

          - ใคร (Who): เป็นเรื่องราวของใคร และมีใครเกี่ยวข้องบ้าง
          - อะไร (What): สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร เป็นพฤติกรรมหรือกิจกรรมด้านใดของมนุษย์
          - ที่ไหน (Where): เหตุการณ์หรือเรื่องราวเกิดขึ้นที่ไหน
          - เมื่อไหร่ (When): เหตุการณ์หรือเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือในสมัยไหน
          - ทำไม (Why): ทำไมจึงเกิดเรื่องราวเหล่านั้นขึ้น (คำถามว่า “ทำไม” สามารถถามได้หลายแง่มุม เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์มีความหมาย)
          - อย่างไร (How): เหตุการณ์หรือเรื่องราวเหล่านั้นมีผลอย่างไรต่อปัจจุบัน (แสดงให้เห็นผลสืบเนื่องผ่านลำดับเวลาอีกด้วย)

        การตั้งคำถามดังกล่าวเพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถหาข้อสรุปโดยรวมเพื่อตอบประเด็นว่า “ทำไมและอย่างไร” เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดของการศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะเป็นคำถามที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และแสวงหาหลักฐานมาประกอบในการสนับสนุนแนวคิดของตน

       2) การรวบรวมหลักฐาน เป็นการสืบค้นข้อมูลเพื่อให้เข้าถึงหลักฐานและข้อเท็จจริงในอดีต ข้อมูลเหล่านี้ใช้เป็นหลักฐานยืนยันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตได้ เช่น หากผู้ศึกษาต้องการจะศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมสมัยสุโขทัย ผู้ศึกษาก็จะต้องค้นคว้าและรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสมัยสุโขทัย เช่น ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยต่าง ๆ รวมถึงวรรณกรรมร่วมสมัย เช่น ไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น ซึ่งหลักฐานเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจภาพรวมของเหตุการณ์หรือบริบทในช่วงที่ต้องการศึกษาได้

       ทั้งนี้ผู้ศึกษาจะต้องพยายามค้นหาและรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนต้องการจะศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตามผู้ศึกษาควรใช้หลักฐานอย่างรอบด้านและระมัดระวัง เพราะหลักฐานทุกประเภทล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกัน

       3) การประเมินคุณค่าของหลักฐาน ภายหลังจากที่ผู้ศึกษาได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาแล้ว ผู้ศึกษาจะต้องตรวจสอบและประเมินคุณค่าของหลักฐานชิ้นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยแบ่งได้เป็นสองส่วน ได้แก่

           3.1) การประเมินคุณค่าภายนอกหรือวิพากษ์วิธีภายนอก หมายถึง การประเมินคุณค่าของหลักฐานจากลักษณะภายนอกของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งบางครั้งอาจมีการปลอมแปลง เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้หลงผิด หรือเพื่อเหตุผลทางการเมืองหรือการค้า เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินว่าเอกสารนั้นเป็นของจริงหรือไม่

           ในส่วนวิพากษ์วิธีภายนอกเพื่อประเมินหลักฐานว่าเป็นของแท้ พิจารณาได้จากสิ่งที่ปรากฏภายนอก เช่น เนื้อกระดาษ สำหรับกระดาษของไทยแต่เดิมจะหยาบและหนา ส่วนกระดาษฝรั่งแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เริ่มเข้ามาสู่สยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่เริ่มใช้แพร่หลายมากขึ้นในทางราชการช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่พิมพ์ดีดปรากฏว่าเริ่มมีใช้ในรัชสมัยเดียวกัน ดังนั้น หากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยปรากฏว่าเริ่มมีการใช้เครื่องพิมพ์ดีดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ถือว่าหลักฐานนั้นเป็นของปลอม เป็นต้น

           3.2) การประเมินคุณค่าภายในหรือวิพากษ์วิธีภายใน เป็นการประเมินคุณค่าของหลักฐานจากข้อมูลภายในหลักฐานนั้น เป็นต้นว่า มีชื่อบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ ในช่วงเวลาที่หลักฐานดังกล่าวถูกทำขึ้นหรือไม่ ดังเช่น หลักฐานซึ่งเชื่อว่าเป็นหลักฐานสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่กลับมีการพูดถึงสหรัฐอเมริกาภายในหลักฐาน ดังนั้น จึงควรตั้งข้อสงสัยว่าหลักฐานชิ้นดังกล่าวเป็นหลักฐานสมัยกรุงศรีอยุธยาจริงหรือไม่ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่มีประเทศสหรัฐอเมริกา แต่น่าจะเป็นหลักฐานที่มีการทำขึ้นมาภายหลัง หรืออาจะเป็นหลักฐานของเก่าจริง แต่มีการเติมชื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเข้าไปภายหลัง เป็นต้น  

        4) การตีความ เชื่อมโยง และจัดหมวดหมู่หลักฐาน คือ การทำความเข้าใจว่าหลักฐานชิ้นดังกล่าวมีความหมายอย่างไร หรือบอกข้อเท็จจริงอะไรแก่ผู้ศึกษา นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะเชี่ยวชาญการตีความหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ต้องอาศัยนักโบราณคดี
นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่น ๆ ร่วมด้วย

        เมื่อทราบว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นของแท้ ให้ข้อมูลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาจะต้องศึกษาข้อมูลหรือสารสนเทศในหลักฐานชิ้นดังกล่าวว่าให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อะไรบ้าง ข้อมูลดังกล่าวมีความสมบูรณ์เพียงใด หรือมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นอย่างไร มีจุดมุ่งหมายแอบแฝงหรือไม่ และมีความยุติธรรมหรือไม่ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหลายมาจัดระบบหมวดหมู่ เช่น ความเป็นมาของเหตุการณ์ สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ ความเป็นไปของเหตุการณ์ เป็นต้น

         ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ควรมีความละเอียดรอบคอบ วางตัวเป็นกลาง มีจินตนาการ มีความรอบรู้ โดยศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและกว้างขวาง และนำผลการศึกษาเรื่องดังกล่าวที่มีแต่เดิมมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ รวมทั้งจัดหมวดหมู่ข้อมูลให้เป็นระบบ

         5) การเรียบเรียงนำเสนอข้อเท็จจริง การเรียบเรียงหรือการนำเสนอจัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมและเรียบเรียงหรือนำเสนอให้ตรงกับประเด็น หรือหัวเรื่องที่ตนเองสงสัย ต้องการอยากทราบเพิ่มเติม ทั้งจากความรู้เดิมและความรู้ใหม่ รวมไปถึงความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรื้อฟื้นหรือจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่อย่างถูกต้องและเป็นกลาง

         ในขั้นตอนนำเสนอ ผู้ศึกษาควรอธิบายเหตุการณ์อย่างมีระบบและมีความสอดคล้องต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผล มีการโต้แย้งหรือสนับสนุนผลการศึกษาวิเคราะห์แต่เดิม โดยมีข้อมูลหรือหลักฐานสนับสนุนอย่างมีน้ำหนัก เป็นกลาง และสรุปการศึกษาว่ามารถให้คำตอบที่ผู้ศึกษามีความสงสัยได้เพียงใด หรือมีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาต่อไปอย่างไรบ้าง

         ดังนั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมีระบบ มีความระมัดระวัง รอบคอบ มีเหตุผล และมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลตามหลักฐานที่สืบค้นมา อาจกล่าวได้ว่า วิธีการทางประวัติศาสตร์เหมือนกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จะแตกต่างกันก็แต่เพียงวิธีการทางวิทยาศาสตร์สามารถทดลองได้หลายครั้ง จนเกิดความพอใจในผลการทดลอง แต่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีก ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีจึงเป็นผู้ฟื้นอดีต หรือจำลองอดีตให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจในอดีต อันจะนำมาสู่ความเข้าใจในปัจจุบัน