สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้านวม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับเจ้าจอมมารดาปราง (ราชนิกุลบางช้าง) ประสูติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2351 เป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษาในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านอักษรศาสตร์ ทั้งอักขรวิธีภาษาไทย ขอม และมคธ รวมทั้งวรรณคดี วิชาโบราณคดี และราชประเพณี
เมื่อครั้นปี พ.ศ. 2392 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชปรารภถึงความเสื่อมโทรมของภาษาไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระองค์เจ้านวม ทรงแต่งตำราภาษาไทยขึ้นใหม่เพื่ออนุรักษ์ภาษาไทย โดยอธิบายหลักเกณฑ์ภาษาไทยให้เข้าใจง่ายกว่าเดิมในชื่อ “จินดามณี เล่ม 2” ซึ่งทรงดัดแปลงจากตำราเดิมสมัยอยุธยา (จินดามณีเป็นหนังสือแบบเรียนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระโหราธิบดี กวีในสมัยพระนารายณ์มหาราช เนื้อหาของหนังสือว่าด้วย ระเบียบของภาษา สอนอักขรวิธีเบื้องต้นพร้อมอธิบายวิธีแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์)
นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระกรณียกิจด้านวรรณกรรมและการศึกษาหลากหลายประการ ได้แก่ ทรงพระนิพนธ์นิราศพระประธม เพลงยาวสามชาย เพลงยาวกลบทสิงโตเล่นหาง พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นตามพระราชบัญชาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พระองค์เจ้านวม ทรงเข้ารับราชการกำกับกรมหมอตั้งแต่ในรัชกาลที่ 3 และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหมื่นวงศาสนิท ทรงศึกษาวิชาการแพทย์สมัยใหม่จากมิชชันนารีอเมริกัน นอกจากนี้เมื่อพระชนมายุ 34 ชันษา ทรงนำความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่ทรงศึกษารวบรวมมาจากครอบครัวฝ่ายพระมารดา และทรงแต่งตำราสรรพคุณสมุนไพรไทยจำนวน 166 ชนิด เป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการและวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด อีกทั้งยังทรงจารึกคำประพันธ์ไว้บนแผ่นหินบรรยายถึงการบำบัดโรคและการออกกำลังกายในท่าต่าง ๆ ที่เรียกว่า “ฤาษีดัดตน” ที่มีเรียงรายอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์
พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาวิชาแพทย์ตะวันตก ทรงเปิดกว้างรับทั้งแพทย์แผนโบราณและแพทย์สมัยใหม่ โดยทรงศึกษาจากหมอบรัดเลย์ จากนั้นก็ทรงอนุญาตให้มีการผ่าตัดและทดลองปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2381 ต่อมาพระองค์ทรงได้รับการถวายพระเกียรติจากสถาบันการแพทย์ของยุโรปและเป็นสมาชิกสถาบันการแพทย์แห่งนิวยอร์ก ชาวต่างชาติขนานพระนามพระองค์ว่า ปริ๊นด๊อกเตอร์ (The Prince Doctor) ด้วยคุณงามความดีเหล่านี้พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรมหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น 3 ค่ำ (ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ตามปฏิทินเก่า ถ้านับตามปฏิทินสากล ตรงกับ พ.ศ. 2435) ณ พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวีภายในพระบรมมหาราชวัง
ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกออกมา ปรากฏว่าได้นักเรียนพยาบาลมา 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้งสองของพระองค์อย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2463 สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม ได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ มีพระราชโอรส-พระราชธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ดังนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงรับราชการในกองทัพเรือ ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับเรือดำน้ำ ถึงแม้จะไม่ได้ดังพระประสงค์ในช่วงเวลานั้น แต่อีก 20 ปีต่อมา กองทัพเรือก็ได้สั่งต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ คือ เรือหลวงมัจฉาณุ, เรือหลวงวิรุณ, เรือหลวงสินสมุทร, และเรือหลวงพลายชุมพล นอกจากเรื่องเรือดำน้ำ พระองค์ยังได้ทรงร่างโครงการสร้างกำลังทางเรือทั้งกองทัพไว้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกองทัพเรือได้จัดตั้งฐานทัพเรือและสถานีทหารเรือ พร้อมกับจัดส่งกำลังทางเรือ ไปประจำตามฐานทัพเรือและสถานีเรือ สอดคล้องกับแนวพระราชดำริโครงการสร้างกองเรือรบ
ทางด้านการแพทย์ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทรงเกี่ยวข้องกับการแพทย์ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจไว้มากมาย ทรงอุทิศทั้งพระราชทรัพย์และพระวรกาย พระสติกำลังเพื่อการแพทย์โดยแท้ ที่สำคัญ ได้แก่
ในด้านการสาธารณสุข ที่สำคัญ เช่น
นอกจากนี้ยังทรงมีน้ำพระราชหฤทัยเมตตา ช่วยเหลือการศึกษาด้านอื่นนอกเหนือจากการแพทย์ เป็นต้นว่า พระราชทานทุน 1 แสนบาทเพื่อส่งคนไปศึกษาต่างประเทศด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อการโภชนาการที่ดีของคนไทย จึงได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า “พระประทีปแห่งการอนุรักษ์สัตว์น้ำของไทย” พระราชทานทุนให้แก่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เพื่อจัดหาอาจารย์ชาวต่างประเทศมาสอน พระราชทานเงินให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ และพระราชทานเงินบำรุงโรงพยาบาลสงขลาเป็นรายปี
วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะบวมน้ำและพระหทัยวาย พระชนมายุได้ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อ
วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2473
หม่อมราโชทัย นามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร เป็นบุตรของหม่อมเจ้าชอุ่ม อิศรางกูร (ภายหลังเป็นกรมหมื่นเทวานุรักษ์ในสมัยรัชกาลที่ 5) กับหม่อมนกและเป็นปนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่แล้ว เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2362 เมื่อเจริญวัย บิดาได้นำไปถวายตัวอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้นดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงศ์พงศาอิศวรกระษัตริย์ขัตติยราชกุมาร หม่อมราชวงศ์กระต่ายได้อยู่รับใช้ในพระองค์ตลอดมาด้วยเป็นญาติใกล้ชิดทางพระราชมารดาในเจ้าฟ้ามงกุฎ
เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวช หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้เสด็จไปอยู่รับใช้โดยตลอด ครั้นเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาภาษาอังกฤษ หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ศึกษาตามพระราชนิยม โดยได้ศึกษากับพวกหมอสอนศาสนามิชชันนารีจนมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ติดตามสมัครเข้ารับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณ และด้วยความสามารถทางการใช้ภาษาอังกฤษ จึงได้เลื่อนเป็น หม่อมราโชทัย
เมื่อมีพระราชดำริให้จัดส่งราชทูตเชิญพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการไปอังกฤษ ก็ได้ให้หม่อมราโชทัยไปเป็นล่าม หม่อมราโชทัยได้บันทึกเหตุการณ์ที่ได้พบเห็นไว้ในรูปจดหมายเหตุการเดินทาง ต่อมาได้นำมาเขียนใหม่เป็นคำกลอนชื่อว่า "นิราศลอนดอน" และขายลิขสิทธิ์ให้หมอบรัดเลย์ นับเป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่มีการซื้อขายลิขสิทธิ์กัน
ภายหลังหม่อมราโชทัยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นอธิบดีพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรก หม่อมราโชทัยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 อายุได้ 49 ปี