1) ยุคหินเก่า (Old Stone Age - Paleolithic) มีอายุประมาณ 500,000-10,000 ปีมาแล้ว ใช้เครื่องมือหินที่ทำจากหินกรวดแม่น้ำ นำมากะเทาะอย่างหยาบ ๆ เพียงหน้าเดียว เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต มีการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวขนาดเล็ก เร่ร่อนตามฝูงสัตว์ พักอาศัยอยู่ในถ้ำหรือตามชะง่อนผา
2) ยุคหินกลาง (Middle Stone Age) ประมาณ 10,000-6,000 ปี มาแล้ว ใช้เครื่องมือหินแบบฮัวบินเนียน (Hoabinhian) คือ มีขนาดเล็กลงและใช้กับงานเฉพาะด้าน มีการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบผิวเกลี้ยงขัดมัน หรือมีลายเชือกทาบ วิถีการดำเนินชีวิตอยู่รวมเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ยังไม่มีการตั้งถิ่นฐานที่แน่นอน เร่ร่อนไปตามแหล่งอาหาร มีการประกอบพิธีกรรมฝังศพ
3) ยุคหินใหม่ (New Stone Age - Neolithic) ประมาณ 6,000-4,000 ปี มาแล้ว เครื่องมือหินมีหลายแบบที่เป็นเอกลักษณ์คือ ขวานหินขัด มีการทำเครื่องจักรสาน ทอผ้า สามารถทำเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณภาพดีขึ้น มีเครื่องมือล่าสัตว์ เช่น เบ็ดตกปลาจากกระดูกสัตว์ ตั้งหลักแหล่งอยู่รวมเป็นกลุ่มใหญ่ ใกล้แหล่งน้ำ มีการแลกเปลี่ยนค้าขาย ชุมชนขยายตัวได้รวดเร็ว เป็นสังคมขนาดใหญ่มากขึ้น
1) ยุคสำริด (Bronze Age) ประมาณ 4,000-2,500 ปี มาแล้ว มีการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับ จากสำริด (ทองแดงผสมดีบุก) ภาชนะดินเผามีหลายรูปแบบ หลายขนาด ตกแต่งลวดลายลงสีแดง ยังคงมีการใช้เครื่องมือหิน เครื่องที่ทำจากเปลือกหอยและกระดูกสัตว์ อยู่รวมกันเป็นชุมชน ทำการเพาะปลูกได้เอง มีระบบการปกครอง มีพิธีกรรมความเชื่อ เช่น การฝังศพ
2) ยุคเหล็ก (Iron Age) ประมาณ 2,500-1,500 ปี มาแล้ว มีการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธด้วยเหล็กที่มีความแข็งแรงมากกว่าสำริด มีการสร้างอาวุธ ทำให้มีการแผ่อำนาจไปครอบครองชุมชนอื่น อยู่รวมกันเป็นเมือง มีการขุดคูน้ำ คันดินล้อมรอบ ระบอบการปกครองพัฒนาขึ้น มีการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ มีการค้าขายแลกเปลี่ยนกับดินแดนห่างไกล โดยใช้เรือและเกวียน ในบางเมืองได้พัฒนาเป็น อาณาจักร
แหล่งโบราณคดีบ้านแม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
พบเครื่องมือหินกะเทาะทำมาจากหินกรวดแม่น้ำ กำหนดอายุได้ในช่วง 500,00-400,000 ปีมาแล้ว ตรงกับยุคหินเก่า
แหล่งโบราณคดีถ้ำผีแมน อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พบเครื่องมือแบบฮัวบินเนียน มีการกะเทาะให้เกิดความคมมากขึ้น ภายในถ้ำ กำหนดอายุได้ในช่วง 9,000-6,000 ปีมาแล้ว ตรงกับยุคหินกลาง
แหล่งโบราณบ้านเก่า ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
พบภาชนะดินเผาหลากหลายรูปแบบผิวเกลี้ยงขัดมัน ลายเชือกทาบ ลักษณะเด่นคือ ภาชนะดินเผาสามขา นอกจากนี้พบเครื่องประดับจากเปลือกหอย และลูกปัดที่ทำมาจากหิน กำหนดอายุได้ในช่วง 4,000 ปีมาแล้ว ตรงกับยุคหินใหม่
แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ตำบลพนมทวน อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
เป็นแหล่งโบราณคดียุคโลหะ ที่สำคัญ พบโครงกระดูกมนุษย์ เครื่องมือเหล็กและสำริดที่ใช้งานด้านเกษตรกรรม นอกจากนี้ยังพบลูกปัดหินสีต่าง ๆ มากมาย เมื่อศึกษาพบว่าไม่ได้ทำจากหินในท้องถิ่น แต่นำมาจากอินเดีย แสดงให้เห็นว่า ชุมชนบ้านดอนตาเพชรมีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างแดนแล้ว
แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีช่วงระยะเวลายาวนานติดต่อกัน แบ่งเป็น 3 ระยะ
- บ้านเชียงสมัยต้น (ยุคหินใหม่) จากการขุดค้นพบเครื่องปั้นดินเผาอยู่ข้างกับโครงกระดูกมนุษย์ แสดงให้เห็นว่ามีพิธีกรรมการฝังศพ ภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยเชือกทาบทั้งใบ
- บ้านเชียงสมัยกลาง (ยุคสำริด) พบการทำเครื่องมือเครื่องและเครื่องประดับด้วยโลหะ ภาชนะดินเผามีขนาดใหญ่ขึ้นผิวนอกสีขาว เริ่มมีการตกแต่งด้วยการทาสีแดง
- บ้านเชียงสมัยปลาย (ยุคเหล็ก) มีการใช้เหล็กทำเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทนทานกว่าสำริด