สังคมไทยก่อนการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการพัฒนาสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน มีขนบธรรมเนียมประเพณี การปกครอง ชนชั้นต่าง ๆ ลักษณะดังกล่าวยังคงสืบมาจนถึงปัจจุบัน
สังคมของกลุ่มชนชาวสุโขทัยแบ่งเป็น 2 ชนชั้นชัดเจน คือ ชนชั้นผู้ปกครอง ประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศาสนุวงศ์ และขุนนาง ส่วนชนชั้นใต้ปกครองคือ ไพร่ หรือประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพระสงฆ์ ซึ่งถูกจัดเป็นชนชั้นพิเศษ มีบทบาทสำคัญในการอบรมสั่งสอน สังคมในสมัยสุโขทัยเป็นสังคมที่มีชนชั้น แต่มีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกันมากแบบเครือญาติ นอกจากนี้ศาสนาที่เข้ามามีอิทธิพลคือ พระพุทธศาสนา นิกายเถรวาทจากลังกา รวมถึงศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู จากอาณาจักรเขมร ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนกันระหว่างศาสนาพราหมณ์กับพระพุทธศาสนา
ในด้านวิถีชีวิตคนสุโขทัยมีคตินิยมเรื่องความกตัญญูรู้คุณบิดามารดา อันเป็นหลักสำคัญในการดำรงชีวิต ซึ่งมาจากอิทธิพลเรื่องบุญ-บาปในศาสนาพุทธ ส่งผลให้เกิดเป็นประเพณีที่ส่งมาถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณีการทอดกฐิน ประเพณีการเทศน์มหาชาติ ประเพณีการบวช (เป็นข้อสันนิษฐานที่ได้จากข้อความในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย)
ในสมัยอยุธยา ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นและผู้คนมีความหลากหลายอย่างมาก ทั้งจากการกวาดต้อน และลี้ภัยเมื่อครั้งสงคราม รวมทั้งการเข้ามาติดต่อค้าขายของชาวต่างชาติ แต่ละชนชั้นมีความสัมพันธ์ที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยมีการกำหนดสิทธิไว้ชัดเจน
ชนชั้นสังคมอยุธยาประกอบด้วย
มีการการจัดระบบสังคมที่เรียกว่า ระบบศักดินา และระบบไพร่ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ อย่างมาก
ระบบศักดินา เป็นการกำหนดบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ สิทธิ และฐานะของทางสังคมบุคคลโดยพระมหากษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานให้ ซึ่งใช้จำนวนที่นาเป็นเครื่องแสดงฐานะสูงต่ำ ตามลำดับ ศักดินายังเป็นตัวชี้ตำแหน่งของบุคคลในสังคม และกำหนดหน้าที่ที่ต้องกระทำ ความรับผิดชอบสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลผู้นั้น (เช่น เป็นขุนนาง ต้องทำหน้าที่ดูแลคนในสังกัดให้ทำหน้าที่ให้ดีต่อชาติบ้านเมืองหรือนำผู้คนไปออกรบยามศึกสงคราม มีสิทธิสามารถสั่งทำโทษคนในสังกัดตนได้ หากเป็นไพร่ก็ทำนาปลูกข้าวหรือทำตามคำสั่งเจ้านายตน ยามสงครามก็ไปเป็นทหาร) นอกจากนี้การกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดก็จะพิจารณาตามศักดินา โดยผู้มีศักดินาสูงจะมีโทษหนักว่าผู้มีศักดินาต่ำ
ระบบไพร่ มีการกำหนดให้ผู้ชายไปรับราชการโดยการใช้แรงงาน เรียกว่า “เข้าเดือน ออกเดือน” (มาทำราชการหนึ่งเดือน และหยุดพักไปทำมาหากินหนึ่งเดือนสลับกันไป) จนครบปี ไพร่มีสังกัดขึ้นกับ “มูลนาย” แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. “ไพร่หลวง” คือ ไพร่ที่ขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงแจกจ่ายให้ประจำกรมกองต่าง ๆ
2. “ไพร่สม” คือ ไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่เจ้านายที่เป็นเชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางระดับสูง
นอกจากนี้ยังมี “ไพร่ส่วย” คือ ไพร่ที่จ่ายเงินแทนการใช้แรงงานหรือรับราชการอีกด้วย (ไพร่ส่วยมีจำนวนมากขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย) ซึ่งในสมัยอยุธยาทุกคนมีศักดินา ยกเว้นพระมหากษัตริย์ (เพราะพื้นดินทั้งหมดในอาณาจักร คือ ของพระเจ้าแผ่นดิน) แต่ละชั้นจะได้รับที่ดินเป็นตัวบอกถึงตำแหน่ง ซึ่งเป็นมาตราวัดมีหน่วยเป็น ไร่ ดังนี้
ชนชั้น | ศักดินา |
เจ้านาย (พระบรมวงศ์ศานุวงศ์) | 500-100,000 ไร่ |
ขุนนาง | 400-10,000 ไร่ |
พระสงฆ์ | 100-2,400 ไร่ |
ข้าราชการหรือขุนหมื่น | 30-ต่ำกว่า 400 ไร่ |
ไพร่ | 10-25 ไร่ |
ทาส | ไม่เกิน 5 ไร่ |
กล่าวโดยสรุป ผู้มีศักดินาต่ำกว่า 400 ไร่ จะถือเป็นชนชั้นใต้ปกครอง ส่วนผู้มีศักดินาสูงกว่า 400 ไร่ ขึ้นไปเป็นชนชั้นปกครอง นั่นเอง
ในช่วงสมัยกรุงธนบุรีเป็นยุคของการสร้างบ้านแปลงเมือง มีการก่อสร้างพระราชวัง ป้อมปราการ กำแพงพระนคร วัดวาอารามต่าง ๆ ยังคงมีลักษณะสืบต่อมาจากอยุธยา แต่เนื่องจากบ้านเมืองเสียหายจากสงครามอย่างหนัก ประกอบกับเพิ่งกอบกู้เอกราชคืนมาได้แต่ก็ต้องระมัดระวังภัยจากพม่าที่จะมาโจมตีอีก ผู้คนต่างพยายามหนีเอาตัวรอดมีการตั้งเป็นก๊ก เป็นชุมนุม ทำให้มีโจรปล้นสะดมมากมาย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงได้ออกมาตราการขั้นเด็ดขาดในการปราบปรามและควบคุมกำลังคน
นอกจากนี้ยังทรงทำนุบำรุงศาสนามีการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดที่สำคัญ เช่น วัดบางยี่เรือเหนือ วัดบางยี่เรือใต้ และทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก และยังปรากฏผลงานด้านศิลปกรรม คือ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ด้วยพระองค์เอง และทรงโปรดให้ช่างเขียน “สมุดภาพไตรภูมิ” เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนเกิดความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ประพฤติกรรมดี ละเว้นความชั่ว พระองค์ทรงหารายได้จากการทำการค้ากับจีน การเก็บภาษี ส่วย และสนับสนุนให้ทุกคนทำเกษตรกรรม
สังคมของรัตนโกสินทร์ในช่วงต้นกรุงนั้นยังคงมีลักษณะตามแบบในสมัยอยุธยาตอนปลายและธนบุรี คือยังใช้ระบบศักดินา และจตุสดมภ์ในการบริหารปกครองประเทศ แต่สมัยรัตนโกสินทร์นั้น ชาวต่างชาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศด้านสังคมและเศรษฐกิจ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีการยกเลิกการเข้าเวร แบบ “เข้าเดือนออกเดือน” เปลี่ยนมาเป็นเข้าเวร 1 เดือน ออก 2 เดือน เพื่อให้ไพร่มีเวลาประกอบอาชีพมากขึ้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้เปลี่ยนการเข้าเวรรับราชการเป็น เข้าเวร 1 เดือน ออก 3 เดือน ทำให้ข้าราชการเข้ามารับราชการเพียงปีละ 3 เดือน เนื่องจากบ้านเมืองมีการเจริญเติบโต การค้าขายขยายตัวจากการเข้ามาของชาวจีนและชาวตะวันตกทำให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย เช่น คนลากเกวียน, อาชีพคนขับรถสามล้อ, เลขานุการ, นักบัญชี เป็นต้น
นอกจากนี้ด้านศาสนา การศึกษา และศิลปกรรม ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา มีการสร้างและบูรณะวัดเก่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) นับได้ว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 จนกระทั้งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 มีการรวบรวมองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการแพทย์, วรรณกรรม, ศาสนา, ศิลปกรรม, การต่างประเทศ ไว้ที่วัดแห่งนี้จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย”และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดในเขตพระราชวังคือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ตามแบบอย่างพระราชวังหลวงสมัยอยุธยา
จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 3 เป็นยุคของการสร้างวัดและบูรณะวัดเก่าเป็นจำนวนมาก โดยรูปแบบทางศิลปกรรมได้รับอิทธิพลจากจีนเป็นหลัก เกิดรูปแบบที่เรียกว่า “แบบพระราชนิยม” เพราะเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นวัดที่สร้างโดยพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 ทำให้มีการสร้างวัดที่มีลวดลายจีนและลดทอนรายละเอียดแบบไทยประเพณีลง เช่น ตัดทอนส่วนช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ออกหน้าบันนิยมประดับกระเบื้องเคลือบหรือเครื่องถ้วยแทนการประดับด้วยกระจกสี เพื่อให้ประหยัดงบประมาณและเวลา
ผลงานที่สำคัญในสมัยนี้คือ วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยรัชกาลที่ 3 มีการพิมพ์หนังสือขึ้นเป็นครั้งแรก งานพิมพ์ชิ้นสำคัญ คือ หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ (The Bangkok Recorder) โดยหมอบรัดเลย์ (Mr. Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ทำให้งานเขียนต่าง ๆ ได้รับการเผยแพร่ได้กว้างขวางขึ้น บุคคลสำคัญในสมัยนี้ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส พระองค์ได้รับยกย่องว่าเป็น “รัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ทรงนิพนธ์ เรื่องลิลิตเลงพ่าย, สมุทรโฆษคำฉันท์, ปฐมสมโพธิคาถา, ร่ายยาวพระมหาเวสสันดรชาดก
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก่อนการปฏิรูปสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น สยามต้องเผชิญกับการเข้ามาของชาติตะวันตก ที่เข้ามาล่าอาณานิคม ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบถูกรุกรานจนกลายเป็นเมืองขึ้น (อินเดียและพม่า รวมทั้งหัวเมืองมลายูตกอาณานิคมของอังกฤษ ในขณะที่ญวน และเขมรส่วนนอกตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส) ทำให้สยามจำเป็นต้องทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษและชาติอื่น ๆ เป็นเหตุให้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต รวมทั้งทำให้รูปแบบเศรษฐกิจของสยามเปลี่ยนจากแบบยังชีพ เป็นแบบการค้าที่มีเงินตราเข้ามาเป็นปัจจัยแลกเปลี่ยนที่สำคัญ เป็นต้น
ดังนั้น รัชกาลที่ 4 จึงโปรดฯให้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญตามแบบตะวันตกเพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติดูถูกว่า เป็นประเทศไม่มีอารยะ ธรรมเนียมของราชสำนักที่ทรงโปรดฯให้ปรับเปลี่ยน นั่นคือ ทรงโปรดฯให้ข้าราชการทั้งหลายสวมเสื้อเข้าเฝ้า นอกจากนี้พระองค์ได้ให้สิทธิแก่ประชาชนหลายประการ เช่น
รัชกาลที่ 4 ทรงร่วมดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา ด้วยพระองค์เอง เป็นการแสดงถึงการลดพระราชสิทธิ์ ทำให้กษัตริย์มีความใกล้ชิดกับประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น ข้อได้เปรียบของพระองค์คือทรงแตกฉานหลายภาษา
ทั้งภาษาไทย, บาลี, สันสกฤต, มอญ, อังกฤษ, ลาติน, และภาษาฝรั่งเศส โดยเฉพาะภาษาของชาติตะวันตก ทำให้สามารถรู้ทันชาติตะวันตกได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นการปูทางให้รัชกาลที่ 5 ในการปฏิรูปประเทศต่อไป
อิทธิพลตะวันตกได้เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอิทธิพลอย่างมากโดยเฉพาะศิลปะและวิทยาการ เช่น มีเครื่องพิมพ์ในสยามทำให้สยามเรียนรู้เรื่องการพิมพ์ หรือด้านศิลปะ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังดูมีมิติและสมจริงอย่างตะวันตก มีแรเงา ภาพมีความลึกตื้น สำหรับจิตรกรเอกที่เป็นผู้บุกเบิกงานจิตรกรรมแบบตะวันตกนี้ คือ "ขรัวอินโข่ง" นับเป็นศิลปินก้าวหน้าแห่งยุคที่ผสมผสานแนวดำเนินชีวิตแบบไทยกับตะวันตกเข้าด้วยกัน ด้านอาคารสำคัญต่าง ๆ เริ่มมีอิทธิพลตะวันตกเข้ามาอย่างเห็นได้ชัด มีการตั้งศาลกงศุล หรือศาลคดีต่างประเทศ