ในสมัยรัชกาลที่ 6 เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงต้นรัชกาล คือ กบฎ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) เกิดขึ้นจากกลุ่มนายทหารหนุ่มและพลเรือนกลุ่มหนึ่ง นำดดยร้อยเอกขุนทวยหายพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ได้ตั้งขบวนการที่จะก่อการปฏิวัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่ก็ประสบความล้มเหลวเนื่องจากถูกจับกุมก่อน
ภาพที่ 1 ภาพถ่ายคณะผู้ก่อการในเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Palace_Revolt_of_1912#/media/File:Siamese_1912_plotters130_02.jpg
หลังกบฎ ร.ศ. 130 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามชี้ให้เห็นว่า ระบอบราชาธิปไตยเหมาะสมที่สุดสำหรับเมืองไทย ทรงชี้ให้เห็นความยุ่งยากของการปกครองระบอบประชาธิปไตยและสาธารณรัฐไว้ในหนังสือและบทความพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง ทรงปลุกความรู้สึกชาตินิยมโดยเน้นให้เห็นความสำคัญของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันก็ทรงพยายามพัฒนาความรู้ความคิดของพลเมืองให้มากขึ้น เช่น การตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 และการให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแก่วงการหนังสือพิมพ์และทรงจัดตั้ง "ดุสิตธานี" เพื่อฝึกให้ขุนนางและข้าราชการทดลองการปกครองและบริหารราชการท้องถิ่น
ภาพที่ 2 ภาพถ่ายเมืองจำลองดุสิตธานี
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5#/media/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5.jpg
ในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงสนับสนุนการปกครองที่มาจากประชาชน แต่พระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่าการปกครองระบอบนี้จะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยฝึกหัดประชาชนให้รู้จักใช้สิทธิในการออกเสียง ควบคุมกิจการท้องถิ่นเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะเข้าควบคุมกิจการของรัฐในรูปของรัฐสภา พระองค์จึงทรงให้ความสำคัญต่อการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปของเทศบาล ทำให้ในปี พ.ศ. 2470 ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการศึกษาปรับปรุงแก้ไขการสุขาภิบาลที่ตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เป็นรูปเทศบาลมากขึ้น
รัชกาลที่ 7 ทรงมีแผนที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ มีการร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ แต่บรรดาอภิรัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ต่างมีมติคัดค้าน ด้วยเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา ควรให้ประชาชนได้มีประสบการณ์ในการปกครองตัวเองมากกว่าที่เป็นอยู่ก่อน แผนพัฒนาการปกครองของรัชกาลที่ 7 สิ้นสุดลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมาย หรือเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
ภาพที่ 3 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก
ที่มา:https://www.m-culture.go.th/young/ewt_news.php?nid=176&filename=index
ในช่วงเวลา 1 ปีหลังการปฏิวัติปี พ.ศ. 2475 เป็นช่วงเวลาของการประนีประนอมทางการเมือง ระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มเจ้านายและกลุ่มขุนนางเก่า โดยคณะราษฎรได้เชิญพระยามโนปกรณ์นิติธารา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ถวายพระราชอำนาจแก่สถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475
หลังจากนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 2 เหตุการณ์
รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นกราบทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (พระราชโอรสพระองค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5) ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457 - 2461) ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างรุนแรงในปี พ.ศ. 2472 โดยเริ่มต้นในยุโรปก่อน ต่อมาในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้ขยายไปทั่วโลกและกระทบกระเทือนมาถึงประเทศไทยด้วย ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ข้าวปลาอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคมีราคาสูง ส่งผลให้ประชาชนไทยเดือดร้อนอย่างยิ่ง รัฐบาลไม่สามารถหารายได้จากการส่งสินค้าของไทยไปต่างประเทศได้เหมือนแต่ก่อน จึงไม่มีเงินงบประมาณเพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายในการบริหารประเทศและจ่ายเงินเดือนแก่ข้าราชการ รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยการตัดทอนรายจ่ายของประเทศอย่างจริงจัง เช่น ยุบเลิกกระทรวง ทบวง กรมที่ไม่จำเป็น ปลดข้าราชการออกจากงานจำนวนมาก นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงตัดงบประมาณส่วนพระองค์ให้เหลือน้อยลง แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้
ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในครั้งนั้นเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่คณะราษฎรใช้เป็นข้ออ้างในการก่อการปฏิวัติ
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ 9 เดือน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ ต่อรัฐบาลด้วยจุดประสงค์จะจัดเศรษฐกิจของชาติให้ดีขึ้น ตามเจตนารมณ์ของคณะราษฎรในหลัก 6 ประการ โดยเสนอให้รัฐเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจนี้ เรียกว่า "สมุดปกเหลือง" ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกับแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทำให้บุคคลในคณะรัฐบาลบางคนไม่พอใจ รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงเห็นด้วย ทรงเขียนวิจารณ์สมุดปกเหลือง ข้อวิจารณ์นั้นถูกเรียกว่า "สมุดปกขาว" คณะรัฐมนตรีจึงไม่ยอมรับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม
อย่างไรก็ตาม สภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่เริ่มดีขึ้น เนื่องจากการที่ไทยถอนตัวจากมาตรฐานทองคำโลกเมื่อปี พ.ศ. 2475 ก็ช่วยให้ไทยส่งสินค้าขาออกคือ ข้าว ได้มากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลชุดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังได้ปรับปรุงภาษีให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น ยกเลิกเงินรัชชูปการ อากรค่านา ค่าสวน แล้วใช้ระเบียบภาษีใหม่ที่เรียกว่า "ประมวลรัษฎากร" ซึ่งเก็บภาษีเงินได้ตามฐานะของราษฎร
รัฐบาลภายหลัง พ.ศ. 2475 พยายามใช้นโยบายใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาติ เช่น นโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้ประชาชนมีที่ทำกินเป็นของตนเอง นโยบายการใช้รูปแบบสหกรณ์เพื่อแก้ปัญหานายทุนเอาเปรียบ
เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โครางสร้างของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก และยังคงเปลี่ยนอยู่ต่อมาโดยเฉพาะภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ ชนชั้นปัญญาชนขยายตัวมากขึ้น ทำให้วิทยาการและวัฒนธรรมตะวันตกเข้าสู่เมืองไทย ทั้งโดยตรงและผ่านทางการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ประกอบกับรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการศึกษาโดยตรงจากอังกฤษ จึงทรงมีบทบาทสำคัญในการนำไทยสู่สังคมวัฒนธรรมสากลมากยิ่งขึ้น
สภาพสังคมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในทางปฏิบัติยังคงมีการแบ่งชนชั้นตามลักษณะการครองชีพเป็นเกณฑ์ ได้แก่ กลุ่มแรก พระมหากษัตริย์และบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทำหน้าที่ปกครองประเทศ กลุ่มขุนนาง ข้าราชการ กลุ่มพ่อค้า กลุ่มราษฎรทั่วไปที่เป็นเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และกลุ่มวิชาชีพเฉพาะด้านอื่น ๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สภาพทางสังคมมีการแบ่งชนชั้นอย่างเด่นชัดระหว่างเจ้านายกับสามัญชน ความแตกต่างระหว่างชนชั้นเกี่ยวกับสิทธิอำนาจที่แตกต่างกันทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกและความรู้สึกต่อต้านของสามัญชนที่มีต่อเจ้านาย จนนำไปสู่การอภิวัฒน์สยาม พ.ศ. 2475