สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จากนั้นจึงได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2325 โดยพระองค์โปรดเกล้าให้ย้ายราชธานีมาตั้งที่ตำบลบางกอก ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามกับพระราชวังเดิมของกรุงธนบุรี พระราชทานนามว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์"
ชื่อนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนสร้อยนามใหม่เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” และเนื่องจากเป็นราชธานีของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กรุงรัตนโกสินทร์”
ภาพที่ 1 แผนผังกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงกรุงต้น
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Rattanakosin_Kingdom_(1782%E2%80%931932)#/media/File:Bangkok_(early_Rattanakosin)_map.svg
ลักษณะทางการเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1-3 มีลักษณะของความร่วมมือและการประณีประนอมทางการเมือง โดยรัชกาลที่ 1 ทรงเคยรับราชการเป็นขุนนางมาก่อนและทรงมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับขุนนางตระกูลอื่น ๆ (โดยเฉพาะตระกูลบุนนาค ซึ่งต่อมาจะมีบทบาททางการเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นอย่างมาก ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5) จึงเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ลักษณะการเมืองในช่วงนี้ดำเนินไปภายใต้ลักษณะของความร่วมมือและการประณีประนอมทางการเมือง โดยอาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างพระราชวงศ์กับตระกูลขุนนาง
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กำกับราชการกรมสำคัญ ๆ ทำให้เกิดการร่วมมือกันในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง ดังที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ขึ้นครองราชย์ก็เป็นผลมาจากการประนีประนอมและการตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์กับกลุ่มขุนนาง
นอกจากนี้ การที่พระมหากษัตริย์ทรงดำเนินนโยบายผ่อนปรนให้พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางสามารถทำการค้าขายกับต่างประเทศได้ เปิดโอกาสให้แสวงหาทรัพย์สมบัติและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ นับเป็นการตอบแทนความดีความชอบอย่างหนึ่งและยังมีผลต่อการรักษาสัมพันธภาพกับกลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์และกลุ่มขุนนางไปด้วย
สมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 1-3 ก่อนทำสนธิสัญญาเบาว์ริง สภาพทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในรูปแบบของเศรษฐกิจแบบยังชีพ ราษฎรมีอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก พืชผลสำคัญ คือ ข้าว นอกจากนั้นก็มีฝ้าย ยาสูบ อ้อย ผลไม้ มีหัตถกรรมและอุตสาหกรรมพื้นบ้านแบบเก่าที่ทำด้วยมือ เช่น ทอผ้า ทำเครื่องปั้นดินเผา ทำน้ำตาล กระเบื้อง อิฐ เมื่อได้ผลิตผลก็นำมาแลกเปลี่ยนกัน
ส่วนรายได้ของรัฐที่จะต้องนำมาใช้จ่ายในการป้องกันและทำนุบำรุงประเทศได้มาจากหลายแหล่งทั้งจากภาษีอากร เงินค่าราชการจากไพร่ เงินผูกปี้ข้อมือจีน รวมทั้งผลกำไรจากการค้ากับต่างประเทศ ในสมัยรัชกาลที่ 2 รัฐประสบปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่ายจึงเพิ่มภาษีอากรอีกหลายอย่าง
ครั้งถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เศรษฐกิจของประเทศมีการเจริญเติบโตขึ้นและการขยายตัวทางการค้ากับต่างประเทศมีปริมาณสูงขึ้น รัฐจึงปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี โดยเพิ่มภาษีอีก 38 ชนิด ส่วนการเก็บภาษีก็ต่างจากสมัยอยุธยา กล่าวคือ นับจากสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนรับสัมปทานการจัดเก็บภาษีโดยวิธีประมูล ผู้ดำเนินการการจัดเก็บภาษีเรียกว่า เจ้าภาษีนายอากร
การค้ากับประเทศต่าง ๆ ในเอเชียโดยเฉพาะการค้ากับประเทศจีนหรือที่เรียกว่า การค้าสำเภา เจริญรุ่งเรืองที่สุดในสมัยนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ได้มาจากส่วยที่เรียกเก็บจากราษฎรซึ่งเป็นของพื้นเมืองที่หายาก เช่น ทองคำผง, เงิน, ป่าน, กระวาน, ครั่ง, ฝาง, ไม้แดง, งาช้าง, และนอระมาด
สินค้าเข้าส่วนใหญ่จะเป็นประเภทสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งบริโภคในกลุ่มชนชั้นสูง ได้แก่ ผ้าฝ้าย, ผ้าแพร, เครื่องลายคราม, ใบชา, การบูร, หีบประดับมุก, เครื่องแก้ว
ผู้ประกอบการค้าสำเภามีทั้งภาครัฐบาลซึ่งนำโดยพระมหากษัตริย์และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กรมท่า และภาคเอกชน มีเจ้านาย ขุนนาง และพ่อค้าชาวจีน ในสมัยรัชกาลที่ 3 การค้าสำเภาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในปลายรัชกาลการค้าทางเรือได้เปลี่ยนจากใช้เรือสำเภามาเป็นเรือกำปั่นเพราะเดินทางได้เร็วกว่า นอกจากนี้พระองค์ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกำปั่นขนาดใหญ่ขึ้นหลายลำ
โครงสร้างสังคมสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงนี้ยังคงเป็นแบบอยุธยาตอนปลาย ขณะเดียวกันสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มขยายตัวทำให้มีความต้องการผลผลิตเพื่อการค้าเพิ่มขึ้น ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างมากและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ความต้องการและความจำเป็นในการใช้แรงงานเกณฑ์จากไพร่ลดน้อยลงตามลำดับ ฐานะของไพร่จึงได้รับการปรับปรุง มีการเปลี่ยนเวลาเข้าเวรของไพร่เสียใหม่จากปีละ 6 เดือนในสมัยอยุธยา มาเป็นปีละ 4 เดือนในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ลดการทำงานลงอีกเป็นปีละ 3 เดือน สำหรับไพร่ที่ไม่ต้องการเข้าเวรในเวลาปกติสามารถเสียเงินแทนได้ เรียกว่า เงินค่าราชการ
ชนชาติอื่น ๆ นอกจากจีนก็มีมอญ ลาว พม่า ญวณ เขมร มลายู ซึ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาเนื่องจากสงครามบ้างและเข้ามาด้วยความสมัครใจบ้าง ต่างแยกย้ายประกอบอาชีพตามจังหวัดต่าง ๆ พวกเชลยเหล่านี้กลายเป็นไพร่ มีสังกัดมูลนายและถูกสักข้อมือเป็นไพร่เหมือนคนไทย นอกจากนี้ยังมีชาวยุโรปและอเมริกันซึ่งเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาด้วย แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ตามชนกลุ่มน้อยนี้กลับมีบทบาทมากในสังคมไทยในฐานะผู้บุกเบิกการพัฒนาประเทศด้านการแพทย์และการศึกษา
สมัยรัชกาลที่ 1 ศิลปกรรมต่าง ๆ ได้ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นในลักษณะที่พยายามสืบต่อประเพณีของสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยสังเกตได้จากการจำลองเอาแบบปราสาทราชมณเฑียร แผนผังสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อวัด ชื่อคลอง ชื่อตำบลและชื่อถนนต่าง ๆ มาสร้างใหม่เป็นส่วนใหญ่ อาทิ
วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ
สมัยรัชกาลที่ 2 ยังคงมีการสร้างงานศิลปกรรมแบบไทยประเพณีมาจากรัชกาลที่ 1 ศิลปกรรมที่สำคัญในสมัยนี้คือ ศีรษะหุ่นละครหลวงไทยฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 2 เรียกกันว่า พระยารักใหญ่กับพระยารักน้อย นอกจากนี้ยังมีบานประตูวิหารพระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราวรามที่สันนิษฐานว่ามีบางส่วนที่รัชกาลที่ 2 ทรงสลักด้วยพระองค์เอง
สมัยรัชกาลที่ 3 มีการเปลี่ยนแนวความคิดจากแบบไทยประเพณีไปสู่ความนิยมแบบอย่างศิลปะจีน ที่เรียกว่า "ศิลปะแบบพระราชนิยม" เพราะในสมัยนี้มีการติดต่อกับจีนเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการสั่งตุ๊กตาหินจากจีนหรือที่เรียกว่า อับเฉา มาประดับประดาตามสถานที่ต่างๆ ศิลปกรรมที่สำคัญคือ วัดราชโอรส ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างตั้งแต่เมื่อยังไม่ทรงขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกที่ได้เริ่มเทคนิควิธีแบบจีนมาใช้ ดังจะเห็นได้จากการประดับกระเบื้องเคลือบแบบจีน การใช้สัญลักษณ์มงคลจีนต่าง ๆ