จากตำนานและนิยายปรัมปราของล้านนา พบว่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา พื้นที่บริเวณภาคเหนือของไทยน่าจะมีอาณาจักรหรือแคว้นอยู่ 4 แห่ง ด้วยกัน คือ
ในที่นี้จะกล่าวถึงเมืองสำคัญเพียง 2 เมือง ได้แก่ โยนกเชียงแสนและหริภุญชัย
โยนกเชียงแสน หรือ โยนกชัยบุรีศรีช้างแสน เป็นอาณาจักรเก่าแก่ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกก ทางภาคเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันคือ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
ตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า พระเจ้าสิงหนวัติ เป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรโยนกเชียงแสน หรือโยนกนาคนครขึ้น ได้อพยพผู้คนเดินทางลงมาจากทางตอนใต้ของจีน และมาสร้างเมืองชื่อ นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร มีเมืองเชียงแสนเป็นราชธานี ต่อมากลายเป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ครอบคลุมดินแดนกว้างขวาง
จนถึงสมัยของพระเจ้าพังคราช ถูกพวก “กล๋อม” หรือ “ขอมดำ” รุกรานจนต้องอพยพราษฎรไปสร้างเมืองใหม่ที่เวียงสีทอง ริมฝั่งแม่น้ำแม่สาย ต่อมาเจ้าชายพรหมกุมาร ราชโอรสของพระเจ้าพังคราช ขับไล่ขอมได้สำเร็จ และยังได้แผ่อิทธิพลขยายอาณาเขตเข้าไปในดินแดนของขอม ยึดไปถึงเมืองเชลียง ล้านนา และล้านช้าง เจ้าชายพรหมกุมารจึงอัญเชิญเสด็จพระเจ้าพังคราชกลับไปครองเชียงแสนตามเดิม ส่วนพระองค์ได้พาผู้คนไปสร้างเมืองไชยปราการทางใต้ของเชียงแสน เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านป้องกันขอมกลับมาขึ้นไปรุกราน และให้พระเชษฐาคือ เจ้าทุกขิตราช เป็นพระอุปราช ปกครองเมือง นอกจากนั้นยังได้สร้างเมืองอื่น ๆ ขึ้นอีก เช่น ชัยนารายณ์ นครพางคำ
ตามตำนานสิงหนวัติยังกล่าวอีกว่าอาณาจักรโยนกเชียงแสน มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาจนสมัยพระองค์มหาไชยชนะ อาณาจักรจึงได้ถึงกาลล่มจม ดังปรากฏความว่า ได้มีชาวเมืองไปได้ปลาไหลเผือก พระองค์มหาไชยชนะ จึงให้ตัดเป็นท่อนแจกกันกินทั่วทั้งเวียง และในคืนนั้นก็ได้เกิด มีเหตุเสียงดังสนั่นเหมือนกับแผ่นดินไหวถึงสามครั้ง จนเป็นเหตุให้เมืองโยนกถล่มกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นน่าอัศจรรย์ที่ยังคงเหลือบ้านของหญิงหม้ายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อปลานั้นจากชาวเมืองไปบริโภค ในปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวจึงได้มีผู้สันนิษฐานไปต่าง ๆ กัน บ้างก็สันนิษฐานว่าคือทะเลสาบเชียงแสน (หนองบงกาย) ในเขตอำเภอเชียงแสน บ้างก็ว่าคือเวียงหนองล่ม ในเขตอำเภอแม่จัน
ภาพที่ 1 แผนภาพแสดงอาณาเขตอิทธิพลของอาณาจักรโยนกเชียงแสน
ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงตอนบน มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองลำพูน จากในบรรดา 4 แคว้น คือ โยนกเชียงแสน หิรัญนครเงินยางเชียงแสน พะเยา และหริภุญชัย พบว่าหริภุญชัยเป็นเพียงอาณาจักรเดียวที่มีการ ค้นพบหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่า เก่าแก่กว่าพุทธศตวรรษที่ 19 โดยมีพื้นฐานการรับอารยธรรมทวารวดีจากภาคกลางของประเทศไทย มาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 13 และเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 จนกระทั่งถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 พญามังรายจากแคว้นโยนกได้เข้าโจมตี และยึดครองแคว้นหริภุญชัยได้ ภายหลังได้ถูกผนวกเข้ากับอาณาจักรล้านนา
ความเป็นมาของอาณาจักรหริภุญชัยปรากฏในตำนานจามเทวีวงศ์ที่กล่าวถึงการเกิดอาณาจักรไว้ว่า วาสุเทพฤๅษีและสุกกทันตฤๅษี ร่วมกันสร้างเมืองหริภุญชัยขึ้นในปี พ.ศ. 1204 แล้วทูลเชิญพระนางจามเทวี ซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากอาณาจักรละโว้ ขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัย ในครั้งนั้นพระนางจามเทวีได้นำคณะพระภิกษุ นักปราชญ์ และช่างศิลปะต่าง ๆ จากละโว้ขึ้นไปด้วยเป็นจำนวนมาก พระนางได้ทำนุบำรุงและก่อสร้างบ้านเมือง ทำให้เมืองหริภุญชัยนั้นเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง
คำว่า “หริภุญชัย” เป็นชื่อเดิมที่ปรากฏในจารึกสมัยหริภุญชัย รวมทั้งยังปรากฏในจารึกและเอกสารยุคหลังในสมัยล้านนา ในจดหมายเหตุหมานซูของจีนสมัยราชวงศ์ถัง กล่าวถึงนครหริภุญชัยไว้ว่าเป็น “อาณาจักรของสมเด็จพระราชินีนาถ” (女王國 หนี่ว หวัง กว๋อ) ซึ่งอาจจะหมายถึงพระนางจามเทวีก็เป็นได้
จากตำนานจามเทวีวงศ์ แสดงให้เห็นว่า อาณาจักรหริภุญชัยได้มีความสัมพันธ์กับศิลปะทวารวดีในภาคกลางของประเทศไทย สอดคล้องกับหลักฐานทางด้านโบราณคดีและงานศิลปกรรมที่พบในสมัยหริภุญชัย เพราะได้พบว่างานศิลปกรรมในรุ่นแรก ๆ ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-16 มีการเชื่อมโยงกับเมืองละโว้ มีความเป็นไปได้ในเรื่องของการรับวัฒนธรรมทางศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาจากอาณาจักรทวารวดี
มีบทบาททางการเมืองคู่กับเวียงหริภุญชัยมาตลอดยุคสมัยของแคว้นหริภุญชัย โดยมีพระสุพรหมฤษีสร้างถวายพระเจ้าอนันตยศกุมารโอรสของพระนางจามเทวี ผังเมืองมีลักษณะคล้ายรูปหอยสังข์ กำแพงเมือง ชั้นบนเป็นอิฐ ชั้นล่างเป็นคันดิน 3 ชั้น สันนิษฐานว่ากำแพงอิฐที่สร้างบนกำแพงดินเป็นการต่อเติมในสมัยหลัง มีประตูเมืองสำคัญ ๆ ได้แก่ ประตูม้า ประตูผาป่อง ประตูท่านาง ประตูต้นผึ้ง ประตูป่อง ประตูนกกดและประตูตาล
ตั้งอยู่ที่บ้านท่ากาน ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ผังเวียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านตะวันตกติดกับแม่น้ำขาน ด้านตะวันออกติดกับแม่น้ำปิง มีร่องรอยการชักน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามาในคูเมือง กำแพงเมืองมีสองชั้น โดยมีคูเมืองคั่นกลาง พบร่องรอยวัฒนธรรมหริภุญชัย เช่น พระพิมพ์ดินเผา ชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรม และเครื่องปั้นดินเผา
ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ผังเวียงมะโนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีร่องรอยคูน้ำและคันดินเหลืออยู่บ้าง ด้านตะวันออกติดกับลำน้ำปิงเก่าซึ่งตื้นเขินแล้ว หลักฐานที่พบ เช่น จารึกแม่หินบดเวียงมะโนที่กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปอุทิศแด่บุคคลต่าง ๆ การพบเครื่องปั้นดินเผา
ตั้งอยู่ที่บ้านสองแคว ตำบลสองแคว อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ผังเวียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวเวียงอยู่ติดกับแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ใกล้กับบริเวณที่แม่น้ำขานไหลมาบรรจบแม่น้ำปิง ตัวเวียงยาวขนานไปตามลำน้ำปิงในแนวทิศเหนือ-ใต้ ลักษณะเดียวกับเวียงหริภุญชัย จากการสำรวจพบว่าแม่น้ำปิงกัดเซาะจนตัวเวียงหายไปครึ่งเมือง ยังคงเห็นร่องรอยแนวแม่น้ำเดิมอยู่อย่างชัดเจน แต่ปัจจุบันแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนเส้นทางไปไกลจากเวียงเถาะแล้ว หลักฐานสำคัญของเวียงเถาะคือ เศียรพระพุทธรูป ลำตัวพระพุทธรูปหิน ชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา
เวียงหอด หรือเวียงฮอด ตั้งอยู่ในเขตตำบลหางดง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองโบราณสมัยหริภุญชัยที่อยู่ใต้สุด ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านตะวันออกอยู่ใกล้แม่น้ำปิง สภาพคูน้ำคันดินถูกทำลายไปมาก ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีหลงเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย เป็นเศษเครื่องปั้นดินเผา ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่พบในเขตเมืองโบราณสมัยหริภุญชัย ในสมัยโบราณชุมชนหอดเป็นปากประตูสู่เมืองหริภุญชัย และดินแดนล้านนา เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมสู่พม่า อยุธยา และเมืองทางใต้
เมื่อพญามังรายตีเมืองลำพูนได้ในประมาณปี พ.ศ. 1835 ได้ให้ขุนฟ้าครองเมืองหริภุญชัย ส่วนพญามังรายไปสร้างเวียงกุมกาม หลังจากนั้นจึงสร้างเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนา โดยการผนวกแคว้นหริภุญชัยและแคว้นโยนกเข้าด้วยกัน