อาณาจักรฟูนันเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ อาจเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรเขมรยุคแรกที่เริ่มสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 6 ในเอกสารจีนโบราณเรียกอาณาจักรนี้ว่า อาณาจักรฟูนัน (ฟู่หนาน) โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า "พนม" ที่หมายถึง "ภูเขา" มีเมืองหลวงชื่อ วยาธปุระ
ภาพที่ 1 แผนภาพแสดงอาณาเขตอิทธิพลของอาณาจักรฟูนัน
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Funan#/media/File:FunanMap001.jpg
อาณาจักรฟูนันตามที่มีหลักฐานปรากฏได้กล่าวถึงเจ้าชายจากอินเดียชื่อ “โกณฑินยะ” (เอกสารจีน เรียกว่า "ฮวนเตียน") ได้ล่องเรือจากชมพูทวีปจนมาถึงดินแดนแห่งนี้ และสามารถยึดครองพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำโขงได้ ต่อมาได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองปกครองของชาวพื้นเมือง มีพระชายาชื่อ "นางหลิ่วเย้" ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าเมืองในราชวงศ์ของฟูนัน กษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาของอาณาจักรฟูนันได้มีการขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในยุคของฟันซีมัน (Fan Shihman)
ปัจจุบันนักวิชาการยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าศูนย์กลางของอาณาจักรฟูนันอยู่บริเวณใด โดยมีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ทางใต้ของกัมพูชาในปัจจุบันบริเวณดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เมืองออกแก้ว หรืออาจจะอยู่ที่เมืองบาพนมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา
อาณาจักรฟูนันมีลักษณะการปกครองที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย (จากการเดินทางเข้ามาของโกณฑินยะหรือฮวนเตียน) ตามคติเทวราชา ถือว่ากษัตริย์เป็นเทพเจ้า มีลักษณะการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีสถานภาพเป็นสมมุติเทพ มีอำนาจสูงสุดในการปกครองบัญชาการทางทหารและการพิพากษาคดี นำกฎหมายมนูธรรมศาสตร์ของชาวอินเดียมาใช้เป็นแบบอย่างกฎหมายของตน
จากเอกสารจีนได้บันทึกเกี่ยวกับชาวฟูนันไว้ว่า คนในอาณาจักรฟูนันเป็นคนฉลาดและเจ้าเล่ห์ ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยจะนุ่งผ้าโสร่งที่ทอจากทองและเงิน ส่วนคนที่มีฐานะยากจนจะนุ่งผ้าจากเศษผ้า นิยมสร้างบ้านด้วยไม้ กษัตริย์อยู่ภายในพระราชวังที่ทำเป็นอาคารซ้อนชั้น มีการสร้างบ้านอยู่กันเป็นชุมชนบนแม่น้ำ โดยบ้านจะตั้งอยู่บนเสาไม้ไผ่สูง เมื่อเวลากษัตริย์เดินทาง จะเสด็จโดยช้าง คนฟูนันนิยมดูไก่ชน และหมูชนเพื่อความบันเทิงชาวเมืองมีอาชีพกสิกรรม พืชที่ปลูกคือ ข้าว ฝ้าย และอ้อย รู้จักการชลประทาน ขุดคลอง เพื่อทดน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก รู้จักทำเครื่องปั้นดินเผา การแกะสลัก ทำเครื่องประดับ และเครื่องใช้ต่าง ๆ รู้จักการต่อเรือ ราษฎรต้องเสียภาษีให้รัฐเป็นทองคำ ไข่มุก และเครื่องหอม
อาณาจักรฟูนันมีรายได้มาจากการค้าทางเรือ สินค้าของฟูนันคือสินค้าพื้นเมือง ได้แก่ ทอง, เงิน, ทองแดง, ดีบุก, งาช้าง, ขนนก, และผ้าไหม คนในฟูนันมีการผลิตแหวนทอง สร้อยข้อมือทองและภาชนะใส่อาหารที่ทำจากเงิน
ราวปี พ.ศ. 786 ในสมัยของฟันซิมัน อาณาจักรฟูนันได้ส่งทูตติดต่อกับจีนเป็นครั้งแรก พร้อมกับส่งนักดนตรีและพืชผลในอาณาจักรเป็นเครื่องราชบรรณาการ โดยจีนในสมัยนั้นตรงกับสมัยที่จีนแบ่งเป็น 3 ก๊ก พวกก๊กทางใต้สุดแถบกวางตุ้งเห็นความสำคัญในการติดต่อค้าขายกับทางแหลมอินโดจีนจึงมีไมตรีอันดีต่อกันอยู่เสมอ และจีนเองก็ได้ส่งทูตมาฟูนันด้วยแต่เป็นการติดต่อทางการค้ากันเป็นส่วนใหญ่
ชาวฟูนันนับถือหลายศาสนาหลายนิกายมีทั้งพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทและมหายาน ศาสนาพราหมณ์ไศวนิกาย (บูชาพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด) และไวษณพนิกาย (บูชาพระนารายณ์หรือพระวิษณุเป็นเทพเจ้าสูงสุด) นอกจากนี้ยังมีการนับถือบูชาเทพเจ้าอีกหลายองค์ เช่น เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า เทพเจ้าแห่งฝน
มีการสันนิษฐานว่า อาณาจักรฟูนันมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือภูเขาว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และผู้ปกครองนั้นอยู่ในฐานะเจ้าแห่งภูเขา โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมาจากอินเดีย และมีการถ่ายทอดให้กับกลุ่มคนในหมู่เกาะอินโดนีเซีย รวมทั้งผู้ปกครองอาณาจักรอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้มีการจ้างพราหมณ์ไว้ในราชสำนัก ในฐานะที่พราหมณ์เป็นผู้รู้ความเป็นไปของสุริยจักรวาล เป็นผู้ที่สามารถตั้งศูนย์กลางของจักรวาล (สัญลักษณ์ของจักรวาลคือภูเขา) และประกอบพิธีกรรมการสถาปนากษัตริย์ให้อยู่ในฐานะเทวดาผู้สิงสถิตอยู่บนยอดเขา ทำให้ฐานะของกษัตริย์มีความมั่นคงทางการเมืองเพิ่มขึ้น
อาณาจักรฟูนันเริ่มเสื่อมลงจนตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรเจนละ (ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา) ในราวพุทธศตวรรษที่ 11 จากนั้นอาณาจักรฟูนันก็สูญหายไป เนื่องจากกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเจนละ
จากชื่อ “สุวรรณภูมิ” มีการสันนิษฐานว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ 3 นัยยะนี้ คือ
ในเอกสารโบราณที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา ชาดกพุทธศาสนาในอินเดีย และไปจนถึงนิทานเปอร์เซียในอิหร่าน ต่างแสดงให้เห็นถึงหลักฐานว่า นักเดินทางผจญภัยที่ได้เดินทางเข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขายสิ่งของเครื่องใช้ ต่างเรียกพื้นที่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่โบราณว่า สุวรรณภูมิ มาไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว โดยมีการกล่าวว่าสุวรรณภูมิตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอินเดีย จึงสันนิษฐานได้ว่า สุวรรณภูมิ คือ ส่วนที่เป็นแผ่นดิน ได้แก่ เมียนมาร์, ไทย, มาเลเซีย, กัมพูชา, ลาว, และเวียดนาม ส่วนสุวรรณทวีป ซึ่งเป็นเกาะ ได้แก่ เกาะชวา, เกาะสุมาตรา, หรืออินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
เรื่องราวสำคัญที่มีการกล่าวในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา ซึ่งเขียนขึ้นราวปี พ.ศ. 1043 โดยอ้างอิงมาจากคัมภีร์อรรถกถามหาวงศ์ที่ได้สูญหายไปแล้วนั้น ได้มีบันทึกไว้ว่าเมื่อราวปี พ.ศ. 236 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้แผ่อำนาจไปทั่วชมพูทวีป ตั้งเมืองหลวงที่กรุงปาฏลีบุตร ได้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 3 และส่งพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิไปประกาศพระพุทธศาสนาไปยังที่ต่าง ๆ รวมทั้งสุวรรณภูมิด้วย โดยพระเจ้าอโศกได้ส่งพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมินี้ และยังเชื่อว่าคงไม่ได้มีการรับการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของพระสงฆ์เพียงกลุ่มเดียวคงมีหลายกลุ่มหลายเหล่า หลายศาสนาและหลายนิกายที่ได้เดินทางเข้ามา เพราะสุวรรณภูมิน่าจะเป็นเป้าหมายของการค้าทางทะเลจุดหนึ่ง จึงทำให้มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีที่มีทั้งศาสนาพุทธนิกายหินยาน (เถรวาท) นิกายมหายาน (อาจาริยวาท) ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ปะปนกันอยู่ทั่วไป
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าศูนย์กลาง ความเจริญของอาณาจักรสุวรรณภูมิ อยู่ที่ตอนกลางของคาบสมุทรเนื่องจากเป็นจุดกึ่งกลางในการเชื่อมต่อ การเดินเรือ การขนถ่ายสินค้าระหว่างทะเลด้านทิศตะวันตกของคาบสมุทรกับทะเลด้านทิศตะวันออก เมืองท่าสำคัญด้านฝั่งตะวันตกได้แก่ พื้นที่บริเวณอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และขนถ่ายสินค้าไปมาสู่เมืองท่าสำคัญด้านทิศตะวันออก ได้แก่ พื้นที่อำเภอพุนพิน อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนอาจกล่าวได้ว่าดินแดนในบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นที่ตั้งของ “อาณาจักรสุวรรณภูมิยุคแรก” ซึ่งมี “เมืองพันพาน” เป็นเมืองหลวงของอาณาจักร