การที่สังคมจะเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ได้ สังคมนั้นต้องรู้จักการใช้ตัวอักษร โดยในดินแดนไทยช่วงยุคสำริดและยุคเหล็ก มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย จีน ดังที่พบสินค้าประเภทต่าง ๆ เช่น ลูกปัดแกะสลัก ลูกปัดแก้ว เครื่องแก้ว และวัตถุทำด้วยโลหะ ส่วนในบันทึกของจีนโบราณได้กล่าวถึงบ้านเมืองต่าง ๆ จำนวนมากในดินแดนไทย นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6-8 เป็นต้นมา
นักประวัติศาสตร์ไทย ได้ยอมรับว่าประเทศไทยสิ้นสุดสมัยก่อนประวัติศาสตร์และเริ่มต้นเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12 เนื่องจากพบ จารึก ที่เป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษร จารึกที่เก่าแก่ในประเทศไทย คือ
1. จารึกเยธัมมา ภาษาบาลี เนื้อหาที่ปรากฏแสดงถึงการนับพุทธศาสนาในบ้านเมืองสมัยทวารวดี ซึ่งส่วนใหญ่พบบริเวณภาคกลางของไทย
2. จารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันที่พบในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบอยู่หลายหลัก แสดงถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองกับอาณาจักรเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร
ลักษณะของพื้นที่ราบภาคกลางที่ต่อเนื่องถึงอ่าวไทย เป็นบริเวณที่ราบตะกอนน้ำพัดพาจนกลายเป็นแอ่งขนาดใหญ่ 2 แอ่ง ตอนเหนือ คือ "แอ่งพิษณุโลก" ตอนใต้ คือ "แอ่งเจ้าพระยา" ระหว่างแอ่งทั้งสอง มีสันนูนพาดผ่านนครสวรรค์ – ลพบุรี บริเวณพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางตอนล่าง หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นทางน้ำสายหลัก แล้วมีแม่น้ำสาขากระจายแยกตัวออกไหลลงสู่ที่ราบลุ่มตอนล่างทั้งสองฟาก
พื้นที่ราบลุ่มทั้งสองฝั่งแม่น้ำ เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการตั้งชุมชนเกษตรกรรมถาวร เพราะตามธรรมชาติมักเกิดแนวคันดินธรรมชาติสำหรับการตั้งบ้านเรือน สภาพดินตะกอนจากน้ำพัดพาทำให้เกิดเป็นดินเหนียวละเอียด อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุสารอาหาร และไม่ต้องกักเก็บน้ำมาก เหมาะแก่การเพราะปลูกข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้สภาพอากาศที่อยู่ในเขตมรสุมพัดผ่าน ทำให้ในช่วงฤดูมรสุมฝนตกเกือบทุกพื้นที่ จึงทำให้พบหลักฐานการเพาะปลูกและตั้งชุมชนในพื้นที่แถบนี้มาอย่างยาวนานก่อนพื้นที่อื่น ๆ ในภาคกลาง จนทำให้บริเวณนี้ได้ชื่อว่า ที่ราบลุ่มน้ำเก่า (old delta)
พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยมีลักษณะภูมิประเทศเป็นทิวเขาทอดยาวจากเหนือลงใต้ ระหว่างทิวเขามีที่ราบแคบ ๆ และมีแอ่งต่าง ๆ
พื้นที่แอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน จัดเป็นบริเวณที่มีพื้นที่ราบกว้างขวางมากกว่าบริเวณอื่น มีแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขาไหลผ่านหลายสาย ทำให้เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน โดยพบหลักฐานของซากพืชและซากสัตว์มาตั้งแต่ยุคหินเก่า ยุคหินกลาง ยุคหินใหม่ และยุคโลหะ ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ได้ปรากฏร่องรอยเมืองโบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นร่องรอยของอาณาจักรหริภุญชัย (พบในพื้นที่จังหวัดลำพูน) นอกจากนี้ยังพบการขยายตัวของวัฒนธรรมทวารวดีของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมายังดินแดนภาคเหนือ สำหรับภาคเหนือตอนล่างก็พบการตั้งถิ่นฐานตามลำน้ำต่าง ๆ พบหลักฐานของ โครงกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบรารณคดีหลายแห่ง เช่น แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ชุมชนหมู่บ้านที่เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระจายตัวอยู่ใน 2 ภูมิภาค โดยมีเทือกเขาภูพานแบ่ง 2 บริเวณนี้ออกจากกันเรียกว่า "แอ่งโคราช" และ "แอ่งสกลนคร"การตั้งชุมชนในแต่ละท้องถิ่นถูกกำหนดโดยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เป็นผลให้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกันในพื้นที่ใกล้หนองน้ำ ลำห้วย
ในแอ่งโคราชมีภูมิประเทศเป็นที่ราบขั้นบันไดและที่ราบลุ่ม เหมาะต่อการเพาะปลูกมากกว่าทางแอ่งสกลนคร ตลอดจนมีทรัพยากรสำคัญ เช่น เหล็กและเกลือ ซึ่งดึงดูดผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งต้องขยายไปตั้งหลักแหล่งในที่ใหม่ เช่น บริเวณลุ่มแม่น้ำลพบุรี–ป่าสัก
ซึ่งเห็นได้ว่าชุมชนที่ทำการถลุงเหล็กในถิ่นนี้มีวัฒนธรรมคล้ายกับบางชุมชนในแอ่งโคราช ชุมชนในแอ่งโคราช แบ่งตามวัฒนธรรมการใช้เครื่องปั้นดินเผาออกเป็น 3 ท้องถิ่น คือ
ลักษณะภูมิประเทศของภูมิภาคนี้ทางทิศใต้เป็นชายฝั่งทะเลยาวไปจรดประเทศกัมพูชา ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และตอนกลางเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงติดต่อเป็นแผ่นเดียวกันกับที่ราบกลางของประเทศไทย โดยมีแม่น้ำบางปะกงไหลผ่าน ด้านทิศเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจากที่ราบเหล่านี้ค่อย ๆ ลาดสูงขึ้นสู่ที่ดอนเนินเขาเตี้ย ๆ
ทางภาคตะวันออกของประเทศไทยนั้นพบว่ามีชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาจนเป็นเมืองทวารวดี จังหวัดชลบุรี มีเมืองสำคัญ ได้แก่ เมืองพระรถ, เมืองศรีพโล, และเมืองพญาแร่ เมืองเหล่านี้เป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางคมนาคม จึงสามารถติดต่อกับภายนอกทั้งทางบกและทางทะเล
จังหวัดสระแก้วมีร่องรอยอารยธรรมเขมรโบราณ พบทั้งปราสาทหิน แหล่งตัดหิน ทางกรมศิลปากรสำรวจพบปราสาทขอมในจังหวัดสระแก้วมากถึง 40 แห่ง ตั้งเรียงรายอยู่บนเส้นทางผ่านช่องเขา มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-18 แสดงถึงความสัมพันธ์ของผู้คนสองฟากฝั่งภูเขาที่ไร้เส้นเขตแดนในอดีต และตัวปราสาทยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนโบราณอีกด้วย เช่น ที่บ้านโคกมะกอก ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์, บ้านหนองผักแว่น ตำบลคลองยาง อำเภอตาพระยา เป็นต้น
ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นลักษณะของชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน คือ ด้านตะวันตกและด้านตะวันออก ปรากฏร่องรอยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อยู่ตามเชิงผา ใช้ชีวิตเร่ร่อน เก็บของป่า ล่าสัตว์
สภาพของชายฝั่งทะเลตะวันตก เว้าแหว่งและสูงชัน มีอ่าวกำบังลม มีที่ราบลุ่มลำน้ำน้อยและเป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ แม้อุดมไปด้วยแร่ธาตุ แต่ก็ไม่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในระยะเริ่มแรก ทำให้ในระยะแรกนั้นมีการพบหลักฐานการตั้งชุมชนทางฝั่งตะวันตกน้อยกว่าทางฝั่งตะวันออกซึ่งมีพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำกว้างขวางเหมาะแก่การตั้งชุมชนมากกว่า แต่สำหรับชายฝั่งทางตะวันตกกลับพบว่าเป็นพื้นที่เหมาะสำหรับเป็นแหล่งจอดเรือ พักถ่ายสินค้าไปทางตะวันออก และรับสินค้าจากทางตะวันออกมาลงเรือ เพื่อเดินทางต่อไปยังบ้านเมืองทางตะวันตก ดังเช่นบริเวณอ่าวพังงา ในเขตจังหวัดตรัง กระบี่ และพังงา เพราะเป็นบริเวณที่เหมาะสมในการจอดเรือ ทำให้มีการพบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย
สภาพของชายฝั่งทะเลตะวันออกประกอบด้วยสันทรายและแม่น้ำ พื้นที่นี้จึงเหมาะสำหรับคนมาตั้งถิ่นฐานถาวร โดยเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราช มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองท่าค้าขายชายฝั่งทะเล และอยู่ตรงทำเลที่เป็นเมืองท่ารับสินค้าขนข้ามคาบสมุทรจากฝั่งตะวันตก