ที่มาของวิชาประวัติศาสตร์ มาจากการที่มนุษย์มีความต้องการอยากรู้พฤติกรรมในอดีตของมนุษย์ โดยการศึกษาจากหลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์อื่น คือมีการเรียนรู้และสามัญสำนึกที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมและถ่ายทอดต่อ ๆ กัน จากรุ่นสู่รุ่น มนุษย์จึงผูกผันกับประวัติศาสตร์อย่างใกล้ชิด
คนทั่วไปมักจะมีความเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คือ “อดีต” แต่ในความเป็นจริงนั้น “อดีต” ก็คือ “เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมา” จะเป็นประวัติศาสตร์ได้ก็ต่อเมื่อนักประวัติศาสตร์ สนใจและเห็นความสำคัญ มีประโยชน์ต่อมนุษย์ หรืออาจกล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์ คือ การสืบสวนสอบสวนค้นคว้า เรื่องราวของมนุษย์ในอดีต และเรื่องราวนั้นมีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม
สิ่งสำคัญที่ได้จากประวัติศาสตร์คือ การฝึกฝนทักษะเพื่อให้มีพัฒนาการทางความคิดอย่างเป็นระบบ วิธีคิดอย่างเป็นระบบ วิธีคิดที่มีเหตุผลบนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐานที่ปรากฏ อย่างต่อเนื่องเป็นระบบ มีความคิดรอบคอบ คิดอย่างเที่ยงธรรมและเป็นกลาง เคารพในข้อเท็จจริงและเหตุผลเพื่อให้เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งมีความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัย
เนื่องจากวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มีขอบข่ายเนื้อหากว้าง ดังนั้นจึงมีนักประวัติศาสตร์ได้ให้นิยามความหมายไว้หลากหลายทัศนะ เช่น
สำหรับสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องราวของมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบันก็คือ “เวลา” (Time) อันเป็นปัจจัยสำคัญในประวัติศาสตร์ที่อยู่เหนือการควบคุม เพราะเวลาทำให้เหตุการณ์หนึ่ง ๆ หรือชุดของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตกลับคือมาไม่ได้ อดีตจึงเป็นตัวกำหนดปัจจุบัน หมายความว่า สภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่คือผลของอดีตนั่นเอง เนื่องจาก “เวลารุดหน้าไปโดยไม่ถอยหลังกลับ เปรียบเสมือนตัวเชื่อมระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และปัจจุบันกับอนาคตอีกด้วย ในแง่นี้ทำให้อดีตและปัจจุบันกลายเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของอนาคต” เพราะเหตุนี้มนุษย์จึงรู้สึกว่ามีตัวตน นั่นคือ มนุษย์มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องราวของมนุษย์ที่ขาดกาลเวลา บริบทและความต่อเนื่องของ “เวลา”
เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกับเนื้อหาของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ การที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์จึงไม่อาจกระทำได้โดยตัดตอนช่วงเวลาหนึ่งเวลาใดของประวัติศาสตร์ออกไปเป็นเอกเทศ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการจะเข้าใจเรื่องราวของคนไทย เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ไทยในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันยาวนาน นับจากจุดเริ่มต้นพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน หรือถ้าเราต้องการจะรู้ประวัติศาสตร์ไทยช่วงใดสมัยหนึ่งโดยเฉพาะ เราก็ยังจะต้องคำนึงถึงบริบทและความต่อเนื่องของ “เวลา” อยู่ดี กล่าวคือ ต้องรู้ว่าช่วงเวลาใดสมัยหนึ่งนั้นอยู่ในส่วนไหนของเวลาทั้งหมดในประวัติศาสตร์ หรือหมายถึงอยู่ในส่วนไหนของการแบ่งช่วงสมัยของประวัติศาสตร์ (Periodization) การแบ่งช่วงเวลาสมัยนี้เป็นเพียงการสมมติ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เป็นการแบ่งเพื่อให้เกิดภาพพจน์ของสิ่งต่าง ๆ ในเงื่อนไขของ “เวลา” ที่ถูกต้อง
ดังนั้น ประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องของการศึกษา “เกี่ยวกับมนุษย์ที่อยู่ในกาลเวลา” (of men in time) ไม่ใช่เรื่องของยุคสมัย หรือหัวข้อเรื่องประวัติศาสตร์ที่ผูกติดมากับยุคสมัยแต่อย่างใด