หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ไปอย่างมากเนื่องจากความต้องการของมนุษย์ ทำให้สภาพระบบนิเวศเสื่อมโทรมลงดังนั้นการอนุรักษ์ธรรมชาติให้ดำรงอยู่พร้อมไปกับการที่มนุษย์ยังคงสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนหลักการอนุรักษ์ มีดังนี้
การใช้ทรัพยากรแบบยั่งยืน คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้ซ้ำ (reused) และ ลดปริมาณการใช้ให้น้อยลง (reduced) รวมถึงการนำกลับมาใช้ใหม่โดยการแปรสภาพของที่ใช้แล้ว (recycle) เพื่อลดมลพิษที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมลง
การเก็บกัก คือ การเก็บทรัพยากรธรรมชาติที่อาจขาดแคลนไว้สำหรับอนาคตเนื่องจากในบางช่วงทรัพยากรบางอย่างมีมากเกินไปแต่ในบางช่วงก็ขาดแคลน ดังนั้นจำเป็นต้องเก็บบางส่วนไว้เพื่อใช้ในเวลาที่ขาดแคลน
การรักษาซ่อมแซม เมื่อทรัพยากรถูกทำลายจำเป็นต้องมีการซ่อมแซมบำรุงให้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การเพาะพันธุ์สัตว์ป่า
การฟื้นฟู เมื่อทรัพยากรเสื่อมโทรมลง จำเป็นต้องฟื้นฟูให้กลับมาใกล้เคียงเดิมเพื่อรักษาระบบนิเวศให้ยังคงสภาพอยู่ได้ เช่น การปลูกป่า หรือสร้างแนวปะการังเทียม เป็นต้น
การป้องกัน เป็นการป้องกันทรัพยากรที่ถูกทำลายหรือมีแนวโน้มถูกทำลายให้อยู่ในสภาพปกติหรือใกล้เคียงที่สุด โดยการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ หรือให้กฏหมายควบคุมทรัพยากรแต่ละชนิด เช่นการขึ้นทะเบียนสัตว์ป่าสงวน
สัตว์ป่าสงวน
สัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ 19 ชนิด ตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ระบุไว้ 15 ชนิดได้แก่
- นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae)
- แรดชวา (Rhinoceros sondaicus)
- กระซู่ (Dicerorhinus sumatrensis)
- กูปรีหรือโคไพร (Bos sauveli)
- ควายป่า (Bubalus bubalis)
- ละอง หรือละมั่ง (Rucervus eldi)
- สมัน หรือเนื้อสมัน (Rucervus schomburki)
- เลียงผา หรือเยือง หรือกูรำ หรือโครำ (Capricornis sumatraensis)
- กวางผาจีน (Naemorhedus griseus)
- นกแต้วแล้วท้องดำ (Pitta gurneyi)
- นกกระเรียนไทย (Grus antigone)
- แมวลายหินอ่อน (Pardofelis marmorata)
- สมเสร็จ (Tapirus indicus)
- เก้งหม้อ (Muntiacus feai)
- พะยูน หรือหมูน้ำ (Dugong dugon)
และในปี 2550 ได้มีการเพิ่มเติมสัตว์เข้าไปอีก 4 ชนิดได้แก่
- วาฬบรูด้า (Balaenoptera edeni)
- วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai)
- เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea)
- ฉลามวาฬ (Rhincodon typus)
สัตว์ป่าคุ้มครอง
สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายถึง สัตว์ป่าที่มีจำนวนน้อย มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกคุกคามหรือ สูญพันธุ์ได้ในอนาคต เพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ จำมีการเสนอรายชื่อสัตว์ป่าตามบัญชีแนบท้าย กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิด เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
ข้อห้ามข้อบังคับบางประการ จากพระราชบัญญัติที่ควรทราบ มีดังนี้
- สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าไม่ว่าชนิดใด ห้ามล่าสัตว์ เก็บรัง ครอบครองที่ดิน แผ้วถาง หรือเปลี่ยนแปลงแหล่งน้ำ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ห้ามเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในกรณีที่การล่าเป็นการล่าเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับโทษ - การห้ามการครอบครองและห้ามค้า มีผลไปถึงไข่และซากของสัตว์เหล่านั้นด้วย
- ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรังของสัตว์ ยกเว้นรังนกนกแอ่นกินรัง ซึ่งต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน
โดยปัจจุบันมีสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมดเมื่อแบ่งตามประเภทกลุ่มสัตว์ได้ดังนี้
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 201 ชนิด
- นก จำนวน 952 ชนิด
- สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 91 ชนิด
- สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 12 ชนิด
- แมลง จำนวน 20 ชนิด
- ปลา จำนวน 14 ชนิด
- สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ จำนวน 12 ชนิด