อาณาจักรพืช

ยอดวิว 0

แบบฝึกหัด

EASY

อาณาจักรพืช (ชุดที่ 1)

HARD

อาณาจักรพืช (ชุดที่ 2)

เนื้อหา

อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)


       ลักษณะเด่นของสิ่งมีชีวิตในกลุ่มนี้คือ สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับสิ่งมีชีวิตในกลุ่มโปรติส เนื่องจากพืชนั้นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสาหร่ายสีเขียวจากลักษณะการสังเคราะห์ด้วยแสง และ การที่ทั้งพืชและสาหร่ายสีเขียวนั้นมีเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์

พืชส่วนใหญ่อาศัยบนบก จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่ออาศัยบนบก เช่น

  • ปรับตัวในด้านโครงสร้างราก ให้ค้ำจุนส่วนลำต้นให้ยึดอยู่กับพื้นดินและส่งลำต้นสูงขึ้นไปในอากาศได้ เพื่อแผ่กิ่งก้าน ใบออกรับแสงอาทิตย์ 
  • การปรับตัวด้านองค์ประกอบเคมี ที่ต้องมีการสร้างสารเคมีป้องกันการสูญเสียน้ำ เช่น ลิกนิน และต้องมีการพัฒนาวิธีการสืบพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพบนบกโดยจะมีการสร้างเซลล์ขึ้นปกป้องเซลล์สืบพันธุ์

ลักษณะทั่วไปของพืช

       ผนังเซลล์ประกอบด้วยเซลลูโลส ใช้คลอโรฟิลด์ในการสังเคราะห์ด้วยแสง มีวงจรชีวิตแบบสลับระหว่างระยะ gametophyte และ sporophyte ซึ่งระยะทั้งสองนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่กลุ่มของพืช พืชถูกแบ่งกลุ่มออกเป็น  กลุ่มต่าง ๆ ตามลักษณะทางอนุกรมวิธาน ดังต่อไปนี้

กลุ่มพืชไม่มีท่อลำเลียง (nonvascular plant)

       เป็นพืชกลุ่มแรกที่วิวัฒนาการขึ้นมาบนบก ราว 475 ล้านปีก่อน พืชกลุ่มนี้จะมีระยะ gametophyte ยาวนานกว่า sporophyte อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่มีลำต้นแรกรากที่แท้จริง จึงมีโครงสร้างคล้ายรากเรียกว่า rhizoid ลำเลียงน้ำและอาหารด้วยการแพร่ผ่านเซลล์ การผสมพันธุ์ เซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ต้องว่ายน้ำไปหาเพศเมีย ดังนั้นพืชกลุ่มนี้จะอยู่เบียด ๆ กันเพื่อให้ผสมพันธุ์ได้ง่าย และต้น sporophyte จึงมักพบเจริญอยู่บนต้น gametophyte เพศเมีย ตัวอย่างเช่น มอส ลิเวอรเวิร์ด เมื่อแบ่งตามโครงสร้างและรูปร่างแบ่งได้สาม phylum คือ

  1. Phylum Hepatophyta ลักษณะ gametophyte เป็นแผ่นแบนบางเมื่อจะสร้างสปอร์จะสร้างก้านชูออกมา เช่น ลิเวอร์เวิร์ท
  2. Phylum Anthocerophyta ลักษณะต้น gametophyte เป็นแผ่นมีรอยหยัก มีคลอโรพลาสเพียง 1-2 อันต่อเซลล์ เมื่อสร้างสปอร์จะสร้างเป็นก้านชูขึ้นมา เช่น ฮอร์นเวิร์ท
  3. Phylum Bryophyta ลักษณะต้น gametophyte มีลักษณะคล้ายต้นพืชขนาดเล็ก มีโครงสร้างคล้ายใบเรียงตัวรอบแกนกลาง เมื่อสร้างสปอร์จะสร้างก้านชูอับสปอร์ขึ้นมา เช่น มอสชนิดต่าง ๆ

กลุ่มพืชที่มีท่อลำเลียงไร้เมล็ด (vascular and nonseeding plant)

       เป็นพืชกลุ่มแรกที่เกิดท่อลำเลียงขึ้น เกิดในช่วง 400 ล้านปีก่อน ประกอบด้วย เฟิร์นและพืชใกล้เคียงเฟิร์น พืชกลุ่มนี้มีราก ลำต้นและใบที่แท้จริง ระยะ gametophyte และ sporophyte แยกจากกัน หรือ อยู่ร่วมกันในเวลาสั้น ๆ โดย gametophyte จะมีอายุสั้นกว่า sporophyte

  1. Phylum Lycophyta เป็นพืชที่มีลำต้นใบที่แท้จริงใบขนาดเล็ก โดยสร้างอัปสปอร์บริเวณโคนใบส่วนปลายกิ่ง พืชในกลุ่มนี้เช่น Lycopodium เช่น สามร้อยยอด
    หางสิงห์ ตีนตุ๊กแก
    (selagenella) กระเทียมน้ำ (Isoetes)
  2. Phylum Pterophyta พืชในกลุ่มนี้ เช่น

    • หวายทะนอย (Psilotum sp.) ไม่มีราก ลำต้นสูงจากพื้นดินไม่มาก ใบเป็นใบเกล็ด แตกกิ่งทีละสอง อับสปอร์มี 3 - 5 พู เกิดตามซอกกิ่ง
    • หญ้าถอดปล้อง (Equisetum sp.) เป็นพืชกลุ่มที่มีราก ลำต้น ใบ ที่แท้จริง ลำต้นมีข้อปล้องชัดเจน ใบเป็นใบเกล็ดรอบข้อ อับสปอร์เกิดบริเวณปลายยอด เรียกว่า sporangiophore รอบแกนกลาง (strobilus)
    • เฟิร์น มีความหลากหลายสูงมาก ลักษณะร่วมคือ ใบอ่อนม้วนงอเข้าหาส่วนกลาง (circinate vernation) การสร้างสปอร์จะสร้างบริเวณด้านท้องใบ กลุ่มสปอร์เรียกว่า sorus อาจมี indusium หุ้มอยู่ sorus ประกอบจาก sporangium จำนวนมาก และภายใน sporangium จะมีการสร้าง spore จำนวนมากภายใน โดยวงจรชีวิตของเฟิร์นเป็นแบบสลับ สปอร์ที่ตกลงไปในที่ชื้นจะงอกเป็นต้น gametophyte เรียกว่า prothallus และมีการสร้าง egg และ sperm ที่คนละฝั่งของ prothallus ก่อนที่ sperm จะว่ายมาผสมแล้วงอกเป็นต้น sporophyte ต่อไป

พืชกลุ่มที่มีท่อลำเลียงและมีเมล็ด (vascular and seeding plant)

       เกิดขึ้นเมื่อราว 360 ล้านปีก่อน สันนิฐานว่าเมล็ดนั้น
วิวัฒนาการมาจากสปอร์ที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นและมีเนื้อเยื่อพิเศษมาหุ้มโอวูล
(integument) สปอร์ขนาดใหญ่นี้เจริญบนส่วน gametophyte ของพืชที่เป็น sporophyte และยังพัฒนาให้การปล่อยสปอร์นั้นไม่ต้องอาศัยน้ำเสมอไป สามารถอาศัยแรงลม หรือสัตว์เพื่อนำพาละอองเกสร (สปอร์) ไปผสมได้ พืชในกลุ่มนี้แยกได้ 2 กลุ่ม คือ

  1. พืชเมล็ดเปลือย (gymnosperm)

    ลักษณะร่วมกันคือ Ovule จะเจริญโดยติดบนแผ่นใบ ในพืชบางชนิดจะมีการสร้างแผ่นแข็งขึ้นมาเรียงซ้อนกันปกคลุมอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า cone โดยจะแยกเพศเป็นเพศผู้และเพศเมีย ปัจจุบันมี 4 phylum คือ
    • Phylum Cycadophyta เป็นพืชที่อยู่ในที่แห้งแล้งได้ดี เช่น ปรง ลำต้นหนา เจริญช้า ใบเป็นใบประกอบ ใบย่อยตอนที่เป็นใบอ่อนจะม้วนจากปลายเข้าหาก้านใบ โคนแยกเพศกัน

    • Phylum Ginkgophyta เป็นไม้ขนาดใหญ่ผลัดใบ โคนแยกเพศกัน ใบเดี่ยวปลายใบเว้าเข้าหากัน ปัจจุบันเหลือเพียงชนิดเดียวคือ Ginkgo biloba, Linn. หรือ แปะก๊วย

    • Phylum Coniferophyta เป็นกลุ่มของต้นสน ซึ่งมีความหลากหลายของชนิดมากที่สุดในกลุ่มของพืชเมล็ดเปลือย ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ โคนเพศผู้และเพศเมียเกิดบนต้นเดียวกัน แต่เกิดต่างเวลากัน ในไทยพบสน 2 ชนิด คือ สนสองใบและสนสามใบ

    • Phylum Gnetophyta เป็นกลุ่มพืชที่มีลักษณะคล้ายพืชดอกมากขึ้นคือ strobilus จะสร้างแยกเพศโดย strobilus แต่ละอันจะมีโครงสร้างคล้ายพืชดอกมากขึ้น ในไทยพบ 1 genus คือ Gnetum เช่น
      มะเมื่อย และต้นเหลียง

  2. พืชดอก (angeosperm)

    เป็นกลุ่มพืชที่มีความหลากหลายชนิดสูงที่สุดในอาณาจักรพืช ดอกของพืชในกลุ่มนี้เปลี่ยนแปลงมาจากใบและกิ่งที่หดสั้นลงเป็นโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ ovule ของพืชดอกจะเจริญในรังไข่ ทำให้ได้รับการปกป้องมากกว่าพืชเมล็ดเปลือย พืชดอกจัดอยุ่ใน phylum Anthophyta เกิดมาประมาณ 130 ล้านปีก่อน โดยพืชดอกมีจำนวนมากขึ้นในช่วงปลายยุค
    ครีเตเซียส

    ในอดีตพืชดอกสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ พืชใบเลี้ยงคู่และพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แต่จากการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา กายวิภาค และ DNA ทำให้เกิดการจัดกลุ่มใหม่ โดยกลุ่ม Amborella บัว โป๊ยกั๊ก จะมีลักษณะโบราณร่วมกันมากกว่าพืชใบเลี้ยงเดี่ยว จำปีจำปา และพืชใบเลี้ยงคู่