ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์และการใช้ลูกโลก
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์
คือ วัสดุ อุปกรณ์ ในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำมาใช้เป็นสื่อเพื่อการศึกษาการสำรวจ การเก็บรวบรวม การบันทึก การวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนใช้เป็นสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ลักษณะของข้อมูลภูมิศาสตร์
โดยทั่วไปแล้วข้อมูลภูมิศาสตร์สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
1. ข้อมูลด้านกายภาพ หมายถึง ข้อมูลภูมิศาสตร์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ
ลมฟ้าอากาศ พืชพรรณธรรมชาติ แหล่งน้ำ ฯลฯ
2. ข้อมูลด้านมนุษย์ หมายถึง ข้อมูลภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และการกิจกรรมของมนุษย์ เช่น จำนวนประชากร การตั้งถิ่นฐาน การค้าขาย การเกษตร
การใช้ที่ดิน เป็นต้น
เครื่องมือทางภูมิศาสตร์
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่กระจายตัวอยู่บนพื้นที่บนผิวโลก จะถูกรวบรวมและจัดจำแนกให้เป็นระบบ โดยใช้เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่ง ทำเล ที่ตั้ง การกระจาย ขอบเขต ความหนาแน่น และปรากฏการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์หาความสัมพันธ์
เชิงพื้นที่ต่อไป
ประเภทของเครื่องมือทางภูมิศาสตร์ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ประเภทให้ข้อมูล - แผนที่
- ลูกโลก คือ หุ่นจำลองของโลก สร้างด้วยวัสดุต่างๆ เช่น กระดาษ ยาง พลาสติก เพื่อใช้ในการศึกษาภูมิศาสตร์ ลูกโลกช่วยให้มองเห็นภาพรวมของโลก ต่างจากแผนที่ที่ให้ข้อมูลในเชิงพื้นราบ
- ระบบการรับรู้จากระยะไกล (remote sensing - RS) เป็นระบบสัมผัสระยะไกลจากเครื่องมือที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินหรือดาวเทียมโดยให้ข้อมูลรูปถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม
2. เครื่องมือทางภูมิศาสตร์ประเภทที่เป็นอุปกรณ์รวบรวมข้อมูล
งานสำรวจและทำแผนที่ |
- เข็มทิศ (Compass) เป็นอุปกรณ์บอกทิศ - เทปวัดระยะทาง (Measuring Tapes)ใช้สำหรับวัดระยะทางของพื้นที่ในงานภาคสนาม - กล้องระดับ (Telescope) เป็นอุปกรณ์วัดระดับความสูงจากพื้นดิน เพื่อสำรวจรังวัดพื้นที่ โดยจะช่วยกำหนดระดับแนวพื้นที่ที่ต้องการวัดได้ตามที่ต้องการ - เครื่องกำหนดตำแหน่งบนผิวโลก (Global Positioning System : GPS) เป็นระบบค้นหาตำแหน่ง หรือนำทางโดยอาศัยการระบุพิกัดตำแหน่งต่าง ๆ ที่อยู่บนผิวโลก จากสัญญาณดาวเทียม - กล้องสามมิติ (Stereoscope) เป็นเครื่องมือสำหรับมองภาพสามมิติจากภาพถ่ายทางอากาศ - แพลนิมิเตอร์ (Planimeter) เป็นเครื่องมือวัดพื้นที่ เป็นอุปกรณ์สำหรับหาพื้นที่ของรูปบนพื้นที่ระนาบ ซึ่งมีเส้นรอบรูปเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้ง - ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เป็นกระบวนการทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในเชิงพื้นที่ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ |
วัดอุณหภูมิและสภาพอากาศ
|
- เทอร์มอมิเตอร์ (Thermometer) เป็นเครื่องมือสำหรับวัดอุณหภูมิหรือวัดระดับความร้อน - เครื่องวัดระดับความสูง (Altimeter) เป็นเครื่องวัดที่แสดงระยะความสูงโดยเปรียบเทียบกับจุดใดจุดหนึ่งบนพื้นโลก เช่น จากระดับน้ำทะเล เป็นต้น - บารอมิเตอร์ (Barometer) เป็นเครื่องมือตรวจวัด ความดันบรรยากาศ - มาตรวัดลม (Anemometer) เป็นเครื่องมือวัดความเร็วของลม - ไซโครมิเตอร์ (Psychrometer) เป็นเครื่องวัดอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ แบบกระเปาะเปียกและกระเปาะแห้ง - ไฮโกรมิเตอร์ (Hygrometer) เป็นเครื่องมือวัด ความชื้นอากาศแบบต่อเนื่อง - เรนเกจ (Rain Gauge) เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน - ไซสโมมิเตอร์ (Seismometer) เป็นเครื่องตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหว โดยข้อมูลจะถูกบันทึกลงและแปรผลเพื่อให้ทราบถึงลักษณะของวัตถุที่คลื่นเคลื่อนผ่านมา โดยหน่วยของการวัด เรียกว่า ริกเตอร์ |
ลูกโลกจำลอง
ลูกโลกจำลอง สร้างเพื่อจำลองลักษณะของโลกและแสดงลักษณะต่าง ๆ ของผิวโลกบนพื้นที่ผิวทรงกลม เช่น ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ กระแสน้ำในมหาสมุทร ตลอดจนระบบกำหนดตำแหน่งบนผิวโลก ประกอบด้วย ลองจิจูด ละติจูด เส้นเมริเดียนแรก เส้นศูนย์สูตร รวมทั้งองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ผู้สร้างลูกโลกประสงค์จะแสดง เช่น ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงตั้งฉากกับพื้นโลก เส้นทางเดินเรือ เป็นต้น
รูปทรงของโลก
โลกของเรามีรูปร่างลักษณะเป็นรูปทรงรี (Oblate Ellipsoid) คือ มีลักษณะป่องตรงกลาง ขั้วเหนือ - ใต้ แบนเล็กน้อย แต่พื้นผิวโลกที่แท้จริงมีลักษณะขรุขระ สูง ต่ำ ไม่ราบเรียบ พื้นผิวโลกจะมีพื้นที่ประมาณ 509,450,00 ตารางกิโลเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ศูนย์สูตรยาว 12,756 กิโลเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางจากขั้วโลกเหนือถึงขั้วโลกใต้ 12,714 กิโลเมตร จะเห็นว่าระยะทางระหว่างแนวนอน (เส้นศูนย์สูตร) ยาวกว่าแนวตั้ง (ขั้วโลกเหนือ - ใต้)
โลกมีรูปร่างเป็นทรงกลมไม่สมบูรณ์โดยแป้นเล็กน้อยตามแนวแกนหมุนจากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง
เกิดเป็นลักษณะที่ป่องออกตรงกลางในแถบศูนย์สูตร
ข้อมูลบนผิวลูกโลก
ระบบอ้างอิงกำหนดพิกัดภูมิศาสตร์ การกำหนดตำแหน่งบนโลกโดยสมมุติให้เป็นทรงกลม ทำโดยกำหนดจากเส้นสมมุติที่ลากผ่านขั้วโลกเหนือไปยังขั้วโลกใต้ เรียกว่า เส้นเมริเดียน (Meridian) โดยเส้นเมริเดียนหลัก (Prime Meridian) ลากผ่านเมืองกรีนนิช (Greenwich) ประเทศอังกฤษ มีค่า 0 องศา
ลูกโลกจำลองแสดงเส้นเมริเดียน เส้นเมริเดียนหลัก และเส้นศูนย์สูตร
เส้นศูนย์สูตร (Equator) คือ เส้นวงกลมใหญ่ที่แบ่งโลกออกเป็น 2 ซีก ได้แก่ ซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้
เส้นละติจูด (Latitude) คือ เป็นค่าที่วัดเป็นมุมจากขั้วโลกเหนือหรือใต้ทำกับเส้นศูนย์สูตรเสมือนว่าผู้วัดอยู่ ณ ศูนย์กลางของโลก วัดเป็นองศา มีค่าตั้งแต่ 0 - 90 องศา เหนือ / ใต้
เส้นลองจิจูด (Longitude) เป็นค่าที่วัดจากมุมเมริเดียนหลัก โดยวัดเป็นองศาไปทางทิศตะวันออกหรือตะวันตก มีค่าตั้งแต่ 0 - 180 องศา ตะวันออก / ตะวันตก
ลูกโลกจำลองแสดงเส้นละติจูด และลองจิจูด
เขตเวลาโลก (World Time Zone)
ในปี ค.ศ.1884 ได้มีการประชุมนานาชาติที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อกำหนดเขตเวลาโลก ที่ประชุมได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่า เวลาที่เมริเดียนซึ่งผ่านเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษเป็นเมริเดียนหลัก (Prime Meridian) มีค่าลองจิจูด 0 องศา เวลาที่กรีนิชประเทศอังกฤษ เรียกว่า เวลา GMT (Greenwish Mean Time) ส่วนของประเทศต่าง ๆ ที่จะใช้ ให้นับจาก 0 องศา ไปทีละ 15 องศา หากเวลานับไป ทางทิศตะวันตก ให้มีเวลา ช้ากว่า GMT 1 ชั่วโมงในทุก ๆ 15 องศา และหากเวลานับไป ทางทิศตะวันออก ให้มีเวลา เร็วกว่า GMT 1 ชั่วโมงในทุก ๆ 15 องศา
ตัวอย่างการเปรียบเทียบเวลา
- ประเทศไทยตั้งอยู่บนเส้น ลองจิจูดที่ 105 องศา ทางตะวันออก จึงทำให้เวลาประเทศไทยเร็วกว่าเวลาที่กรีนิชประเทศอังกฤษ หรือ GMT +7 ชั่วโมง (105÷15 = 7)
- ประเทศเปรู ซึ่งตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาใต้ บนเส้นลองจิจูดที่ 75 องศา ทางตะวันตก จึงทำให้เวลาประเทศเปรูช้ากว่าเวลาที่กรีนิชประเทศอังกฤษ หรือ GMT -5 ชั่วโมง (75÷15 = 5)