ระดับของภาษา

ยอดวิว 0

แบบฝึกหัด

EASY

ระดับของภาษา (ชุดที่ ๑)

MEDIUM

ระดับของภาษา (ชุดที่ ๒)

HARD

ระดับของภาษา (ชุดที่ ๓)

เนื้อหา

ระดับของภาษา


ภาษาระดับพิธีการ


       ภาษาระดับนี้ใช้สื่อสารกันในที่ประชุมที่จัดขึ้นอย่างเป็นพิธีการ เช่น การเปิดประชุมรัฐสภา การกล่าวคำปราศรัย การกล่าวรายงานในพิธีมอบปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตร การกล่าวสุนทรพจน์

       ผู้ส่งสารระดับนี้มักเป็นบุคคลสำคัญหรือมีตำแหน่งสูง สัมพันธภาพระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารมีต่อกันอย่าง
เป็นทางการ ส่วนใหญ่ผู้ส่งสารเป็นผู้กล่าวฝ่ายเดียว ไม่มีการโต้ตอบจากผู้รับสาร

       สารจะมีลักษณะเป็นพิธีรีตอง เป็นทางการ มักใช้ถ้อยคำที่เลือกเฟ้นแล้วว่าไพเราะสละสลวย และมักจะ
นำเสนอด้วยวิธีอ่าน

ตัวอย่างภาษาระดับพิธีการ

“เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่
  ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ 
ปวงประชาชาวไทยขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัย 
ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อันทรงมหาพลานุภาพทั้งหลาย 
จงโปรดอภิบาลบันดาลดลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
จงเจริญด้วยมิ่งมหาศุภสวัสดิ์  เจริญพระชนมพรรษา
นับหมื่น ๆ ศตพรรษ  สถิตเสถียรเป็นร่มโพธิ์ทอง
ของปวงประชาชาวไทยตราบชั่วกัลปาวสาน”

ภาษาระดับทางการ


       ภาษาระดับนี้ใช้บรรยายหรืออธิบายอย่างเป็นทางการในที่ประชุมหรือใช้เขียนข้อความที่จะให้ปรากฏต่อสาธารณชนอย่างเป็นการเป็นงาน หนังสือที่ใช้ติดต่อกับทางราชการก็ใช้ภาษาระดับนี้

       ผู้ส่งสารและผู้รับสารมักเป็นบุคคลในวงการหรือวงอาชีพเดียวกัน สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นไปในด้านธุรกิจและการงาน

       สารมีลักษณะเจาะจงเกี่ยวกับธุรกิจหรือความรู้ความคิดที่สำคัญ หรือจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างผู้รับสารกับผู้ส่งสาร การใช้ถ้อยคำจึงมักตรงไปตรงมา อาจมีศัพท์เทคนิคหรือศัพท์วิชาการ

ตัวอย่างภาษาระดับทางการ

       “บทละครไทยเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของวรรณกรรมไทยเป็นวรรณกรรมที่ประพันธ์ขึ้นทั้งเพื่ออ่านและเพื่อแสดงรูปแบบที่นิยมกันมาแต่เดิมคือบทละครรำ ต่อมามีการปรับปรุงละครรำให้ทันสมัยขึ้นตามความนิยมแบบตะวันตก จึงมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ ละครพันทาง ละครดึกดำบรรพ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรับรูปแบบละครจากตะวันตกมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยและวัฒนธรรมไทย ทำให้การละครไทยพัฒนาขึ้นโดยมีกระบวนการแสดงที่แตกต่างไปจากละครไทยที่มีอยู่มาเป็นละครร้อง ละครพูด และละครสังคม”

ภาษาระดับกึ่งทางการ


       ภาษาระดับนี้ใช้ในการประชุมกลุ่ม การอภิปรายกลุ่ม การบรรยายในห้องเรียน ข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์ จึงลดความเป็นงานเป็นการลงบ้าง เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพอันใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร

       เนื้อหาของสารมักเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้ทั่วไป การแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ มักใช้ศัพท์วิชาการเท่าที่จำเป็น

ตัวอย่างภาษาระดับกึ่งทางการ


       “โลกของเด็กไม่ใช่โลกของผู้ใหญ่ และในทำนองเดียวกันโลกของผู้ใหญ่ก็ย่อมไม่ใช่โลกของเด็ก ในขณะที่ผู้ใหญ่ชอบรับประทานน้ำพริก เด็กก็ชอบรับประทานแกงจืด เด็กชอบไอศกรีม ผู้ใหญ่ชอบเหล้า ฉะนั้นดูไปบางทีโลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กก็ลอยห่างกันมาก หรืออีกนัยหนึ่งทางเดินแห่งความคิดของผู้ใหญ่กับของเด็กมักจะสวนทางกันอยู่เสมอ ถ้าผู้ใหญ่ไม่หมุนโลกของตนให้มาใกล้เคียงกับโลกของเด็กบ้าง บางทีเมื่อผู้ใหญ่หันกลับ โลกของเด็กก็ลอยไปไกลจนสุดไขว่คว้าเสียแล้ว”

ภาษาระดับไม่เป็นทางการ


       ภาษาระดับนี้มักใช้ในการสนทนาโต้ตอบระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลไม่เกิน ๔ – ๕ คน เช่น การเขียนจดหมายระหว่างเพื่อน การรายงานข่าว การเสนอบทความในหนังสือพิมพ์

       เนื้อหาของสารมักเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปในการดำเนินชีวิตประจำวัน กิจธุระต่าง ๆ การปรึกษาหารือกัน อาจมีถ้อยคำสำนวนเฉพาะกลุ่มหรือเข้าใจความหมายตรงกันได้เฉพาะในกลุ่มเท่านั้น

ตัวอย่างภาษาระดับไม่เป็นทางการ

       “ความตั้งใจในการเดินทางของผมครั้งนี้อยู่ที่การหาเส้นทางซอกแซกไปที่น้ำตกเหวอีอ่ำของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ความตั้งใจมิเป็นผลเมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่หน่วยพิทักษ์ป่าคลองเพกาปฏิเสธอย่างนิ่มนวลว่า ไม่สามารถอนุญาตให้ขึ้นไปปั่นจักรยานได้ เนื่องจากยังไม่มีนโยบายให้ปั่นจักรยานขึ้นไปเที่ยวน้ำตกเหวอีอ่ำ  ซึ่งคงจะต้องรอไปอีกพักใหญ่ ๆ เพราะอยู่ในช่วงสำรวจจัดทำเส้นทาง โดยทางอุทยานฯ มีแนวคิดที่จะเปิดให้จักรยานเสือภูเขาขึ้นไปอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ยังไม่ทราบ เป็นคำปฏิเสธที่นุ่มนวล เราจึงได้แต่น้อมรับโดยดี”

ภาษาระดับกันเอง


       ภาษาระดับนี้ใช้ในวงจำกัด เช่น ภาษาที่ใช้ในครอบครัว ใช้ระหว่างสามี ภรรยา บิดา มารดา บุตร เพื่อนสนิท  สถานที่ใช้มักเป็นที่ส่วนตัว เช่น ที่บ้าน ในห้องที่เป็นสัดส่วนของตนโดยเฉพาะ

       เนื้อหาของสารไม่มีขอบเขตจำกัด ภาษาระดับนี้มักใช้พูดจากัน ไม่นิยมบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ยกเว้นแต่ในนวนิยายหรือเรื่องสั้นบางตอนเพื่อทำให้สมจริง ถ้อยคำที่ใช้อาจมีคำคะนองหรือภาษาถิ่น

ตัวอย่างภาษาระดับกันเอง

       “มึงจะไปไหนไอ้มั่น กูสั่งให้ปล่อยมันไว้อย่างนั้น ไม่ต้องสนใจ กูอยากนั่งดูมันมองมันตายช้า ๆ เลือดไหลออกจนหมดตัว และหยุดหายใจในที่สุด ถึงจะสมกับความแค้นของกู”


ปัจจัยที่กำหนดระดับของภาษา


       ๑. โอกาสและสถานที่

       ๒. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

       ๓. ลักษณะของเนื้อหา

       ๔. สื่อที่ใช้