พยางค์และคำ
พยางค์
คือ เสียงที่เปล่งออกมาแต่ละครั้งจะมีความหมายหรือไม่มีก็ได้ พยางค์ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำ เช่น
มด ๑ พยางค์ ๑ คำ
ประวัติศาสตร์ ๔ พยางค์ ๑ คำ
อนุสาวรีย์ ๕ พยางค์ ๑ คำ
ส่วนประกอบของพยางค์
พยางค์ประกอบด้วยส่วนประกอบอย่างน้อย ๓ ส่วน คือ
- เสียงพยัญชนะ
- เสียงสระ
- เสียงวรรณยุกต์
การประกอบกันของพยางค์
เรียกว่า การประสมอักษร
มี ๔ แบบ ดังนี้
๑. การประสมสามส่วน คือ การประกอบเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ และเสียงวรรณยุกต์ เช่น
"ผ้า" แยกส่วนประกอบได้เป็น
- /ผ/ เสียงพยัญชนะต้น (เดี่ยว)
- เสียงสระ อา
- เสียงวรรณยุกต์ โท
๒. การประสมสี่ส่วน คือ การประกอบเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ เสียงพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) และเสียงวรรณยุกต์ เช่น
"เปลือก" แยกส่วนประกอบได้เป็น
- /ปล/ เสียงพยัญชนะต้น (ประสม)
- เสียงสระ เอือ
- เสียงพยัญชนะท้าย /ก/ แม่กก
- เสียงวรรณยุกต์ เอก
๓. การประสมสี่ส่วนพิเศษ คือ การประกอบเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ เสียงพยัญชนะท้าย ที่ไม่ออกเสียง (ตัวการันต์) และเสียงวรรณยุกต์ เช่น
"เล่ห์" แยกส่วนประกอบได้เป็น
- /ล/ เสียงพยัญชนะต้น (เดี่ยว)
- เสียงสระ เอ
- ห ตัวการันต์
- เสียงวรรณยุกต์ โท
๔. การประสมห้าส่วน คือ การประกอบเสียงพยัญชนะต้น เสียงสระ เสียงพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) เสียงพยัญชนะท้ายที่ไม่ออกเสียง (ตัวการันต์) และเสียงวรรณยุกต์ เช่น
"จันทร์" แยกส่วนประกอบได้เป็น
- /จ/ เสียงพยัญชนะต้น (เดี่ยว)
- เสียงสระ อะ
- /น/ เสียงพยัญชนะท้าย (แม่กน)
- ทร ตัวการันต์
- เสียงวรรณยุกต์ สามัญ
ประเภทของพยางค์
๑. พยางค์เปิด หมายถึง พยางค์ที่ไม่มีเสียงพยัญชนะท้าย (เสียงตัวสะกด) เช่น ปู ม้า เสีย เป็นต้น
๒. พยางค์ปิด หมายถึง พยางค์ที่มีเสียงพยัญชนะท้าย และพยางค์ที่ประสมสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เช่น รำ ไม่ มืด จะ ก็ เป็นต้น
คำ
คือ เสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย อาจเปล่งเสียงได้มากกว่า ๑ ครั้ง กล่าวคือ ๑ คำ อาจมีหลายพยางค์ เช่น
เจรจา ๑ คำ ๓ พยางค์
/เจน-ระ-จา/
โรงพยาบาล ๑ คำ ๔ พยางค์
/โรง-พะ-ยา-บาน/
อภิลักขิตสมัย ๑ คำ ๗ พยางค์
/อะ-พิ-ลัก-ขิด-ตะ-สะ-ไหม/
องค์ประกอบของคำ
๑. เสียง คำหนึ่งอาจมีเสียงเดียว (คำพยางค์เดียว) หรือหลายเสียงก็ได้ (คำหลายพยางค์)
๒. แบบสร้าง คำหนึ่งจะประกอบด้วยพยางค์ ซึ่งอาจมีส่วนประกอบ ๓ ส่วน ๔ ส่วน ๔ ส่วนพิเศษ หรือ ๕ ส่วนก็ได้
๓. ความหมาย คำเดียวกันอาจมีหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับหน้าที่และบริบท เช่น คำว่า “เทียม”
- เป็นคำกริยา หมายถึง เอาสัตว์ผูกกับยานพาหนะ
เช่น เทียมเกวียน เทียมแอก เป็นต้น - เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ทำให้เหมือนหรือคล้ายของจริง เช่น ดาวเทียม ฝนเทียม เป็นต้น
- เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เสมอกัน เท่ากัน
เช่น สูงเทียมเมฆ เป็นต้น
คำเป็น-คำตาย
คำเป็น
คือ พยางค์ที่ประสมด้วยสระเสียงยาวไม่มีตัวสะกด หรือพยางค์ที่สะกดด้วยมาตรากง กน กม เกย เกอว และพยางค์ที่ประสมด้วยสระอำ ใอ ไอ เอา จำง่าย ๆ ว่า
“นมยวง ยาว จำใจไปเมา”
๑. สะกดด้วยมาตราแม่ กน กม เกย เกอว กง
เช่น ขาว พอง เลย
๒. ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา
เช่น นา ซื้อ งู
๓. ประสมด้วยสระ อำ ใอ ไอ เอา
เช่น ไม้ เรา จำ
คำตาย
พยางค์ที่สะกดด้วยมาตรากก กด กบ และสระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด ยกเว้น อำ ใอ ไอ เอา จำง่าย ๆ ว่า
“กบฏอายุสั้น”
๑. สะกดด้วยมาตราแม่ กก กบ กด
เช่น ตาก ศพ โบสถ์
๒. ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา
เช่น ประจุ โต๊ะ ระเกะระกะ
คำครุ-คำลหุ
คำครุ (คำหนัก)
คือ คำที่มีตัวสะกดทุกคำ ถ้าไม่มีตัวสะกดต้องประสมสระเสียงยาว รวมถึง อำ ไอ ใอ เอา
เช่น เสื้อผ้า รำคาญ ปรัชญา
คำลหุ (คำเบา)
คือ คำที่ไม่มีตัวสะกดและประสมสระเสียงสั้นเท่านั้น
เช่น ระอุ กระทะ สติ รวมถึง "ก็ บ่ ธ ณ"