ธรรมชาติของภาษา
ธรรมชาติของภาษา คือ ลักษณะทั่วไปของภาษา ซึ่งมีอยู่หลายประการ ในที่นี้จะยกตัวอย่างธรรมชาติของภาษาที่สำคัญ ๓ ประการ ดังนี้
๑) ภาษาประกอบด้วยหน่วยในภาษา
หน่วยในภาษาที่เล็กที่สุด คือ หน่วยเสียง เช่น หน่วยเสียงพยัญชนะ หน่วยเสียงสระ ฯลฯ และจะประกอบกันเป็นหน่วยในภาษาที่ใหญ่ขึ้น ตามลำดับต่อไปนี้
- หน่วยเสียง
- พยางค์
- คำ
- คำที่ซับซ้อนขึ้น
- ประโยค
๒) เสียงของคำส่วนใหญ่ในภาษาไม่สัมพันธ์กับความหมาย
ความหมายของคำส่วนใหญ่เกิดจากการสมมติของเจ้าของภาษา เช่น
สมมติให้ “กล้วย” หมายถึง ผลไม้ชนิดหนึ่ง
และสมมติให้ “ปลา” หมายถึง สัตว์น้ำชนิดหนึ่ง
ซึ่งไม่มีส่วนใดของคำว่า กล้วย (ก ล -ัว ย) มีความหมายถึงผลไม้ชนิดหนึ่งนี้ และไม่มีส่วนใดของคำว่า ปลา (ป ล -า) มีความหมายถึงสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง= แสดงว่าเสียงที่ประกอบขึ้นเป็นคำส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความหมาย
แต่ก็มีบางเสียงที่สัมพันธ์กับความหมาย เช่น เสียงสระ เอ เมื่อประกอบขึ้นเป็นคำ คำนั้นมักมีความหมายไปในลักษณะที่ไม่ตรง เช่น เก เข เซ เป๋ โย้เย้ รวนเร เห ฯลฯ
๓) ภาษาใช้สื่อสารได้ตามเจตนาต่าง ๆ
ผู้ใช้ภาษาสามารถใช้ภาษาสื่อสารกันได้ตามเจตนาต่าง ๆ โดยมีเจตนาที่สำคัญ ๓ ประการ ดังนี้
๑. แจ้งให้ทราบ เช่น อยากไปเที่ยว
๒. ถามให้ตอบ เช่น ใครอยู่ที่นั่น
๓. บอกให้ทำ เช่น รีบเดินหน่อย
พลังของภาษา
พลังของภาษา คือ อำนาจของภาษา
- ภาษาสามารถสร้างสรรค์ (เช่น สร้างประโยชน์ให้สังคม) หรือทำลายสิ่งต่าง ๆ (เช่น สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น) ก็ได้
- ภาษามีอิทธิพลต่อความคิดและความรู้สึก เช่น คนไทยสมัยก่อนไม่นิยมปลูกต้น “ลั่นทม” ไว้ภายในบ้าน เพราะชื่อ “ลั่นทม” ให้ความรู้สึกระทม เป็นทุกข์ ไม่เป็นมงคล
- ภาษามีอิทธิพลทำให้พฤติกรรมของคนในสังคม
เปลี่ยนไป เช่น เมื่อเปลี่ยนชื่อต้น “ลั่นทม” เป็น “ลีลาวดี” ทำให้คนไทยนิยมปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ภายในบ้าน เพราะเห็นว่า “ลีลาวดี” เป็นชื่อที่มีความหมายดีและเป็นมงคล
- ภาษาโน้มน้าวความคิดและจิตใจของผู้อื่นให้คล้อยตามได้