การสร้างคำในภาษาไทย

ยอดวิว 0

แบบฝึกหัด

EASY

การสร้างคำในภาษาไทย (ชุดที่ ๑)

MEDIUM

การสร้างคำในภาษาไทย (ชุดที่ ๒)

HARD

การสร้างคำในภาษาไทย (ชุดที่ ๓)

เนื้อหา

การสร้างคำในภาษาไทย

คำมูล 

คือ คำพื้นฐานที่มีอยู่ในภาษาไทยทั้งมีและไม่มีความหมาย โดยสังเกตได้ดังนี้

  • คำ ๑ พยางค์ทุก ๆ คำ จัดว่าเป็นคำมูล เช่น เดิน นอน เข้า นั่ง
  • คำตั้งแต่ ๒ พยางค์ขึ้นไป ต้องแยกทีละพยางค์ ถ้าหากแยกออกมาแล้วมีพยางค์ใดพยางค์หนึ่งไม่มีความหมาย จึงจัดว่าเป็นคำมูล
เช่น นาฬิกา แยกเป็น นา-ฬิ-กา คำว่า ฬิ ไม่มีความหมาย ดังนั้นจึงถือว่า นาฬิกา เป็นคำมูลที่มี ๓ พยางค์
โดยการสร้างคำนั้นเริ่มต้นจากการนำคำมูลตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไปมารวมกัน แล้วเกิดคำลักษณะใหม่ ๓ ลักษณะ ได้แก่ 

๑. คำประสม

คือ การนำคำมูลที่มีความหมายแตกต่างกัน ตั้งแต่ ๒ คำ ขึ้นไปมารวมกัน แล้วเกิดความหมายใหม่ที่มีเค้าความหมายเดิม ซึ่งคำที่นำมาประสมกันเป็นได้ทั้ง คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท และคำสันธาน ทั้งนี้เมื่อประสมแล้วก็อาจเป็นคำคนละชนิดกับคำที่นำมาประสมก็ได้ เช่น
ห่อหมก  (กริยา + กริยา)  = คำนาม หมายถึง อาหารชนิดหนึ่ง

ตัวอย่างคำประสม เช่น   

ลูกน้ำ (นาม + นาม) = คำนาม
        หมายถึง ลูกยุง

ใจถึง (นาม + บุพบท) = คำวิเศษณ์
       หมายถึง กล้าทำ กล้าพูด

เบี้ยล่าง (นาม + วิเศษณ์) = คำวิเศษณ์
        หมายถึง เป็นรอง เสียเปรียบ

หวานเย็น (วิเศษณ์ + วิเศษณ์) = 
       คำนาม หมายถึง ของกินที่ทำด้วยน้ำหวานหรือน้ำกะทิ แล้วทำให้แข็งด้วยความเย็น
       คำวิเศษณ์  หมายถึง รถไฟ รถประจำทางที่แล่นไปช้า ๆ

๒. คำซ้อน

คือ การนำคำมูลที่มีความหมายคล้ายกันหรือตรงข้ามกันมารวมกัน เพื่อให้มีความหมายในลักษณะต่าง ๆ คำมูลที่นำมาซ้อนกันมีหลากหลายลักษณะ ดังนี้

  • คำไทยภาคกลางซ้อนกับคำไทยภาคกลาง
    เช่น บ้านเรือน  หัวหู  หน้าตา
  • คำไทยภาคกลางซ้อนกับคำไทยภาษาถิ่น
    เช่น เสื่อสาด (กลาง-ใต้) พัดวี (กลาง-ใต้) อิดโรย (เหนือ-กลาง) 
  • คำไทยภาคกลางซ้อนกับคำจากภาษาอื่น
    เช่น  แบบฟอร์ม (ไทย-อังกฤษ) จิตใจ (บาลี-ไทย) โง่เขลา (ไทย-เขมร)
  • คำต่างประเทศซ้อนกันเอง
    เช่น สนุกสนาน (เขมร)  รูปภาพ (บาลี-สันสกฤต) 

คำซ้อนมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับคำที่นำมาซ้อนกัน ดังนี้

๒.๑ คำซ้อนเพื่อความหมาย

มี ๓ ลักษณะ ดังนี้

๑. การนำคำที่มีความหมายเหมือนกันมาซ้อนกัน เช่น ทรัพย์สิน  บ้านเรือน อ้วนพี  ใหญ่โต รูปภาพ

๒. การนำคำที่มีความหมายคล้ายกันมาซ้อนกัน เช่น เงินทอง  หน้าตา  หัวหู  แขนขา  ดินฟ้าอากาศ

๓. การนำคำที่มีความหมายตรงข้ามกันมาซ้อนกัน เช่น ผิดชอบชั่วดี   เป็นตายร้ายดี    

อนึ่ง คำซ้อนเพื่อความหมายดังที่กล่าวข้างต้น  อาจจะให้น้ำหนักความหมายของคำที่นำมาซ้อนแตกต่างกัน ดังนี้
  • เน้นความหมายของคำหน้า เช่น ความคิดความอ่าน  
  • เน้นความหมายที่คำหลัง เช่น ว่านอนสอนง่าย
  • เน้นความหมายที่คำหน้าและคำหลัง เช่น ผลหมากรากไม้
  • ความหมายทั้งสองคำเท่ากัน เช่น อำนาจวาสนา
  • ความหมายกว้างออก เช่น กินข้าวกินปลา (กินอาหาร)
  • ความหมายย้ายที่ เช่น เดือดเนื้อร้อนใจ (ความลำบาก)
  • ความหมายคงเดิม เช่น ใหญ่โตมโหฬาร

๒.๒ คำซ้อนเพื่อเสียง 

เป็นการนำคำที่มีสียงพยัญชนะต้นที่เป็นเสียงเดียวกันมาซ้อนกัน ซึ่งแต่ละเสียงอาจมีความหมายหรือไม่มีความหมายก็ได้ เช่น เอะอะ จุกจิก เกะกะ อึดอัด งอแง ฯลฯ

ข้อสังเกต:   
-คำซ้อนเพื่อเสียงบางคำสามารถเป็นคำซ้อนเพื่อความหมายได้ด้วย เช่น อึดอัด
-ข้อแตกต่างระหว่างคำซ้อนกับประสม คือ
     คำที่นำมาซ้อนกันจะต้องมีความหมายเป็นไปใน ๓ ลักษณะ คือ เหมือนกัน คล้ายกัน หรือตรงข้ามกันเท่านั้น 
     ส่วนคำประสมนั้นคำที่นำมารวมกันจะมีความหมายของแต่ละคำที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย

๓. คำซ้ำ

คือ คำที่เกิดจากการซ้ำเสียงคำเดียวกันตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป โดยต้องเป็นคำชนิดเดียวกัน ทำหน้าที่เดียวกัน ความหมายเดียวกันเท่านั้น อาจใช้ไม้ยมก (ๆ) แทนคำซ้ำ ซึ่งเมื่อนำมาซ้ำกันแล้วจะมีความหมายหลากหลายลักษณะ ดังนี้

  • เน้นความหมายของคำเดิม
    เช่น เสื้อตัวนี้สวย ๆ     
  • บอกความเป็นพหูพจน์
    เช่น เด็ก ๆ กำลังเล่น 
  • แยกเป็นส่วน ๆ
    เช่น  ใช้ปากกาให้เป็นด้าม ๆ ไปสิ
  • บอกความไม่แน่นอน
    เช่น คอยอยู่แถว ๆ ปากซอย
  • ลดน้ำหนักของคำเดิมลง
    เช่น ผมของเธอสีออกเทา ๆ นะ
  • ความหมายสลับกัน
    เช่น เดินเข้า ๆ ออก ๆ นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่กับบ้าน
  • บอกความต่อเนื่อง
    เช่น ฝนตกหยิม ๆ น้ำไหลจ๊อก ๆ
  • ความหมายเปลี่ยนจากคำเดิม (สำนวน)
    เช่น งู ๆ ปลา ๆ กล้วย ๆ

ทีมผู้จัดทำ