ความหมายของคำ
ความหมายของคำสามารถแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ดังนี้
๑. ความหมายเฉพาะของคำ
แบ่งได้ ๒ กลุ่ม ดังนี้
๑.๑ ความหมายตามตัว - ความหมายอุปมา
ความหมายตามตัว คือ ความหมายตรงตัว เช่น คืนนี้มีดาวเต็มท้องฟ้า
(ตามตัว – สิ่งที่เห็นเป็นดวงมีแสงสว่างในท้องฟ้าเวลามืด)ความหมายอุปมา คือ ความหมายที่แฝงการเปรียบเทียบ เช่น วันนี้มีการประกวดดาวมหาวิทยาลัย
(อุปมา – นักศึกษาหญิงที่สวยที่สุด)
ข้อสังเกต : การพิจารณาความหมายให้สอดคล้องกับบริบท
๑.๒ ความหมายนัยตรง - ความหมายนัยประหวัด
ความหมายนัยตรง คือ ความหมายที่ปรากฏตามพจนานุกรม รวมทั้งความหมายตามตัวและอุปมา เช่น “เสือ” มีความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ดังนี้
- น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในวงศ์ Felidae รูปร่างลักษณะคล้ายแมวแต่ตัวโตกว่ามาก เป็นสัตว์กินเนื้อ นิสัยค่อนข้างดุร้าย หากินเวลากลางคืนมีหลายชนิด เช่น เสือโคร่ง [Panthera tigris (Linn.)] เสือดาวหรือเสือดำ [P. pardus (Linn.)], โดยปริยายใช้เรียกคนเก่งคนดุร้าย
- น.ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์จิตรามี ๑ ดวง, ดาวต่อมนํ้า ดาวตาจระเข้ ดาวไต้ไฟ หรือดาวจิตระ
- น. เสือสุมาตรา (ถิ่น-ปักษ์ใต้)
- น. ชื่อแมลงพวกด้วงหลายชนิดหลายสกุล ในวงศ์ Cicindelidae ลำตัวยาว ๑.๕ - ๒ เซนติเมตร ตาโปนโตเห็นได้ชัด ปีก คู่หน้ามีสีและ ลวดลาย แตกต่างกันตามชนิด ลวดลายส่วนใหญ่มักเป็นจุด ขายาว เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว เป็นตัวห้ำกินแมลงตัวเล็ก ๆ
ที่พบตามพื้นทรายและตามธรรมชาติ เช่น ชนิด Cicindela sexpunctata Fabricius.
ความหมายนัยประหวัด คือ คำที่ไม่ได้แปลความหมายตรงตัว และคนในสังคมเข้าใจตรงกัน ซึ่งอาจเรียกว่าความหมายโดยนัย หรือความหมายอุปมาก็ได้ เช่น- วันนี้เธอแต่งตัวเปรี้ยวมากเลย (แต่งตัวทันสมัย)
- เขาเป็นคนหัวอ่อนจึงถูกหลอกได้ง่าย (ยอมทำตามโดยง่าย)
ข้อสังเกต: ความหมายนัยตรง = ตามตัว และ อุปมา
ความหมายนัยประหวัด = อุปมา
๒. ความหมายเทียบเคียงคำอื่น
แบ่งได้ ๔ แบบ ดังนี้
๒.๑ ความหมายเหมือนกัน
มีการใช้ในหลายกรณี ดังนี้
- เพื่อความสุภาพ
เช่น หัว – ศีรษะ กิน – รับประทาน - เพื่อให้เป็นแบบแผน
เช่น ใบขับขี่ – ใบอนุญาตขับรถ - เพื่อใช้เฉพาะกลุ่ม
เช่น กิน – หม่ำ (ใช้เฉพาะเด็ก) - เพื่อใช้ในการแต่งคำประพันธ์
เช่น น้ำ – วารี นที ธาร
๒.๒ ความหมายคล้ายกันหรือร่วมกัน
เช่น เผยแพร่ – เผยแผ่ หมายถึง ทำให้กระจายออกไป แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ
เผยแพร่ – ใช้ได้ทั่วไป
เผยแผ่ – ใช้ในทางศาสนาเท่านั้น
๒.๓ ความหมายตรงข้ามกัน
เช่น อ้วน – ผอม
ดำ – ขาว
สุจริต – ทุจริต
เป็น – ตาย
ซ้าย – ขวา
มืด – สว่าง
๒.๔ ความหมายครอบคลุมคำอื่น
เช่น เครื่องเขียน – ดินสอ ยางลบ ปากกา
ญาติ – พ่อ แม่ ปู่ ย่า ลุง ป้า