ข้อบกพร่องในการใช้ภาษา

ยอดวิว 0

แบบฝึกหัด

EASY

ข้อบกพร่องในการใช้ภาษา (ชุดที่ ๑)

MEDIUM

ข้อบกพร่องในการใช้ภาษา (ชุดที่ ๒)

HARD

ข้อบกพร่องในการใช้ภาษา (ชุดที่ ๓)

เนื้อหา

ข้อบกพร่องในการใช้ภาษา

มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

๑. การใช้คำผิด

คือ การนำคำที่มีความหมายอย่างหนึ่งไปใช้อีกความหมายหนึ่ง ซึ่งแตกต่างไปจากการยอมรับเดิม เช่น

สมชายชอบรับประทานอาหารจุกจิก
ประโยคนี้ควรแก้เป็น "สมชายชอบรับประทานอาหารจุบจิบ" เพราะ จุกจิก ใช้กับอาการของคนที่จู้จี้ขี้บ่น ชอบยุ่งกับคนอื่น

๒. การใช้สำนวนผิด 

คือ การใช้สำนวนในความหมายที่ผิดไปจากข้อกำหนดของสังคม เช่น

ชายหนุ่มกับหญิงสาวคู่นั้น
ช่างเหมาะสมกันราวขนมผสมนํ้ายา
ประโยคนี้ใช้สํานวนผิด ควรแก้ไขเป็น "ชายหนุ่มกับหญิงสาวคู่นั้นช่างเหมาะสมกันราวกิ่งทองใบหยก"

 ๓. การเรียงคำหรือกลุ่มคำผิดลำดับ 

คือ การเรียงคำไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ เช่น

หนังสือบนชั้นเขาไม่เคยอ่านเลย
ประโยคนี้ควรเรียงลำดับคำให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ว่า "เขาไม่เคยอ่านหนังสือบนชั้นเลย"

๔. ประโยคไม่สมบูรณ์ 

คือ การใช้ประโยคที่ขาดส่วนสำคัญของประโยคหรือขาดคำบางคำไป ทำให้ความหมายของประโยคไม่ครบถ้วน เช่น

ร้านอาหารไทยย้อนยุคของคุณก้อยใกล้สยามพารากอน
ข้อความนี้เป็นเพียงกลุ่มคำนาม เพราะขาดภาคแสดง จึงต้องเพิ่มภาคแสดงว่า "ร้านอาหารไทยย้อนยุคของคุณก้อยใกล้สยามพารากอหรูหรามาก"

๕. การใช้คำกำกวม 

คือ การใช้ประโยคที่สามารถตีความได้หลายอย่าง ทำให้สื่อสารแล้วเข้าใจไม่ตรงกัน เช่น

นิดเป็นคนใช้แดง

ประโยคนี้ตีความได้ ๒ ความหมาย

๑. นิดเป็นคนรับใช้ของแดง

๒. นิดเป็นนายของแดง หรือมีฐานะเหนือกว่าแดง จึงใช้ให้แดงทํางานให้

ดังนั้นต้องเขียน ๒ ประโยคนี้โดยมีคําบุพบทให้ชัดเจน

ประโยคที่ถูกต้อง

๑. นิดเป็นคนใช้ของแดง หรือ ๒. นิดเป็นคนที่ใช้แดง

๖. การใช้คำภาษาต่างประเทศ 

คือ การนำคำยืมภาษาอังกฤษแบบ “ทับศัพท์” มาใช้ปะปนใน ภาษาไทยโดยไม่จำเป็น เช่น

สาวสร้างข่าวถูกสามีตัวเองแบล็คเมล์
ประโยคนี้ใช้คําภาษาต่างประเทศ แบล็คเมล์ ควรแก้ไขเป็น "สาวสร้างข่าวถูกสามีตัวเองหักหลัง"

 ๗. การใช้คำฟุ่มเฟือย 

คือ การใช้คำที่ไม่มีความหมายต่อประโยค สามารถตัดทิ้งได้ หรือการใช้คำที่มีความหมายซ้ำซ้อนกันอยู่ เช่น

บ้านเรือนของผู้คนมีอยู่เป็นระยะ ๆ

บ้านเรือน  หมายถึง  ที่อยู่ของมนุษย์  ไม่จำเป็นต้องเพิ่มส่วนขยายว่า "ของผู้คน" เข้ามาอีก

ในศาลเจ้ามีกระถางธูปและที่จุดเทียนสำหรับทำการสักการะพระพุทธรูป

(ประโยคนี้ใช้คำหรือกลุ่มคำเกินความจำเป็น ได้แก่ "ทำการ")


 ๘. การใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ 

คือ การใช้ประโยคภาษาไทยที่เลียนแบบวิธีการเรียบเรียงประโยคตามสำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น

ฉันพบตัวเองอยู่ในบ้านคนเดียว
ประโยคข้างต้นนี้ได้รับอิทธิพลจากสำนวนหรือรูปประโยคของภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เราสามารถเขียนประโยคใหม่ ให้มีลักษณะเป็นภาษาไทยได้ว่า  "ฉันอยู่ในบ้านคนเดียว"

เกร็ดความรู้
การใช้สำนวนต่างประเทศที่พบได้บ่อยในประโยคภาษาไทยอีกหนึ่งคำก็คือ การใช้คำว่า "ถูก+คำที่มีความหมายเชิงบวก" เช่น เขาถูกเลือกให้เป็นหัวหน้า ประโยคลักษณะเช่นนี้เป็นการสำนวนต่างประเทศ (Passive Voice) ไม่ใช่ลักษณะประโยคที่ถูกต้องในภาษาไทย โดยการใช้คำว่า ถูก ในภาษาไทยต้องตามด้วยความหมายเชิงลบ เช่น หล่อนถูกตำหนิ เด็กถูกตีเป็นต้น