การเขียนบรรณานุกรม

ยอดวิว 0

แบบฝึกหัด

EASY

การเขียนบรรณานุกรม (ชุดที่ 1)

HARD

การเขียนบรรณานุกรม (ชุดที่ 2)

เนื้อหา

การเขียนบรรณานุกรม

ในการเขียนบรรณานุกรมนั้นจำเป็นต้องทราบรูปแบบของการเขียนก่อนว่าต้องเขียนอะไร ไม่ต้องเขียนอะไร และต้องรู้ว่าในการเขียนนั้นมีการเรียงลำดับอย่างไร ซึ่งจะอธิบายดังต่อไปนี้

การเขียนบรรณานุกรมมีหลายประเภท คือ บรรณานุกรมหนังสือทั่วไป ปริญญานิพนธ์ วารสาร หนังสือแปล การสัมภาษณ์ หรือเว็บไซต์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเภทก็จะมีรูปแบบแตกต่างกัน


การเขียนบรรณานุกรมหนังสือทั่วไป

ประกอบด้วย

ชื่อผู้แต่ง.  ปีที่พิมพ์.  ชื่อหนังสือ.  เล่มหรือจำนวนเล่ม (ถ้ามี), ครั้งที่พิมพ์.  ชื่อชุดหนังสือและลำดับ (ถ้ามี).  สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์.

ตัวอย่างการเขียนบรรณานุกรม

ตัวอย่างที่ ๑

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.  ๒๕๔๓.  วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์และความเป็นอื่น.  พิมพ์ครั้งที่ ๒.  กรุงเทพฯ: วิภาษา.

ตัวอย่างที่ ๒

กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์.  ๒๕๔๗.  วัจนปฏิบัติศาสตร์.  กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เมื่อพิจารณาจากทั้ง ๒ ตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราสามารถสรุปรูปแบบการเขียนบรรณานุกรมได้ดังนี้

๑. ชื่อผู้แต่ง                                         

๒. ปีที่พิมพ์                

๓. ชื่อหนังสือ (ตัวหนาหรือขีดเส้นใต้)

๔. ครั้งที่พิมพ์ (หากพิมพ์ครั้งที่ ๑ ไม่ต้องใส่)

๕.สถานที่พิมพ์                      

๖. สำนักพิมพ์

เพิ่มเติม : ในส่วนของเล่มหรือจำนวนเล่ม และชื่อชุดหนังสือ ถ้าหากมีจะต้องใส่เพิ่มไปด้วย แต่ในข้อสอบ O-NET และวิชาสามัญ มักไม่นำมาออกข้อสอบ จะพบเพียง ๖ ส่วนประกอบหลัก ๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น


สรุปรูปแบบพร้อมส่วนประกอบได้ดังภาพต่อไปนี้



การเขียนเครื่องหมายในบรรณานุกรม มีวิธีเขียนง่าย ๆ คือ ส่วนของชื่อหนังสือจะต้องเป็นตัวหนาหรือขีดเส้นใต้ ต่อไปสังเกตว่าทุกส่วนจะมีจุลภาค (.) ลงท้ายเสมอ ยกเว้น! สถานที่พิมพ์จะตามด้วยเครื่องหมาย ทวิภาค (:) และตามด้วยชื่อสำนักพิมพ์ เมื่อขึ้นบรรทัดใหม่จะต้องเว้น ๗ ตัวอักษร แล้วเริ่มเขียนให้ตรงกันกับอักษรตัวที่ ๘


หลักเกณฑ์การเขียนบรรณานุกรม

๑.ชื่อผู้แต่งไม่ต้องใส่ยศ ตำแหน่ง หรือคำใด ๆ นำหน้าชื่อ เช่น ดร. พล.ต. รศ. แต่ถ้าเป็นคำแสดงเชื้อพระวงศ์หรือฐานันดรศักดิ์ เช่น ม.ร.ว. คุณหญิง พระยา ให้ใส่ชื่อผู้แต่ง จุลภาค (,) และตามด้วยตำแหน่งนั้น

ตัวอย่าง  

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ให้เขียนเป็น คึกฤทธิ์ ปราโมช, ม.ร.ว.
รศ.ดร.ณัฐพร พานโพธิ์ทอง ให้เขียนเป็น  ณัฐพร พานโพธิ์ทอง

๒.หากผู้แต่ง ๒-๓ คน ให้ลงชื่อผู้แต่งทั้งหมดตามลำดับที่ปรากฏในหนังสือ โดยแต่ละชื่อคั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) และชื่อคนสุดท้ายให้ใส่คำว่า “และ” เชื่อม

ตัวอย่าง          

ดนัยวัฒน์ กิตตินันท์, นที ปัญญาสุข, และสุวัฒน์ บุญชัย

๓.หากผู้แต่งมากกว่า 3 คน ให้ใส่ชื่อผู้แต่งคนแรกที่ปรากฏหน้าปกหนังสือ และใส่ “, และคนอื่น ๆ” แต่หากเป็นหมู่คณะ ให้ใส่ชื่อผู้แต่งคนแรก ตามด้วย “และคณะ”

ตัวอย่าง          

สุภัค มหาวรากร, และคนอื่น ๆ
อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ และคณะ 

๔. หากผู้แต่งเป็นสถาบันให้เขียนดังนี้
- หากเป็นหน่วยงานให้ใส่ชื่อหน่วยงาน จุลภาค (,) และตามด้วยประเภทของหน่วยงานนั้น เช่น

ศึกษาธิการ, กระทรวง

- ส่วนราชการระดับต่ำกว่ากรม หรือสถาบันการศึกษาให้เรียงจากหน่วยงานใหญ่ไปหน่วยงานย่อย เช่น

กรมสรรพากร.  กองนโยบายและแผน.
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  คณะมนุษยศาสตร์.

๕. หากพิมพ์ครั้งแรก (ครั้งที่ 1) ไม่ต้องใส่ในการเขียนบรรณานุกรม ให้ข้ามไปเขียนสถานที่พิมพ์เลย

๖. การเรียงลำดับบรรณานุกรมให้เรียงตามพจนานุกรม (สังเกตจากชื่อผู้แต่ง)

๗. ถ้าบรรณานุกรมมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้เรียงภาษาไทยขึ้นก่อนแล้วจึงตามด้วยภาษาอังกฤษ

๘. การระบุสำนักพิมพ์ จะระบุเฉพาะชื่อของสำนักพิมพ์อย่างเดียว ยกเว้นสำนักพิมพ์ของมหาวิทยาลัยให้ใส่คำว่า “สำนักพิมพ์” ลงไปด้วย เช่น

ห้างหุ้นส่วน อรุณการพิมพ์ ให้เขียนว่า อรุณการพิมพ์
สำนักพิมพ์เอมพันธ์ ให้เขียนว่า เอมพันธ์
สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เขียนว่า สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๙. การระบุโรงพิมพ์ ให้ระบุโรงพิมพ์และชื่อโรงพิมพ์ลงไปด้วย เช่น

โรงพิมพ์ปัญญาชน ให้เขียนว่า โรงพิมพ์ปัญญาชน

๑๐. หากไม่มีการระบุข้อมูลของสถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ หรือปีที่พิมพ์ ให้ระบุ ดังนี้
- ไม่ปรากฏชื่อสถานที่พิมพ์ ให้เขียนว่า “ม.ป.ท”
- ไม่ปรากฏชื่อสำนักพิมพ์ ให้เขียนว่า “ม.ป.พ”
- ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ ให้เขียนว่า “ม.ป.ป”