การเขียนสื่อสารในรูปแบบต่างๆ
การใช้เหตุผลและการแสดงทรรศนะ
การโน้มน้าวใจ
การโต้แย้ง
สำนวนไทย
ข้อบกพร่องในการใช้ภาษา
การเขียนบรรณานุกรม
คำที่มักเขียนผิด

โวหารในการเขียน

ยอดวิว 193.9k

แบบฝึกหัด

EASY

โวหารในการเขียน (ชุดที่ ๑)

MEDIUM

โวหารในการเขียน (ชุดที่ ๒)

HARD

โวหารในการเขียน (ชุดที่ ๓)

เนื้อหา

โวหาร

โวหาร หมายถึง ชั้นเชิงหรือสำนวนแต่งหนังสือ โวหารหลักในการเขียนมี ๓ ประเภท ได้แก่ อธิบายโวหาร บรรยายโวหาร และพรรณนาโวหาร

๑. อธิบายโวหาร

     การเขียนอธิบาย คือ การเขียนไขความหรือขยายความ เพื่อให้เข้าใจประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างแจ่มชัด ลักษณะของภาษาที่ใช้จะกระชับและตรงไปตรงมา การอธิบายมีหลายวิธี แต่อาจสรุปได้ ๕ วิธีสำคัญ ดังนี้

วิธีการอธิบาย

ตัวอย่าง

(๑)
การให้คำนิยาม

โพงพาง คือ เครื่องมือดักปลาชนิดหนึ่ง เป็นถุงตาข่ายรูปยาวรี ใช้ผูกกับเสาใหญ่ ๒ ต้น ที่ปักขวางลำนํ้า สำหรับจับปลาหรือกุ้งทุกขนาด

(๒)
การใช้ตัวอย่าง

นกส่วนใหญ่บินได้ แต่ก็มีนกหลายชนิดที่ไม่สามารถบินได้ เช่น นกกระจอกเทศ นกกีวี นกเพนกวิน ฯลฯ

(๓)
การอธิบายตามลำดับขั้น

การทำความสะอาดเครื่องทองเหลืองทำได้ง่าย ๆ เริ่มจากการนำเครื่องทองเหลืองมาล้างทำความสะอาดเศษฝุ่นก่อน จากนั้นนำไปแช่น้ำที่ผสมผงชูรส ทิ้งไว้ประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง แล้วนำขึ้นมาขัดคราบสนิมหรือคราบสกปรกออก

(๔)
การเปรียบเทียบ
ความเหมือน-ความต่าง

อวัยวะบริเวณส่วนหัวที่งอกยาวออกมาคล้ายเขา อย่างน้อย ๑ คู่ เป็นลักษณะเด่นของด้วงกว่างที่ต่างจากด้วงหรือแมลงปีกแข็งชนิดอื่น

(๕)
การอธิบายจากสาเหตุไปหาผลลัพธ์
หรือ
ผลลัพธ์ไปหา
สาเหตุ

ปรากฏการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำหรือกิจกรรมของมนุษย์


๒. บรรยายโวหาร

     การเขียนบรรยาย คือ การเขียนเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องสัมพันธ์กัน เพื่อให้ทราบเรื่องราวโดยรวมที่เกิดขึ้น เช่น ให้รู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ฯลฯ ลักษณะของภาษาที่ใช้จะกระชับและตรงไปตรงมา

ตัวอย่าง

"ภูเขาไฟฟูจิเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นมาหลายศตวรรษแล้ว แต่แรกภูเขานี้เป็นที่เคารพบูชาของชนพื้นเมืองเผ่าไอนุซึ่งปัจจุบันยังอยู่ตามหมู่เกาะฮอกไกโด ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่อยู่เหนือสุด"

๓. พรรณนาโวหาร

     การเขียนพรรณนา คือ การเขียนที่มุ่งให้รายละเอียดภาพอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้รับสารเห็นภาพและรู้สึกคล้อยตามได้ หรือเกิด “จินตภาพ”  ลักษณะของภาษาที่ใช้จะไม่กระชับหรือตรงไปตรงมา เพราะมีการให้รายละเอียดของภาพมาก โดยนิยมใช้กลวิธีทางภาษาที่เรียกว่า “วรรณศิลป์” เช่น การเล่นเสียง-คำ ภาพพจน์ต่าง ๆ ฯลฯ ในการให้รายละเอียดหรือขยายภาพ

เปรียบเทียบข้อความที่ใช้บรรยายโวหารและพรรณนาโวหาร 

ข้อความที่ใช้บรรยายโวหาร

ผึ้งหลายตัวกำลังบินตอมดอกบัวในสระ

ข้อความที่ใช้พรรณนาโวหาร

ผึ้งตัวใหญ่ตัวน้อยหลายตัวสุดที่จะคณานับกำลังบินขวักไขว่ไปมาตอมดอกบัวซึ่งกำลังเบ่งบานดุจหญิงสาววัยแรกแย้มในสระสีเขียวใสดั่งมรกต

โวหารชนิดอื่น ๆ

      นอกจากบรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และอธิบายโวหารที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว ยังมีโวหารอื่น ๆ ที่ใช้ในการเขียนเช่นกัน ได้แก่

อุปมาโวหาร

    อุปมาโวหาร คือ โวหารที่ใช้ในการเขียนเพื่อเปรียบเทียบสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง มักปรากฏคำว่า เหมือน ดุจ คล้าย เท่า ประหนึ่ง ปาน หรือคำอื่น ๆ ที่มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ มักใช้เสริมกับโวหารอื่น ๆ อย่าง บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร เทศนาโวหาร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง

รูปร่างงามหาตำหนิมิได้ ผมดำราวกับแมลงผึ้ง หน้าเปล่งปลั่งดั่งดวงจันทร์ เนตรประหนึ่งตากวาง จมูกแม้นดอกงา ฟันเทียบไข่มุก ริมฝีปากเพียงผลตำลึงสุก เสียงหวานปานนกโกกิลา ขาคือลำกล้วย

สาธกโวหาร

       สาธกโวหาร คือ โวหารที่มีการยกตัวอย่างเหตุการณ์ เรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ เช่น นิทาน ตำนาน ประสบการณ์ ขึ้นมาเปรียบเทียบ เพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริงหรือเหตุผลต่าง ๆ ให้มีความน่าเชื่อถือและหนักแน่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ผู้รับสารเข้าใจเนื้อหาสาระในสิ่งที่พูดหรือเขียนอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน มักประกอบอยู่ในเทศนาโวหาร หรืออธิบายโวหาร

ตัวอย่าง

ถ้าเธอไม่อยากอยู่กับฉันจริง ยินยอมทุกสิ่ง ให้เธอทิ้งไป ฉันขอแค่เพียงให้เวลาหน่อยได้ไหม อยากเล่านิทานให้ฟัง ชาวนาคนหนึ่งมีชีวิตลำพัง ไปเจองูเห่ากำลังใกล้ตายสงสาร จึงเก็บเอามาเลี้ยงโดยไม่รู้ สุดท้ายจะเป็นอย่างไร

เทศนาโวหาร

       เทศนาโวหาร คือ โวหารที่มีเรื่องราวหรือเนื้อหามุ่งเน้นไปที่การสั่งสอน โน้มน้าวใจให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตาม อยากปฏิบัติตาม โดยยกเหตุผล ตัวอย่าง หลักฐาน ข้อมูล ข้อเท็จจริง สุภาษิต คติธรรมและสัจธรรมต่าง ๆ มาแสดง มักแทรกอยู่ในโวหารชนิดอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น

เกิดเป็นหญิงให้รู้จักรักนวลสงวนตัว อย่าประพฤติตนออกนอกลู่นอกทาง ควรประพฤติและปฏิบัติตนตามครรลองในสิ่งที่ควรจะเป็น

ทีมผู้จัดทำ