อารยธรรมโลกตะวันออก: อารยธรรมจีน
ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีอารยธรรมยาวนานที่สุดประเทศหนึ่ง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้บ่งชี้ว่าอารยธรรมจีนมีอายุถึง 5,000 ปี และมีการสืบทอดอารยธรรมได้ยาวนานที่สุด
อารยธรรมจีนได้เริ่มก่อตัวขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ 2 แห่ง คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำหวงโห (หวงเหอ) หรือแม่น้ำเหลืองทางตอนเหนือ และบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซี (ฉางเจียง) ทางตอนใต้ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชาวจีนได้มาตั้งถิ่นฐานตามลุ่มแม่น้ำทั้งสองสาย มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยหิน ทำอาวุธ ทำภาชนะดินเผารูปทรงต่างๆ ในแต่ละพื้นที่นั้นก็จะมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี อาทิ วัฒนธรรมหยางเชา และหลงซาน

ภาพที่ 1 คนโฑใส่น้ำศิลปะแบบวัฒนธรรมหยางเชา
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Yangshao_culture#/media/File:Large_water_bottle._Late_Yangshao-Early_Majiayao._Museum_Rietberg.jpg

ภาพที่ 2 โบราณวัตถุศิลปะแบบวัฒนธรรมหลงซาน
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Longshan_culture#/media/File:Longshan_eggshell_thin_cup._VandA.JPG
อารยธรรมจีนในสมัยประวัติศาสตร์ แบ่งเป็นราชวงศ์ต่าง ๆ ดังนี้
ในปัจุบัน นักวิชาการชาวจีนบางกลุ่มเชื่อว่า สังคมจีนเริ่มมีการปกครองแบบมีราชวงศ์เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ราชวงศ์แรกคือ ราชวงศ์เซี่ย โดยน่าจะมีอำนาจอยู่ในพื้นที่แถบตะวันตกของมณฑลเหอหนานและทิศใต้ของมณฑลซานซี อย่างไรก็ดี เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีตัวอักษร อีกทั้งหลักฐานเอกสารที่กล่าวถึงราชวงศ์เซี่ยล้วนเป็นหลักฐานชั้นรอง ที่ถูกทำขึ้นในสมัยหลัง ดังนั้น จึงมีนักวิชาการหลายท่านที่ไม่เชื่อว่าราชวงศ์เซี่ยมีจริง และจัดช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราชวงศ์ซาง เป็นยุคแรกที่พบการใช้ตัวอักษร โดยเป็นอักษรภาพแตกต่างกันจำนวนหลายพันตัวบนภาชนะสำริด รวมทั้งจารึกบนกระดองเต่าและกระดูกวัว เรื่องที่จารึกส่วนใหญ่เป็นการทำนายโชคชะตา จึงเรียกว่า “กระดูกเสี่ยงทาย” มีการสร้างวิหารเพื่ออุทิศถวายแด่บรรพบุรุษและบูชาเทพเจ้า ราชวงศ์ซางมีการย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง แต่ครั้งสุดท้ายได้ตั้งเมืองหลวงที่เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน จากหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงการมีแบบแผนทางการปกครองหรือเริ่มมีการปกครองนั้นเชื่อว่า ผู้ปกครองมาจากอาณัติแห่งสวรรค์ เปรียบกษัตริย์ดั่งโอรสของสวรรค์

ภาพที่ 3 ตัวอักษรภาพโบราณของจีน ที่จารึกลงบนกระดองเต่า
ที่มา: https://mgronline.com/china/detail/9570000120828
มีการค้นพบหลักฐานประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายสวยงาม เครื่องสำริด เครื่องประดับงาช้างและหยก พงศาวดารจีนซึ่งได้บรรยายถึงกษัตริย์ราชวงศ์ซางพระองค์ท้าย ๆ ที่ครองราชย์อยู่ที่เมืองอันหยางว่าเป็นผู้ปกครองที่ไม่ทรงใส่พระทัยบ้านเมืองและทรงแสวงหาเพียงความสำราญทำให้ราชวงศ์ซางสิ้นสุดลง ราชวงศ์โจว (1,045 - 256 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีปฐมกษัตริย์มาจากคนต่างเผ่า จึงมีการอ้างว่าตนได้รับอาณัติสวรรค์ให้มาปกครองจีนเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมในการขึ้นปกครองอาณาจักร
ในสมัยนี้ มีการปกครองโดยใช้ระบบเจ้าขุนมูลนายหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ที่ราชวงศ์โจวรับมาจากราชวงศ์ซาง ทำให้ผู้ปกครองท้องถิ่นมีอำนาจและมีอิทธิพลมากขึ้น ส่วนระบบกษัตริย์อ่อนแอลง ต่อมาได้ถูกชนเผ่าเร่ร่อนโจมตี ทำให้ราชวงศ์โจวเดิมที่ปกครองทางด้านทิศตะวันตกของจีนอ่อนแอลง และทำให้ราชวงศ์โจวจำเป็นต้องย้ายไปตั้งเมืองหลวงใหม่ทางตะวันออกที่เมืองลั่วหยางขึ้นมาแทน
ในช่วงท้ายของราชวงศ์โจว ผู้นำอาณาจักรต่าง ๆ ได้ต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่ เรียกช่วงนี้ว่า ยุครัฐศึกหรือยุคเลียดก๊ก ในที่สุดแคว้นจิ๋นก็สามารถครอบครองจีนได้ทั้งหมด ในสมัยนี้มีนักปราชญ์หรือนักคิดสำคัญหลายคน คือ ขงจื๊อ เล่าจื๊อและเม่งจื๊อ ราชวงศ์จิ๋น (ฉิน) (221 - 206 ปีก่อนคริสต์ศักราช) จิ๋นซีฮ่องเต้ (ฉินสื่อหวงตี้) ทรงประกาศพระองค์เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกและปกครองโดยรวบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองเสียนหยาง และบังคับใช้ระเบียบที่เข้มงวด ทำให้การปกครองมีประสิทธิภาพ ทรงสร้างถนนและกำแพงขนาดใหญ่ทางทิศเหนือและตะวันตกที่รู้จักกันในชื่อ กำแพงเมืองจีน เพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกชนเผ่าเร่ร่อน โดยเฉพาะชนเผ่าซงหนู มีการประกาศใช้ระบบเงินตรา มาตราชั่ง ตวง วัด กฎหมายและภาษาเขียนให้เป็นระบบเดียวกันหมด ทรงห้ามการ
วิพากษ์วิจารณ์ และปราบปรามผู้ต่อต้านด้วยการเผาตำราและฆ่าบัณฑิต

ภาพที่ 4 กำแพงเมืองจีน โดยสภาพที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วถูกต่อเติมขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Great_Wall_of_China#/media/File:The_Great_Wall_of_China_at_Jinshanling-edit.jpg
ในช่วงปลายราชวงศ์ เกิดการแย่งชิงอำนาจและลิวปังได้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นขึ้นปกครอง ราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง ค.ศ. 220) มีราชธานีอยู่ที่เมืองฉางอาน (Chang-an) เป็นสมัยที่มีความเฟื่องฟูทั้งด้านเกษตรกรรม ศิลปะ วิทยาการด้านต่างๆ และการค้าระหว่างประเทศ อาทิ เส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางบก ใช้ติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างจีนและดินแดนตะวันตก เช่น อินเดียและประเทศยุโรป สินค้าที่มีชื่อเสียงของจีน คือ ผ้าไหมและเครื่องปั้นดินเผา ความก้าวหน้าทางวิทยาการ เช่น ประดิษฐ์กระดาษ การพัฒนาหางเสือเรือ ริเริ่มการทำแผนที่ และการทำปฏิทินระบบสุริยคติ โดยค้นพบว่า 1 ปี มี 365.25 วัน
ในช่วงนี้จักรวรรดิฮั่นได้ปกครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาล ได้ครอบครองเวียดนามและเกาหลี เป็นผลให้ศาสนาและปรัชญาของจีนแผ่ขยายไปยังดินแดนต่าง ๆ และยังเป็นช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนาจากอินเดียเข้ามายังจีน พ่อค้าสามารถเดินทางไกลออกไปตามเส้นทางการค้า ขณะเดียวกันก็มีการติดต่อกับดินแดนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกล เช่น เปอร์เซีย และโรมัน เมื่อสิ้นราชวงศ์ฮั่น จีนถูกแบ่งออกเป็น 3 อาณาจักร เรียกสมัยนี้ว่า สมัยสามก๊ก มีการรบพุ่งกันหลายสิบปี จนกระทั่งมีการสถาปนาราชวงศ์จิ้น ต่อมาเกิดความแตกแยกอีกครั้ง จักรวรรดิจีนถูกแบ่งแยกออกเป็นอาณาจักรขนาดเล็กมากมาย และถูกรุกรานจากกลุ่มชนทางภาคเหนือ แผ่นดินจีนเริ่มเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 - 907) ผู้นำของราชวงศ์ถังสามารถขยายอาณาเขตของอาณาจักรออกไปได้กว้างขวางกว่าสมัยใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการฟื้นฟูอารยธรรมในสมัยนี้ ช่วงเวลานี้จีนมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านศิลปกรรม วัฒนธรรม ศาสนา จนได้รับการยกย่องว่าเป็นยุคทอง โดยเฉพาะในด้านศาสนาของยุคนี้ เนื่องด้วยพระเจ้าถังไท่จง ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และได้ปรากฏทรงส่งภิกษุเหี้ยนจัง (เสวียนจั้ง) ที่รู้จักกันในนาม พระถังซัมจั๋ง เดินทางปทำการอัญเชิญพระไตรปิฏกมาจากชมพูทวีป โดยใช้เส้นทางสายไหมในการเดินทาง ดังนั้น อารยธรรมจีนในสมัยราชวงศ์ถังจึงมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและมีลักาณะของศิลปะอินเดียผสมอยู่ทั้งงานประติมากรรม จิตรกรรม วรรณกรรม

ภาพที่ 5 ภาพวาดของพระภิกษุเสวียนจั้ง
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Xuanzang#/media/File:Xuanzang_w.jpg
ยิ่งไปกว่านั้น การขยายดินแดนจนประชิดพรหมแดนของอินเดีย เป็นการเปิดช่องทางให้ชาวต่างชาติจากตะวันออกกลางที่เดินทางเข้ามาในอินเดีย ได้เดินทางเข้ามาในเมืองฉางอานเป็นจำนวนมาก ทั้งพ่อค้า และพระ บุคคลเหล่านี้นับว่านำความเชื่อและวัฒนธรรมจากตะวันออกกลางเข้ามาเผยแพร่ในจีน เช่น ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ เป็นต้น จีนภายหลังจากสมัยราชวงศ์ถัง จักรวรรดิจีนเกิดการแตกแยก มีราชวงศ์ต่าง ๆ เข้ามา
ปกครองมากมาย ต่อมาก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) (ค.ศ. 960 - 1,279) ในช่วงนี้จีนมีผ้าไหมคุณภาพดี มีเครื่องประดับทำจากหยกและเครื่องปั้นดินเผาประเภท Porcelain ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาด หลังจากนั้น กุบไลข่าน ผู้นำชาวมองโกล ได้เข้าโจมตีราชวงศ์ซ่ง จนสามารถเข้ามาปกครองจีนและตั้งราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1,279 - 1,368) ขึ้น ในสมัยนี้จีนมีความรุ่งเรืองทางการค้าอีกครั้ง มีพวกพ่อค้าชาวต่างชาติ อาทิ ชาวอาหรับเดินทางเข้ามาค้าขายในจีน มีการส่งเสริมการค้าและมีการสำรวจเส้นทางการเดินเรือทะเล แม้กระนั้นอารยธรรมจีนก็ยังคงอยู่กับชาวจีนเช่นเดิม เนื่องจากชาวมองโกลมีอารยธรรมที่ด้อยกว่าชาวจีน ชาวมองโกลจึงได้ยอมรับอารยธรรมต่าง ๆ ของชาวจีนเข้ามา ต่อมาจีนถูกปกครองโดยราชวงศ์หมิง(ค.ศ. 1,368 - 1,644) และราชวงศ์ชิง(ค.ศ. 1,644 - 1,911) ซึ่งในสมัยราชวงศ์ชิงจีนเกิดความขัดแย้งกับชาวตะวันตกหลายครั้ง ประเทศในยุโรปได้เริ่มเข้ามาล่าอาณานิคมในจีน โดยเฉพาะอังกฤษ ที่ทำให้เกิดสงครามฝิ่นผลของสงครามจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทำให้ต้องสูญเสียเกาะฮ่องกงแก่อังกฤษ จากการเสื่อมอำนาจของจีนนี้เอง ส่งผลให้ราชวงศ์ชิงต้องจบลง โดยมีจักรพรรดิผู่อี๋ เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้าย และการปกครองของจีนก็มีการเปลี่ยนแปลง จนในปัจจุบันเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบคอมมิวนิสต์
อารยธรรมจีนที่สำคัญ ได้แก่
อารยธรรมจีนเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน และเจริญรุ่งเรืองมาก่อนชาวตะวันตกนับพันปี โดยได้แพร่ขยายไปทั่วเอเชียและยุโรป ดังนี้
ด้านศาสนาและปรัชญา
ศาสนาและปรัชญามีอิทธิพลต่อสังคมจีนและโลกตะวันออกอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการยึดมั่นในจารีต ประเพณี การเคารพในระบบอาวุโส การยึดมั่นในศีลธรรม จริยธรรม การยกย่องผู้มีความรู้ โดยมีนักปรัชญาจีนที่มีชื่อเสียง ได้แก่
- ขงจื๊อ (ขงจื่อ) เป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของจีน ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปกครองและนักบริหารที่มีความสามารถ หลักของขงจื๊อมุ่งเน้นในเรื่องการคิดอย่างมีเหตุผล คุณธรรมและจารีตประเพณี ขงจื้อได้ให้ความสำคัญในด้านระเบียบของสังคม ให้ทุกคนรู้จักหน้าที่ของตน ความสัมพันธ์ที่มีต่อกันในสังคม และการปฏิบัติตนตามสถานภาพ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน บิดากับบุตร แนวคิดของขงจื๊อมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม
- เหล่าจื๊อหรือเล่าจื๊อ เป็นผู้นำลัทธิเต๋า คำสั่งสอนเน้นการปฏิบัติตนตามธรรมชาติ ใช้ชีวิตสันโดษ เรียบง่าย ไม่เคร่งครัดต่อระเบียบประเพณีของสังคม แนวคิดของลัทธิเต๋ามีอิทธิพลต่อศิลปะจีน เช่น ภาพวาดและดนตรี
- พระพุทธศาสนานิกายมหายาน เป็นศาสนาที่ได้รับการนับถือในจีนอย่างมากและยังแผ่ขยายไปทั่วทวีปเอเชียด้วย
ด้านดาราศาสตร์
นักปราชญ์ชาวจีนสามารถประดิษฐ์ปฏิทินระบบสุริยคติได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ส่วนระบบจันทรคติและการนับวัน เดือน ปีของจีน ก็มีอิทธิพลต่อการนับวัน เดือน ปี ของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้านคณิตศาสตร์
จีนเป็นชาติแรกที่รู้จักระบบทศนิยมและได้ประดิษฐ์ลูกคิดเพื่อใช้ในการคำนวณระบบเลขฐานสิบได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังสามารถคำนวณหาพื้นที่รูปทรงเรขาคณิต คำนวณหาเส้นผ่านศูนย์กลางและความยาวของเส้นรอบวง รวมทั้งยังสามารถประดิษฐ์นาฬิกาแดดและการทำแผนที่
ด้านการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้
จีนเป็นชาติแรกที่ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่างๆ และนำมาใช้ เช่น การค้นพบดินปืน นำมาทำพลุ ดอกไม้ไฟ ต่อมาจึงนำไปใช้เป็นอาวุธและได้แพร่หลายไปในยุโรป การประดิษฐ์เข็มทิศ โดยครั้งแรกนำมาใช้ในพิธีกรรมและการทำนาย ภายหลังจึงนำมาใช้ในการเดินเรือและส่งต่อความรู้ไปยังชาวอาหรับและชาวยุโรปในที่สุด
นอกจากนี้จีนยังสามารถประดิษฐ์กระดาษ โดยนำเปลือกไม้ ใยป่าน เศษผ้า และตาข่ายดักปลาเก่าๆ มาเป็นวัตถุดิบ จนสามารถทำกระดาษที่เหมาะสำหรับเขียนหนังสือออกมาได้ทีละมากๆ ผู้คนจึงมีกระดาษใช้จดบันทึกเขียนข้อความกันได้อย่างแพร่หลาย ต่อมาได้พัฒนาระบบการพิมพ์เริ่มจากการประดิษฐ์แท่นพิมพ์ ทำให้จีนสามารถพิมพ์หนังสือส่งผลให้การศึกษาขยายไปอย่างกว้างขวาง
วิทยาการด้านอื่น ๆ ของจีนมีอิทธิพลต่อโลก เช่น ระบบการค้าแบบบรรณาการ การเลี้ยงไหมและการทอผ้า เครื่องกระเบื้องจีนได้รับความนิยมไปทั่วทั้งโลก