ต่อมาเกิดการช่วงชิงอำนาจระหว่างผู้ปกครอง จักรพรรดิต้องอาศัยกองกำลังและการสนับสนุนจากขุนนางให้มีอำนาจมั่นคง จักรพรรดิจึงพระราชทานที่ดินให้แก่ขุนนางหรือลอร์ด เพื่อให้ขุนนางจงรักภักดี และเป็นการตอบแทนความดีความชอบจากการทำสงคราม เป็นผลให้ขุนนางมีอำนาจครอบครองและปกครองเขตแดนต่าง ๆ
ในแต่ละแมนเนอร์จะมีคฤหาสน์หรือปราสาทซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของขุนนางและครอบครัว ปราสาทของขุนนางมีกำแพงล้อมรอบ เป็นศูนย์กลางของแมนเนอร์ ส่วนบริเวณรอบ ๆ เป็นท้องไร่ท้องนาและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ทำงานในที่ดินนั้น ซึ่งอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ในหมู่บ้านจะมีวัดสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โรงสี ร้านค้า โรงตีเหล็กและช่างผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ แต่ละแมนเนอร์จึงเป็นหน่วยเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยสินค้าจากภายนอก ยกเว้นเกลือ เหล็ก และน้ำมันดิบ
ความสัมพันธ์ระหว่างลอร์ดกับวัสซัล มีพิธีกรรมที่เรียกว่า การแสดงความจงรักภักดีหรือสวามิภักดิ์ (Act of Homage) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์กับผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ โดยลอร์ดมีอำนาจทั้งด้านการปกครอง และด้านตุลาการให้ความคุ้มครองเมื่อเกิดภัยสงคราม ส่วนวัสซัลต้องสาบานว่าจะจงรักภักดี รวมทั้งส่งเงินและกำลังทหารของตนเข้าสมทบในกองทัพของลอร์ดด้วย ระบบฟิวดัลดังกล่าวนี้เป็นรูปแบบการปกครอง เศรษฐกิจของสังคม ในอาณาจักรของชนเผ่าเยอรมันต่าง ๆ สืบต่อมา
ความสำคัญของระบบฟิลดัล
ความสำคัญของระบบฟิลดัล คือ ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายกับข้าที่ดินตามลำดับจากบนลงล่าง กษัตริย์จึงเป็นเจ้านายชั้นสูงสุดของระบบ ที่ดินทั่วราชอาณาจักรเป็นของกษัตริย์ แต่กษัตริย์ได้พระราชทานที่ดินเหล่านั้นแก่ขุนนางระดับสูง ขณะเดียวกันขุนนางระดับสูงเหล่านั้น ก็จะแบ่งที่ดินของตนให้ขุนนางระดับล่างดูแลอีกทอดหนึ่ง ขุนนางระดับสูงจึงเป็นวัสซัลของกษัตริย์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นลอร์ดของขุนนางระดับล่าง ระบบนี้จัดแบ่งที่ดินออกเป็นทอด ๆ จนถึงระดับล่างสุด คือ ข้าติดที่ดิน ซึ่งเป็นผลให้เกิดความจงรักภักดีระหว่างเจ้านายและข้าที่ดินโดยตรงต่อกัน กษัตริย์แม้เป็นเจ้านายในระดับบนสุดของระบบ แต่พระองค์ไม่มีกองทัพของตน พระองค์ต้องพึ่งพากองทัพของขุนนาง อีกทั้งพระองค์ยังควบคุมขุนนางไม่ได้ด้วย แต่ขณะเดียวกัน ขุนนางก็มีพันธะที่จะต้องส่งกองทัพเข้าช่วยเหลือในยามสงคราม และส่งภาษีตามกำหนด ขณะที่ฝ่ายกษัตริย์ก็จะต้องให้ความคุ้มครองแก่ขุนนาง เป็นต้น
ช่วงเวลาที่ระบบฟิลดัลรุ่งเรืองถึงขีดสุด
ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9 – 10 บรรดาชาวไวกิ้ง ซึ่งเป็นอนารยชนจากแถบสแกนดิเนเวีย ได้เข้ารุกรานยุโรป บรรดากษัตริย์ของอาณาจักรต่าง ๆ ไม่มีกำลังเข้มแข็งพอในการป้องกันดินแดนของตน ดังนั้น การปกป้องดินจึงตกเป็นหน้าที่ของเหล่าขุนนางท้องถิ่น หรือเจ้าของที่ดิน ซึ่งได้รวบรวมชาวบ้าน หรือพวกชายฉกรรจ์ในปกครองของตน เข้ามาฝึกอาวุธ และจัดตั้งกองทัพของขุนนางสำหรับป้องกันดินแดน ทำให้ขุนนางท้องถิ่นสามารถสร้างและสะสมอิทธิพลของตนได้มากขึ้น ด้านขุนนางเริ่มมีอำนาจต่อรองกับกษัตริย์มากขึ้นนับจากเหตุการณ์นี้ ในช่วงเวลานี้ระบบฟิวดัลได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่สำคัญของยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 11 – 13
ด้านการปกครอง
ระบบฟิวดัลเป็นรากฐานการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นของดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป นอกจากนี้เมื่อระบบฟิวดัลล่มสลาย กษัตริย์สามารถสถาปนาอำนาจทางการเมืองได้อย่างมั่นคง โดยฝ่ายกษัตริย์ได้อาศัยเงินทุนจากชนชั้นกลางในการสร้างกองทัพสมัยใหม่ แลกกับการให้ความคุ้มครอง ส่งผลให้กษัตริย์มีอำนาจและอิทธิพลมากขึ้น ทำให้เกิดการสร้างรัฐชาติและพัฒนาเป็นประเทศในเวลาต่อมา
ด้านสถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมในสมัยฟิวดัลสะท้อนอยู่ในปราสาทหรือคฤหาสน์ของลอร์ด ที่เป็นศูนย์กลางในแมนเนอร์ ซึ่งในระยะแรกรับอิทธิพลจากสิ่งก่อสร้างของโรมัน หรือศิลปะแบบโรมาเนสก์ (Romanesque Architecture) ที่ให้ความรู้สึกมั่นคง แข็งแกร่ง สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและป้องกันศัตรูที่มารุกรานได้
ภาพที่ 2 ตัวอย่างอารามที่ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Romanesque_architecture#/media/File:LessayAbbaye3.JPG
ต่อมาในราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ลักษณะของสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบโกธิค (Gothic Architecture) ที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนสถาปัตยกรรมทางศาสนานิยมสร้างโบสถ์ขนาดใหญ่ที่สง่างาม เช่น มหาวิหารโนเทรอดาม (Cathédrale Notre-Dame) ในฝรั่งเศส มหาวิหารเซวิญา (Catedral de Sevilla) ในสเปน
ภาพที่ 3 มหาวิหารแห่งเมืองโคโลญจ์ เยอรมนี สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมโกธิค
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Cologne_Cathedral#/media/File:K%C3%B6lner_Dom_von_Osten.jpg
ด้านเศรษฐกิจและสังคม
ในช่วงปลายระบบฟิวดัล อำนาจของขุนนางเสื่อมลง เศรษฐกิจมีการขยายตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เกิดชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าและพวกช่าง เรียกว่า "ชนชั้นกระฏุมพี" (Bourgeois) หมายถึง ชนชั้นที่เป็นอิสระ ที่ไม่อยู่ในระบบแมนเนอร์แล้ว ได้รวมตัวกันจัดตั้ง "สมาคมช่างฝีมือ" หรือ "สมาคมอาชีพ" (Guild) เพื่อพัฒนาแรงงานและคุณภาพสินค้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการ นอกจากนี้ที่ดินของขุนนางได้เปลี่ยนมาเป็นที่ดินของนายทุน ส่งผลให้การเกษตรกรรมเปลี่ยนแปลงการผลิตใหม่มาเป็นการส่งออกตลาดแทน สำหรับมรดกทางวัฒนธรรมของระบบฟิวดัลที่มีต่อยุโรปคือตำแหน่งขุนนาง เช่น ดุ๊ก (Duke), เคานส์ (Count), บารอน (Baron), เอิร์ล (Earl)
ภาพที่ 4 โครงสร้างทางสังคมของระบบฟิวดัล
ที่มา: https://blog.eduzones.com/images/blog/manaw03/20140823-1408782538.0779-2.jpg
ภาพที่ 5 การจัดสรรที่ดินของระบบแมนเนอร์
ที่มา: https://www.tes.com/lessons/BkqTLeYzA_es9A/how-a-manor-was-self-sufficient