สงครามโลกครั้งที่ 2
สาเหตุและชนวนสงคราม
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง โดยภาพรวมแล้วสนธิสัญญาสงบศึกและสนธิสัญญาต่าง ๆ ที่ทำขึ้น ทำให้เกิดสันติภาพขึ้นบนโลกเป็นระยะเวลา 20 ปี แต่ความไม่เป็นธรรมของสนธิสัญญาแวร์ซายและสัญญาสันติภาพอื่น ๆ ที่มีต่อประเทศเยอรมนี และประเทศผู้แพ้สงคราม ที่ต้องสูญเสียดินแดนและผลประโยชน์ต่าง ๆ ประกอบกับความเติบโตของระบอบเผด็จการและลัทธิทหาร มีการสะสมอาวุธร้ายแรง และองค์การสันนิบาตชาติไม่สามารถทำหน้าที่รักษาสันติภาพได้สำเร็จ บรรดาชาติที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างก่อการเหิมเกริม อาทิ ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย เยอรมนีล้มเลิกสัญญาแวร์ซายส์และผนวกออสเตรีย อีกทั้งทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับอิตาลี ซึ่งต่อมาญี่ปุ่นเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรด้วย ต่อมาเยอรมนีได้เข้ายึดครองเชโกสโลวาเกีย นอกจากนี้ ชาวอเมริกันต่างเบื่อหน่ายสงคราม ใช้นโยบายอยู่โดดเดี่ยว ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่เข้าไปแทรกแซงกิจการประเทศอื่น ไม่ยอมให้ผู้อื่นแทรกแซกประเทศของตน รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน
ชนวนแห่งสงครามครั้งใหม่นี้มาจากการที่เยอรมนีบุกโปแลนด์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี และในเวลาต่อมาสหรัฐอเมริกาก็เริ่มเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังจากที่ฐานทัพเรือบนอ่าวเพิร์ล (Pearl Habor) ถูกกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นโจมตี ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941

ภาพที่ 1 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และบรรดานายทหารกำลังรับการเคารพจากแถวทหาร ในระหว่างการบุกโปแลนด์ของกองทัพเยอรมัน
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Invasion_of_Poland#/media/File:Bundesarchiv_Bild_183-S55480,_Polen,_Parade_vor_Adolf_Hitler.jpg

ภาพที่ 2 ภาพถ่ายทางอากาศฐานทัพเรือสหรัฐฯที่อ่าวเพิร์ล ขณะถูกฝูงบินญี่ปุ่นโจมตี
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Attack_on_Pearl_Harbor#/media/File:Attack_on_Pearl_Harbor_Japanese_planes_view.jpg
ในช่วงแรกของสงคราม เยอรมนีประสบผลสำเร็จในการรบและสามารถพิชิตประเทศและดินแดนต่าง ๆ ได้มากมาย อาทิ โปแลนด์ คาบสมุทรบอลข่าน ดินแดนแถบสแกนดิเนเวีย และสามารถพิชิตยุโรปตะวันตกได้ในที่สุด ส่วนหนึ่งเพราะยุทธวิธีการรบแบบสายฟ้าแลบ (Biltzkrieg Tactics - Lightning War Tactics) ซึ่งเป็นยุทธวิธีการรบรูปแบบใหม่ที่เน้นการในกำลังยานเกราะเข้าโจมตีและกวาดล้างข้าศึกด้วยความรวดเร็ว เด็ดขาด และรุนแรง เสริมด้วยการสนับสนุนจากทั้งปืนใหญ่และกำลังทางอากาศ

ภาพที่ 3 กองกำลังยานเกราะและยานยนต์ของเยอรมัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Blitzkrieg#/media/File:Bundesarchiv_Bild_101I-218-0504-36,_Russland-S%C3%BCd,_Panzer_III,_Sch%C3%BCtzenpanzer,_23.Pz.Div._(cropped).jpg
ผลจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศของเยอรมนี และการเข้ายึดครองยุโรป ส่งผลให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำเผด็จการของเยอรมนี กลายเป็นบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองสูงมากในยุโรปและของโลกในช่วงเวลานั้น ด้านพันธมิตรอักษะ เช่น อิตาลีได้เข้าช่วยเหลือเยอรมนีในการยึดครองกรีซและยูโกสลาเวีย รวมถึงเข้าร่วมสมรภูมิในแอฟริกาเหนือ

ภาพที่ 4 อดอล์ฟ ฮิตเอลร์ ผู้นำสูงสุดของเยอรมนีในขณะนั้น
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/File:Hitler_portrait_crop.jpg
ในเวลาต่อมาเยอรมนีได้เปิดแนวรบด้านสหภาพโซเวียต เรียกว่า "ยุทธการบาร์บารอสซา" (Operation Barbarossa) แต่เนื่องด้วยความกว้างใหญ่ของดินแดนโซเวียต รวมถึงปัญหาด้านภูมิประเทศและภูมิศาสตร์ กอปรกับความไร้ประสิทธิภาพในการส่งกำลังบำรุงของเยอรมนี และการเข้าแทรกแซงการรบของฮิตเลอร์ ทำให้กองทัพแดง (Red Army) ของสหภาพโซเวียตสามารถตอบโต้ และชิงความได้เปรียบกลับมาได้ จนมีชัยชนะเหนือเยอรมนีในที่สุด
ในตอนต้นประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศวางตัวเป็นกลาง ถึงแม้ว่าจะไม่เห็นด้วยกับการรุกรานและเข้ายึดครองประเทศอื่น ๆ ของเยอรมนี แต่ต่อมาสหรัฐอเมริกาประกาศทำสงครามกับญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเข้าโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล และบุกยึดประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ประเทศในแอฟริกาใต้ และอีกหลายประเทศ ประกาศสงครามตามสหรัฐอเมริกา ส่วนในทวีปยุโรป ประเทศฮังการี โรมาเนียและบัลแกเรียได้เข้าร่วมสงครามกับเยอรมนีทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายที่ชัดเจน 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มอักษะ (Axis Powers) โดยมีประเทศเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น เป็นประเทศมหาอำนาจ
2. กลุ่มสัมพันธมิตร (Allied Powers) โดยมีประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศมหาอำนาจ
ช่วงท้ายของสงครามเยอรมนีได้สูญเสียยุทโธปกรณ์และแหล่งทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ทำให้ประสิทธิภาพในการทำสงครามลดลง ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตกลงความร่วมมือกับสหภาพโซเวียตในการบุกโจมตีเยอรมนี ยุทธการสำคัญที่สุดในสงครามครั้งนี้คือ "ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด" (Operation Overlord) ซึ่งเป็นการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของกองทัพสัมพันธมิตร ณ ชายหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เพื่อปลดปล่อยยุโรปตะวันตกจากเงื้อมมือของเยอรมนี ขณะที่สหภาพโซเวียตได้ทุ่มกำลังรุกเข้าตีจากทางตะวันออก จนในที่สุดเยอรมนีได้ประกาศยอมแพ้ต่อกองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรและสหภาพโซเวียตในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1945 ก่อนสงครามสิ้นสุดเพียงไม่กี่เดือน และการยอมแพ้ของเยอรมนีถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรปอีกด้วย

ภาพที่ 5 กองกำลังสัมพันธมิตร ณ หาดโอมาฮา ในปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด อีกทั้งปฏิบัติการครั้งนี้ ถือว่าเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Overlord#/media/File:NormandySupply_edit.jpg

ภาพที่ 6 จอมพลวิลเฮล์ม ไคเทล (Wilhelm Keitel) เป็นตัวแทนฝ่ายเยอรมนีในการลงนามยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 1945 เหตุการณ์ครั้งนี้นับว่าเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในภูมิภาคยุโรป
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/End_of_World_War_II_in_Europe#/media/File:Field_Marshall_Keitel_signs_German_surrender_terms_in_Berlin_8_May_1945_-_Restoration.jpg
กองทัพสหรัฐอเมริกาใช้ระเบิดปรมาณูเพื่อให้สงครามยุติโดยเร็วที่เมืองฮิโระชิมะและเมืองนางาซากิ จึงทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมจำนนต่อสงคราม สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงยุติ

ภาพที่ 7 เมฆรูปดอกเห็ดหลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูยังเมืองฮิโรชิม่า (ซ้าย) และนางาซากิ (ขวา) โดยเครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพสหรัฐฯ
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Atomic_bombings_of_Hiroshima_and_Nagasaki

ภาพที่ 8 ผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่นลงนามยอมแพ้ต่อผู้แทนของสหรัฐอเมริกาบนเรือประจัญบานมิสซูรี และนับเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Surrender_of_Japan#/media/File:Shigemitsu-signs-surrender.jpgผลของสงครามโลกครั้งที่ 2
1. ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ในเยอรมนี และอิตาลีสิ้นสุดลง
2. เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล เหล่าทหารและพลเรือนเสียชีวิต พิการทุพพลภาพ รวมถึงไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
3. สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตกลายเป็นมหาอำนาจ ที่ยิ่งใหญ่ของโลก ด้วยความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์การเมือง ทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวลุกลามกลายเป็น "สงครามเย็น" (Cold War) ในเวลาต่อมา
4. บรรดาประเทศอาณานิคมส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเอกราช เพราะ ประเทศเจ้าอาณานิคมไม่เข้มแข็งพอที่จะควบคุมบรรดาประเทศอาณานิคม ทำให้มีการก่อตั้งประเทศใหม่อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย
5. เกิดการรวมตัวกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีกลุ่มประเทศที่ชนะสงครามเป็นแกนนำ ในการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อผดุงสันติภาพ และแก้ไขเหตุความขัดแย้งทั่วโลก ในนามของ "สหประชาชาติ" (United Nations)