อารยธรรมโลกตะวันตก: อารยธรรมกรีก
อารยธรรมกรีกโบราณ กำเนิดขึ้นบริเวณหมู่เกาะในทะเลอีเจียน (Aegean Sea) ที่ราบชายฝั่งทะเลอีเจียนและบริเวณทางตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลี มีลักษณะเป็นอารยธรรมทางทะเล (sea civilization-thalassocrazy) สามารถแบ่งออกเป็น 3 สมัย คือ
- สมัยอารยธรรมอีเจียน มี 2 อารยธรรมที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ ได้แก่ อารยธรรมไมโนนและอารยธรรมไมซีเนียน
- สมัยอารายธรรมเฮลเลนิก
- สมัยอารยธรรมเฮลเลนิสติก
สมัยอารยธรรมอีเจียน (Aegean Period)
อารยธรรมไมโนน (Minoan Civilization) เป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นบนเกาะครีต ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทะเลอีเจียน มีเมืองนอสซุส (Knossus) เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครอง พลเมืองที่อาศัยอยู่เรียกว่า ชาวครีต เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือค้าขายกับดินแดนต่าง ๆ ผู้นำมีฐานะเป็นเสมือนเทพเจ้า (God-King) พระราชวังที่เมืองคนอสซุสมีขนาดใหญ่โตและวิจิตรงดงาม มีอ่างอาบน้ำอยู่บนพื้น มีช่องรับแสงจากธรรมชาติ มีระเบียง เฉลียง ระบบน้ำประปาและภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของชาวครีตทางด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ประติมากรรมและจิตรกรรม
ชาวครีตมีเทพที่สำคัญคือ เทพมารดา (Mother Goddess) อารยธรรมไมโนนล่มสลายลงเนื่องจากชาวไมซีเนียนที่มาจากแผ่นดินใหญ่เข้ารุกรานและสามารถยึดครองเกาะครีตไว้ได้

ภาพที่ 1 ซากพระราชวังนอสซัส บนเกาะครีต
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Knossos#/media/File:Knossos_-_North_Portico_02.jpg อารยธรรมไมซีเนียน (Mycenaean civilization) เจริญรุ่งเรืองบนคาบสมุทร
เพโลพอนนีซัส ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการติดต่อกันทำให้ผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ได้พัฒนาเป็นเมืองที่มีอิสระต่อกัน แต่ละเมืองจะมีป้อมปราการและศูนย์กลางของตัวเอง เมืองที่สำคัญ เช่น นครไมซีนี (Mycenea) มีชาวไมซีเนียนซึ่งสามารถเดินทางค้าขายไปทั่วแถบทะเลอีเจียน โดยสินค้าของชาวไมซีเนียน คือ น้ำมันมะกอก
มรดกทางศิลปะที่สำคัญของอารยธรรมนี้คือ เครื่องปั้นดินเผาที่ตกแต่งด้วยภาพวาด มีรูปทรงหลายลักษณะ เช่น ถ้วย ชาม เหยือก แจกัน หม้อ ไหสำหรับบรรจุน้ำมันมะกอก และขวดขนาดเล็กสำหรับบรรจุน้ำหอม สิ่งที่ชาวไมซีเนียนทิ้งไว้เป็นมรดก ได้แก่ รูปบูชาเทพซุส เฮราและโพไซดอน อารยธรรมนี้สิ้นสุดลงเมื่อชาวดอเรียนจากทางเหนือได้เข้ามารุกรานและเข้าครอบครองเมืองของชาวไมซีเนียน ชาวดอเรียน ไม่สนใจอารยธรรมของชาวครีตและอารยธรรมไมซีเนียน ดังนั้นความเจริญต่าง ๆ จึงเสื่อมลง การค้าขายทางทะเลที่เคยรุ่งเรืองหยุดชะงัก ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นยุคมืดของอารยธรรมกรีกโบราณ
อย่างไรก็ดี ช่วงยุคมืดนี้มีการแต่งวรรณกรรมมุขปาฐะ (Oral literature) เรื่องมหากาพย์อีเลียด (Lliad) และโอดิสซีย์ (Odyssey) โดยมหากวีโฮเมอร์ (Homer) บทประพันธ์นี้ได้กล่าวถึงเรื่องราวและบุคคลต่าง ๆ ในสมัยอารยธรรมไมซิเนียนปะปนไปกับเรื่องราวของสงครามเมืองทรอย (Troy) ที่แสดงถึงความกล้าหาญของวีรบุรุษ คุณธรรมต่าง ๆ รวมไปถึงความเชื่อเรื่องเทพเจ้าที่มีผลต่อชีวิตมนุษย์ นับเป็นวรรณกรรมของยุโรปที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ

ภาพที่ 2 รูปสลักหินของโฮเมอร์ กวีคนสำคัญแห่งกรีกโบราณ ผู้ประพันธ์อิเลียด และโอดิสซีย์
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Homer#/media/File:Homer_British_Museum.jpg
สมัยอารายธรรมเฮลเลนิก (Classical Period)
อารยธรรมเฮลเลนิกหรืออารยธรรมกรีก ถือเป็นยุคที่กรีกฟื้นตัวขึ้นมายิ่งใหญ่อีกครั้ง มีการสร้างอารยธรรมใหม่ซึ่งรู้จักกันในนาม อารยธรรมเฮเลน และถือเป็นการเข้าสู่สมัยคลาสสิคของประวัติศาสตร์กรีก มหากาพย์อีเลียด (Lliad) และโอดิสซีย์ (Odyssey) ได้มีความสำคัญต่อชาวกรีก เปรียบได้กับคัมภีร์ไบเบิลของชาวคริสต์ จริยธรรมและคุณธรรมในมหากาพย์ทั้งสองเรื่องกลายมาเป็นข้อกำหนดในการดำเนินชีวิตของชาวกรีก
ในช่วงเวลานี้ ชาวกรีกมีการสร้างเมืองต่าง ๆ มากมายและรวมกันเป็นนครรัฐหรือที่เรียกว่าโพลิส (Polis) ขึ้น โพลิสแต่ละแห่งพัฒนาจากการเป็นเขตการค้าและเป็นอิสระต่อกัน แล้วจะมีอะครอโพลิส (Acropolis) เป็นเมืองป้อมปราการ ทำหน้าที่คล้ายกับที่ว่าการเมืองโดยที่รอบอะครอโพลิสจะมีเมืองเล็ก ๆ ล้อมรอบ กิจกรรมสำคัญที่โพลิสทุกแห่งจะทำร่วมกัน คือ พิธีเฉลิมฉลองเทพเจ้าซูส ณ ยอดเขาโอลิมปัส โดยจัดขึ้นทุกสี่ปี อันเป็นต้นกำเนิดของกีฬาโอลิมปิกในเวลาต่อมา นครรัฐที่สำคัญในสมัยนี้คือ นครรัฐเอเธนส์และนครรัฐสปาร์ตา

ภาพที่ 3 ซากของอะโครโพลิสแห่งนครเอเธนส์ อันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารพาร์เธนอน
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Acropolis_of_Athens#/media/File:The_Acropolis_of_Athens_viewed_from_the_Hill_of_the_Muses_(14220794964).jpg
- นครรัฐเอเธนส์ โดดเด่นในเรื่องการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยให้สิทธิแก่พลเมืองชายของรัฐที่บรรลุนิติภาวะ มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งผู้ปกครอง ส่วนผู้หญิง เด็ก คนต่างด้าวไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทาสไม่มีฐานะทางสังคมและถูกเหยียดหยาม เอเธนส์มีระบบเนรเทศผู้ซึ่งเป็นภัยต่อความมั่นคงของนครรัฐ โดยพลเมืองสามารถออกเสียงขับไล่ได้ในสภา จึงสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ให้อำนาจแก่ประชาชนในระดับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นมรดกด้านการปกครองให้กับโลกตะวันตกในยุคต่อมาจนกรีกได้รับสมญานามว่า “บิดาแห่งระบอบการปกครองประชาธิปไตย”
- นครรรัฐสปาร์ตา ในขณะที่เอเธนส์พัฒนาสู่การปกครองระบบประชาธิปไตย สร้างแนวคิดต่าง ๆ และเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรม สปาร์ตาซึ่งเป็นนครรัฐที่สืบเชื้อสายมาจากพวกดอเรียนก็มีพัฒนาการของระบบการปกครองแบบเผด็จการทหาร มีการยกเลิกการครอบครองที่ดินและแบ่งที่ดินให้แก่พลเมือง สปาร์ตาจำนวน 9,000 คน ที่เหลือกว่า 30,000 คน เป็นแรงงานทำไร่นาเรียกว่าฮีรอต พวกขุนนางเป็นผู้จัดตั้งสภาประชาชนซึ่งมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งคณะขุนนางเพื่อขึ้นมาทำหน้าที่บริหาร โดยมีสิทธิ์ในการเห็นชอบหรือคัดค้านข้อเสนอของสภาผู้อาวุโส
สปาร์ตามีระบบการเกณฑ์ทหารและทำให้ทหารเป็นอาชีพตลอดชีวิตของพลเมือง
สปาร์ตามีกษัตริย์ปกครองครั้งละ 2 องค์ นับว่าเป็นการสร้างระบบการคานอำนาจเป็นครั้งแรกของโลก กษัตริย์ที่เข้มแข็งกว่าจะได้รับเลือกให้นำกองทัพในสงครามและมีอำนาจทางการทหารสูงสุด
ต่อมาได้เกิดสงครามเปอร์เซีย (Persian Wars) เอเธนส์เป็นผู้นำของนครรัฐกรีกที่ตั้งอยู่บริเวณรอบ ๆ ทะเลอีเจียน ต่างผนึกกำลังกันทำสงครามกับเปอร์เซียจนได้รับชัยชนะ ภายหลังจากสงคราม เอเธนส์มีความเจริญสูงสุดจนเรียกว่า ยุคทองของเอเธนส์ จนในปี 431 ก่อนคริสต์ศักราช เอเธนส์และพันธมิตรได้ทำสงครามกับสปาร์ตาในสงคราม เพโลพอนนิเชีย (Peloponneian War) ส่งผลให้นครรัฐกรีกต่าง ๆ เสื่อมอำนาจและอ่อนแอลง เปิดโอกาสให้เมซิดอน (Mecedon) อาณาจักรเล็ก ๆ ทางตอนเหนือ นำโดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสามารถเข้าครอบครองนครรัฐกรีกได้ทั้งหมด
สมัยอารยธรรมเฮลเลนิสติก (Hellenistic Period)
กรีกได้เข้าสู่ยุคเฮลเลนิสติกในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช โดยสามารถขยายดินแดนครอบคลุมเอเชียตะวันออกใกล้ เปอร์เซียและอียิปต์ ทำให้งานศิลปวัฒนธรรมของกรีกได้แพร่ขยายออกไปอย่างมาก มีการสร้างเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ทางตอนเหนือของอียิปต์เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าขายและศิลปวัฒนธรรมกรีก
อย่างไรก็ตาม หลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสวรรคต จักรวรรดิกรีกที่กว้างใหญ่ไพศาลก็แตกแยกเป็นบ้านเล็กเมืองน้อย โดยแบ่งให้แก่แม่ทัพนายกองคนสำคัญ ๆ จนเสื่อมอำนาจลงไปในที่สุดในราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์ศักราช กรีกต้องสูญเสียอิสรภาพและกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน
อารยธรรมกรีกโบราณที่สำคัญ ได้แก่
1. ศาสนาและปรัชญา อารยธรรมกรีกโบราณมีความศรัทธาในเรื่องเทพเจ้าอย่างมาก กษัตริย์และขุนนางถือว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า หรืออย่างในนครรัฐเอเธนส์ที่เชื่อว่าเทพเจ้าไอออน (Ion) โอรสของเทพเจ้าอะพอลโล (Apollo) เป็นบรรพบุรุษของตน เทพเจ้าที่ชาวกรีกนับถือมีหลายองค์ เช่น ซูส (Zeus) บิดาแห่งเทพเจ้าโพไซดอน (Poseidon) เทพเจ้าแห่งทะเล เป็นต้น นอกจากนี้กรีกยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาปรัชญาแก่โลกตะวันตก
นักปรัชญาผู้มีชื่อเสียง ได้แก่
โสเครตีส (Socrates) ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญา แนวคิดของโสเครตีสเน้นที่การแสวงหาความจริงด้วยตนเองและการใช้เหตุผล

ภาพที่ 4 รูปสลักหินของโสเครติส บิดาแห่งปรัชญา
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Socrates#/media/File:Socrates_Louvre.jpg
เพลโต (Plato) ศิษย์ของโสเครตีส เพลโตเป็นผู้เขียนชีวประวัติและงานของโสเครตีส พร้อมทั้งแทรกความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครอง และการศึกษาในรูปบทสนทนา (Dialogues) เปิดโรงเรียนชื่อว่า เออแคดเดอมี (Academy) และเขียนหนังสือที่ใช้ชื่อว่า รีพับลิก (Republic) เพลโตเชื่อว่า คุณสมบัติของชนชั้นปกครองจะต้องเป็นผู้มีความรู้ ความรับผิดชอบและศีลธรรม
ภาพที่ 5 รูปสลักหินของเพลโต
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Plato#/media/File:Plato_Silanion_Musei_Capitolini_MC1377.jpg
อริสโตเติล (Aristotle) เป็นศิษย์ของเพลโตและเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช อริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่สนใจในศาสตร์ทุกแขนง
ภาพที่ 6 รูปสลักหินของอริสโตเติล
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Aristotle#/media/File:Aristotle_Altemps_Inv8575.jpg
เฮโรโดตุส (Herodotus) ได้รับการยกย่องจากผลงานการสืบค้นข้อเท็จจริงเรื่อง History ให้เป็นบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์
ธูซิดิดีส (Thucydides) ผู้เขียน The Persian wars ในส่วนเนื้อหาจะให้ความสำคัญต่อการเรียงข้อมูลตามลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและวิเคราะห์แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้น ๆ
2. สถาปัตยกรรม กรีกที่มีชื่อเสียงคือ การสร้างวิหารขนาดใหญ่จากหินอ่อน เป็นอาคารโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีห้องสำหรับประดับประติมากรรมเทพเจ้า ไม่มีหน้าต่าง มีเสาขนาดใหญ่ เรียงกันเป็นแถวสำหรับรองรับน้ำหนักหลังคาวิหาร ส่วนมากสร้างขึ้นตามแบบแผน เสาในสถาปัตยกรรมกรีก มี 3 รูปแบบแตกต่างกันคือ ดอริก ไอโอนิก และคอรินเธียน อันเป็นลักษณะสำคัญสืบทอดต่อมาในโลกตะวันตก

ภาพที่ 7 เสาตามแบบสถาปัตยกรรมกรีกทั้ง 3 แบบ
ที่มา: https://www.pinterest.co.uk/pin/374854368968708579/
ภาพที่ 8 เสาตามแบบสถาปัตยกรรมกรีกทั้ง 3 แบบ (ภาพ 3D)