ความสำคัญของประวัติศาสตร์ และยุคสมัยทางประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ คือ การศึกษาเรื่องราวและพฤติกรรมของมนุษย์ในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาและยุคสมัยต่าง ๆ กัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาว่ามนุษย์ในอดีตได้คิดอะไร และกระทำสิ่งใด อีกทั้งความคิดและการกระทำดังกล่าวมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว และช่วงเวลาต่อมาอย่างไร หากแต่อดีตของมนุษย์นั้นมีระยะเวลายาวนานมาก จึงจำเป็นจะต้องมีการแบ่งช่วงเวลาดังกล่าวออกเป็นยุคสมัยต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับอดีต ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และเพื่อให้เห็นถึงลักษณะสำคัญของแต่ละช่วงเวลา
ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 สมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์, สมัยกึ่งประวัติศาสตร์, และ สมัยประวัติศาสตร์ สำหรับสิ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดอายุคือ “ตัวอักษร” ดังนั้นแล้ว ในแต่ละสังคมหรือแหล่งอารยธรรมต่าง ๆ ในโลก จึงเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับว่าสังคมหรืออารยธรรมใดสามารถประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้ได้ก่อน
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistorical Period) คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อใช้บันทึกเรื่องราว ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่มีหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษร เช่น เอกสาร หรือจารึกที่บันทึกเรื่องราวให้มนุษย์ในยุคหลังทราบได้
ดังนั้น การศึกษาเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงต้องอาศัยการสันนิษฐาน และการตีความจากหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ, เครื่องประดับ, ภาพเขียนสีบนเพิงผาและผนังถ้ำ, หลุมฝังศพ เป็นต้น สำหรับตัวอย่างหลักฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น โครงกระดูกของมนุษย์โครมันยอง, โครงกระดูกของมนุษย์ชวา, โครงกระดูกของมนุษย์ปักกิ่ง, แหล่งโบราณคดีชุมชนบ้านเชียง เป็นต้น
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุค ได้แก่ ยุคหิน และยุคโลหะ สมัยกึ่งประวัติศาสตร์ (Protohistorical Period) คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์ในสังคมนั้น ๆ ยังไม่รู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเพื่อใช้บันทึกเรื่องราว แต่ได้มีมนุษย์จากสังคมอื่น ๆ ซึ่งได้เดินทางผ่านมาเพื่อติดต่อค้าขาย และได้บันทึกเรื่องราวของมนุษย์จากสังคมเหล่านั้นเอาไว้ สมัยประวัติศาสตร์ (Historical Period) คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์ในสังคมเริ่มรู้จักการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเพื่อใช้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ทำให้มนุษย์ในยุคหลังสามารถเข้าใจเรื่องราวในช่วงเวลาดังกล่าว ผ่านการศึกษาและตีความจากหลักฐานลายลักษณ์อักษรต่าง ๆ เช่น ศิลาจารึก พงศาวดาร หนังสือ เป็นต้น ดังนั้น แต่ละสังคมจะเริ่มต้นสมัยประวัติศาสตร์ไม่พร้อมกัน
สมัยประวัติศาสตร์ หากแบ่งตามประวัติศาสตร์สากลแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 4 สมัยได้แก่ ประวัติศาสตร์สมัยโบราณ ประวัติศาสตร์สมัยกลาง ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และประวัติศาสตร์สมัยปัจจุบัน