ภาคเศรษฐกิจและ
กระบวนการไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ
บทที่แล้วเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจประเภทต่าง ๆ บทนี้เราจะมาดูถึงหน่วยย่อยและความสัมพันธ์ของหน่วยย่อย ที่เป็นองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจ
ระบบเศรษฐกิจประกอบด้วยหน่วยย่อย หรือ ภาคเศรษฐกิจ 4 ภาค ได้แก่
1) ภาคครัวเรือน : คือประชาชนที่ทำหน้าที่ตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ และเป็นเจ้าของ ที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ อันเป็นปัจจัยการผลิตอีกด้วย
2) ภาคธุรกิจ : ทำหน้าที่ซื้อปัจจัยการผลิตที่ซื้อมาจากครัวเรือน และนำมาผลิตเป็นสินค้าและบริการ เพื่อขายให้ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ
3) ภาครัฐบาล : หน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ดูแล ให้บริการ ดูแลความสงบแก่ประชาชน ผ่านกฎหมายต่าง ๆ
4) ภาคต่างประเทศ : ระบบเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ซึ่งทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกับภาคเศรษฐกิจในประเทศ
เราสามารถศึกษาความสัมพันธ์ของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ผ่านระบบการไหลเวียนทางเศรษฐกิจดังนี้
1) ภาคครัวเรือนซื้อสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจ
2) ภาคธุรกิจก็จะได้รายได้จากการขายของให้ภาคครัวเรือน
3) เพื่อที่จะผลิตสินค้าและบริการ ภาคธุรกิจก็จะซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน และแรงงาน จากภาคครัวเรือน
4) ภาคครัวเรือนจะได้เงินตอบแทนจากการขายปัจจัยการผลิตนั้น ๆ
5) ภาคธุรกิจไม่ได้ขายสินค้าให้แต่กับครัวเรือน แต่ยังขายให้แก่ภาครัฐบาลด้วย
6) โดยภาคธุรกิจจะได้รายได้จากภาครัฐบาลในการขายสินค้านั้น ๆ
7) ภาคครัวเรือนก็ไม่ได้ขายปัจจัยการผลิตให้แต่ภาคธุรกิจ แต่ขายให้ภาครัฐบาลด้วย เช่น ข้าราชการก็เป็นภาคครัวเรือนที่ขายแรงงานให้ภาครัฐบาล
8) ภาคครัวเรือนที่ขายปัจจัยการผลิตให้ภาครัฐบาลก็จะได้ผลตอบแทนเป็นรายได้
9) ภาครัฐบาลในเวลาเดียวกันก็ให้บริการและเงินอุดหนุนกับภาคธุรกิจ เช่น มีการให้บริการด้านความปลอดภัยผ่านทหารและตำรวจ
10) ภาคธุรกิจก็ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาล
11) ภาครัฐบาลนั้นให้บริการและเงินโอนแก่ภาคครัวเรือนด้วย เช่น ทหาร ตำรวจ หรือเงินสงเคราะห์ต่าง ๆ
12) ภาคครัวเรือนก็ต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาล
13) นอกเหนือจากภายในประเทศแล้ว ภาคธุรกิจก็ขายสินค้าส่งออกให้ต่างประเทศ
14) รายได้จากการขายสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ ก็จะไหลเข้าภาคธุรกิจในประเทศ
15) ในเวลาเดียวกันภาคครัวเรือนในประเทศก็มีการซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ
16) ภาคต่างประเทศก็จะได้เงินจากการขายสินค้าส่วนนี้เข้ากระเป๋าไป และทั้งหมดนี้ก็คือความสัมพันธ์ที่หน่วยเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาคมีต่อกันและกัน