โลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โลกในยุคโลกาภิวัตน์ที่ไร้พรมแดน มนุษยชาติสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง สถานการณ์ใด ๆ ของโลกไม่ว่า ณ ที่ใด สามารถเชื่อมโยง และส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกด้วยพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษยชาติโดยทั่วไปดีขึ้น แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการแข่งขัน มีความต้องการทรัพยากรเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะเป็นผลให้โลกในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ประสบปัญหานานัปการ ความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติ
ภัยธรรมชาติที่รุนแรงย่อมส่งผลร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษยชาติ ภัยธรรมชาติส่วนใหญ่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถป้องกันได้ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด สึนามิ ภัยแล้ง โคลนถล่ม วาตภัย หิมะถล่ม แผ่นดินแตกแยก เป็นต้น ภัยดังกล่าวนี้ได้คร่าชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก ภัยธรรมชาติบางอย่างเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์สามารถป้องกันได้ เช่น อุทกภัยป้องกันได้โดยการสร้างเขื่อน หรือเตรียมแหล่งรับน้ำก่อนระบายออกทะเล
ภัยธรรมชาติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์และเป็นวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน คือ ภาวะโลกร้อน ภาวะโลกร้อนหรือภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น มีสาเหตุสำคัญเกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ที่ทำให้ความร้อนสะสมอยู่ภายในโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ อุณหภูมิก็จะสูงเพิ่มขึ้นมาก โดยปกติโลกเมื่อได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ความร้อนส่วนหนึ่งจะถูกสะท้อนกลับไปในชั้นบรรยากาศ ส่วนหนึ่งจะทะลุออกไปสู่อวกาศ อีกส่วนหนึ่งจะถูกแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศดูดซับไว้ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของโลกอุ่นและทำให้มนุษย์อาศัยอยู่ได้
วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมเกิดจากมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำและปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นในโลก รวมทั้งการทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
การที่จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตและการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มขึ้นด้วย ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดการแข่งขันขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติถูกนำไปใช้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติสูญเสียสมดุล อันจะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบจะย้อนกลับมาที่สังคมและเศรษฐกิจโลก
วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ คือ การเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำธรรมชาติที่เกิดจากการปล่อยของเสียจากอาคารบ้านเรือนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสารพิษลงในแม่น้ำ ทำให้เน่าเสีย ขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาด เกิดปัญหาสารพิษตกค้างในดินและพืช การบุกรุกทำลายต้นน้ำลำธารและระบบนิเวศของป่าทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
ส่วนมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่เกิดจากสังคมที่มีประกอบกิจกรรมทางอุตสาหกรรม ควันพิษจากรถยนต์ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน รวมทั้งการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษทางอากาศที่เกิดจากสารพิษ เช่น สารตะกั่ว สารปรอทล้วนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลง การพัฒนาทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยิ่งเพิ่มขึ้น มลพิษทางอากาศก็เพิ่มมากขึ้นและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
ปัญหาจากขยะมูลฝอยที่เกิดจากการทิ้งของเสียจากชุมชนที่มีจำนวนมากเกินกว่าจะเก็บทำลายได้ นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ และมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษยชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและเป็นปัญหาร่วมกันของประชากรโลก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกประเทศทั่วโลกในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การเมืองโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม สาเหตุที่สำคัญทำให้เกิดปัญหา คือ การขาดดุลยภาพทางการเมืองระหว่างประเทศและการขยายตัวของระบบก่อการร้าย
ภายหลังการสิ้นสุดสงครามเย็นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจเพียงประเทศเดียวที่มีอิทธิพลสูงสุดในการเมืองปัจจุบัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นโลกในศตวรรษที่ 21 จึงมีการขาดดุลยภาพทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่เกิดมาจากการไม่มีประเทศใดมีอิทธิพลมากเพียงพอที่จะถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐอเมริกาได้ สหรัฐอเมริกาจึงสามารถดำเนินนโยบายตามอุดมการณ์ การจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) โดยใช้ความรุนแรงและแข็งกร้าวในการดำเนินนโยบายด้านการเมืองระหว่างประเทศ เช่น กรณีการปราบปรามอิรักในสงครามอ่าวเปอร์เซีย การทำสงครามกับอัฟกานิสถานและอิรัก การใช้มาตราการรุนแรงแทรกแซงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าและจีน รวมทั้งการที่สหรัฐอเมริกาส่งกองทัพอากาศโจมตีกลุ่มกบฏในอิรัก ช่วยเหลือรัฐบาลอิรักในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบของกลุ่มกบฏที่อ้างสาเหตุความขัดแย้งทางศาสนา การดำเนินนโยบายต่างประเทศดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสังคมโลกอย่างกว้างขวางทางด้านการเมืองทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศขยายตัว มีการเผชิญหน้าระหว่างประเทศ ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ สหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตราการตอบโต้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าอเมริกันและใช้มาตราการทางการค้าคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศ และนำไปสู่กระแสชาตินิยมในหมู่ประเทศต่าง ๆ และพยายามตอบโต้สินค้าอเมริกัน ทางด้านสังคม นโยบายการจัดระเบียบโลก ทำให้เกิดสงครามที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก
สาเหตุหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างยิวกับอาหรับในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อชาวยิวจัดตั้งประเทศอิสราเอลโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดสงครามระหว่างยิวกับอาหรับขึ้นหลายครั้ง พวกมุสลิมหัวรุนแรงจึงรวมตัวเป็นกลุ่มก่อการร้ายขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายต่อต้านอิสราเอล สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร นอกจากนี้ปัญหาชนกลุ่มน้อยที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน รวมทั้งความขัดแย้งทางศาสนาก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายโดยใช้วิธีการรุนแรงที่สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 การก่อการร้ายได้ทวีความรุนแรง ดังเช่น เหตุการณ์ 11 กันยายน 2001
การขยายตัวขององค์กรก่อการร้ายที่เป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อคุกคามให้ผู้คน หรือรัฐบาลยินยอมตามข้อเสนอของพวกตน ได้ขยายขอบเขตเพิ่มขึ้นเป็นการจับตัวประกัน การใช้ระเบิดพลีชีพ การก่อวินาศกรรม เป็นต้น
ประเทศมหาอำนาจสหรัฐอเมริกาเผชิญเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งถือเป็นวินาศกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในโลก คือ วันที่ 11 กันยายน 2001 หรือ 9/11 โดยผู้ก่อการร้ายได้ปล้นเครื่องบินพาณิชย์สหรัฐอเมริกาและพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ที่ตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์กและเพนตากอน อาคารสำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ในรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบบทุนนิยมอันแสดงให้เห็นถึงความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกา เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คน มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาถูกโจมตีบนแผ่นดินของตนเอง
สาเหตุของเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 เกิดจากนโยบายของสหรัฐอเมริกาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างยิวกับอาหรับ ซึ่งได้สร้างสมความโกรธแค้นให้กลุ่มชาวมุสลิมหัวรุนแรง โดยใช้วิธีการก่อการร้ายหลายรูปแบบเพื่อก่อวินาศกรรมหลายครั้ง เช่น การวางระเบิดสถานทูตอเมริกันที่ประเทศเคนยาและแทนซาเนีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายพันคน แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มความระมัดระวัง แต่ก็ยังไม่มีนโยบายการต่อต้านและป้องกันการก่อการร้ายอย่างเป็นรูปธรรม ภายหลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศนโยบายต่อต้านระบบการก่อการร้ายอย่างชัดเจน
ผลกระทบของเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน 2001
ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของชาวอเมริกันเกิดแนวความคิดชาตินิยม นโยบายการบริหารประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยหันมายึดหลักด้านความมั่นคง โดยการให้อำนาจประธานาธิบดีในการจัดการบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความชอบธรรมในการโต้ตอบกลุ่มก่อการร้ายด้วยความรุนแรง เช่น การยกกำลังเข้าไปทำสงครามในอัฟกานิสถานในปลายปี ค.ศ.2001 และการรุกรานยึดครองอิรักในปัจจุบัน
ภายหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 สหรัฐอเมริกาและพันธมิตร เช่น อังกฤษได้ส่งกองทัพเข้าไปยังประเทศอัฟกานิสถาน เนื่องจากรัฐบาลตาลีบัน (Taliban) ให้ความสนับสนุนนายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำขบวนการอัลกออิดะห์ โดยสหรัฐอเมริกาได้ประกาศการทำสงครามกวาดล้างกลุ่มตาลีบัน มีการแต่งตั้งให้นายฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) ชาวอัฟกานิสถานที่มีสัญชาติอเมริกันเป็นประธานาธิบดี แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานยังไม่สงบแม้ว่าบินลาเดนผู้นำกลุ่มจะเสียชีวิตแล้วก็ตาม กลุ่มตาลีบันที่ซ่อนตัวอยู่ตามรอยต่อระหว่างอัฟกานิสถานกับปากีสถานยังคงโจมตีรัฐบาลอยู่เรื่อย ๆ สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้พยายามกวาดล้างทำลายกลุ่มตาลีบัน ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและทรัพย์สิน แต่ก็ยังไม่สามารถปราบปรามกลุ่มตาลีบันลงได้ ส่วนกลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถานก็ยังก่อวินาศกรรมเพื่อทำลายรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อไป
ภาพที่ 2 นายโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำขบวนการอัลกออิดะห์
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Osama_bin_Laden#/media/File:Osama_bin_Laden_portrait.jpg
ในปี ค.ศ.1991 อิรักได้นำกองกำลังบุกเข้ายึดบ่อน้ำมันของประเทศคูเวต ทำให้องค์การสหประชาชาติส่งกองกำลังเข้าช่วยประเทศคูเวต เกิดเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) และอิรักพ่ายแพ้อย่างยับเยิน นอกจากนี้ยังถูกสหประชาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทำให้อิรักประสบความขาดแคลนสินค้าอุปโภค บริโภคอย่างมาก และห้ามการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นผลทำให้ประชาชนชาวอิรักได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก รัฐบาลอิรักภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ควบคุมประชาชนอย่างเข้มงวด จนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ภาพที่ 3 นายซัดดัม ฮุสเซน อดีตประธานาธิบดีของอิรัก
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Saddam_Hussein#/media/File:Saddam_Hussain_1980_(cropped).jpg
ใน ค.ศ. 2002 สหรัฐอเมริกาได้ส่งผู้แทนเข้าไปตรวจสอบอาวุธนิวเคลียร์ในอิรัก แต่ไม่พบอาวุธใดๆ สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้ส่งกองทัพบุกโจมตีอิรักโดยปราศจากความเห็นชอบจากองค์การสหประชาชาติ และได้โค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปจัดการปกครองในอิรัก สร้างความไม่พอใจให้กับชาวอิรักหลายกลุ่ม ส่งผลให้มีการก่อเหตุวินาศกรรมอย่างรุนแรง การจับชาวต่างประเทศเป็นตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ และการก่อการร้ายด้วยการพลีชีพ ทำให้พลเรือน เจ้าหน้าที่ และทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ในสมัยประธานาธิบดีโอบามาได้ตัดสินใจถอนทหารสหรัฐออกจากอิรักทั้งหมด เพื่อให้รัฐบาลอิรักแก้ไขปัญหาประเทศของตนเอง