ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนเข้าสู่สมัยจักรวรรดินิยม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยุโรปได้มีพัฒนาการสู่ความเป็นรัฐชาติ (Nation State) เนื่องจากชาวยุโรปเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยมหรือความรู้สึกผูกพันกันในเชื้อชาติเดียวกัน ที่ใช้ภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกัน และเคยร่วมกันต่อสู่ชาติอื่น ความคิดดังกล่าวทำให้เกิดจิตสำนึกที่จะปกป้องดินแดนและจงรักภักดีต่อประเทศชาติของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากสมัยกลางที่จงรักภักดีต่อคริสตจักรและขุนนางเจ้าของที่ดินตามระบอบฟิวดัล
1. ความร่วมมือกันต่อสู้กับต่างชาติที่เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนของตน เช่น กองทัพมุสลิมอาหรับยึดครองภาคใต้ของยุโรป รวมทั้งสงครามแย่งชิงดินแดนของชาวยุโรปกันเอง เช่น สงครามร้อยปี (One Hundred year’s war) ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส การรวมชาติอิตาลี และการรวมชาติเยอรมัน เป็นต้น
2. ความร่วมมือกันต่อต้านอำนาจของศาสนจักรคาทอลิก เช่น การต่อต้านสันตะปาปาในเรื่องการเก็บภาษีในรัฐของอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนชื่นชมกษัตริย์ที่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
3. ความเสื่อมของระบอบฟิวดัล ทำให้กษัตริย์มีอำนาจเพิ่มขึ้น ส่วนขุนนางท้องถิ่นหมดอำนาจลง และผลจากความเจริญทางเศรษฐกิจการค้ากับอุตสาหกรรมทำให้ชาวนาในแมนเนอร์เข้ามาประกอบอาชีพในเมืองและจ่ายค่าเช่าที่ดินเป็นเงินแทน ความจงรักภักดีต่อเจ้าของที่ดินจึงสิ้นสุดลง
4. ความเจริญทางเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมทำให้เกิดชนชั้นกลางขึ้นในสังคม เช่น พ่อค้า นายธนาคาร ซึ่งมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และต้องการสร้างรัฐชาติที่มีความปลอดภัยและเป็นระเบียบ เพื่อให้การค้าดำเนินไปอย่างราบรื่น จึงสนับสนุนระบอบการปกครองภายใต้สถาบันกษัตริย์ที่เป็นเอกภาพ
อังกฤษเริ่มการพัฒนาสู่ความเป็นชาติจากสงครามร้อยปี (The Hundred Years War: ค.ศ. 1337-1443) โดยต้นเหตุของสงครามสืบย้อนกลับไปได้ถึงครั้งเมื่อ เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งนอร์มองดี (William Duke of Normandy) ซึ่งเป็นข้าติดที่ดินของกษัตริย์ฝรั่งเศส ได้ยกทัพมายึดครองที่ดินจำนวนมากบนเกาะอังกฤษ และยังได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษ ส่งผลให้กษัตริย์อังกฤษมีสถานะเป็นข้าติดที่ดินของกษัตริย์ฝรั่งเศสไปโดยปริยาย เวลาผ่านไป กษัตริย์อังกฤษได้ปฏิเสธการถวายคำนับต่อกษัตริย์ฝรั่งเศส กษัตริย์ฝรั่งเศสจึงยึดถือดินของกษัตริย์อังกฤษในดินแดนฝรั่งเศส กษัตริย์จึงตอบโต้ด้วยการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศสผ่านทางสายเลือด ความขัดแย้งดังกล่าวจึงลุกลามบานปลายเป็นสงครามร้อยปีในที่สุด ผลของสงครามทำให้ราชวงศ์ของอังกฤษและฝรั่งเศสแยกกันอย่างเด็ดขาด ด้านกษัตริย์ฝรั่งเศสมีอำนาจมากขึ้น ขณะที่กษัตริย์อังกฤษได้รับการยอมรับและได้ให้ความสนพระทัยต่อการพัฒนาบ้านเมืองเพิ่มขึ้น ขณะที่ชาวอังกฤษเกิดความรู้สึกรักชาติ เพราะได้รับชัยชนะในการรบหลายครั้ง ต่อมาหลังช่วงสงคราม กษัตริย์ถูกจำกัดพระราชอำนาจตาม กฎบัตรแมกนา คาร์ตา (Magna Carta)
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 (Elizabeth 1 of England) อังกฤษได้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจและความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปะ และวัฒนธรรม ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 พระเจ้าชาร์ลที่ 1 (Charles I of England) พยายามสถาปนาอำนาจการปกครองที่เรียกว่า “เทวสิทธิ์ของกษัตริย์” (Divine Rights of King) หรือการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทำให้รัฐสภาอังกฤษคัดค้าน จนลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐสภากับกษัตริย์กลายมาเป็นสงครามกลางเมือง (Civil war ค.ศ. 1642-1649) ฝ่ายกษัตริย์พ่ายแพ้ และพระเจ้าชาร์ลที่ 1 ถูกสำเร็จโทษ ส่งผลให้ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ผู้นำสภาขุนนางได้ประกาศให้อังกฤษมีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ (ค.ศ. 1649-1653)
แต่ต่อมาอังกฤษก็กลับมาปกครองด้วยระบบกษัตริย์อีกครั้ง และกษัตริย์พยายามที่จะมีอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เรียกว่า "การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์" (The Glorious Revolution ค.ศ. 1688) เพราะกษัตริย์ได้ออกพระราชกฤษฏีกาให้อำนาจกษัตริย์ในการยกเลิกกฏหมายใด ๆ ก็ได้ ผลของสงครามทำให้กษัตริย์อังกฤษถูกเนรเทศไปอยู่ที่ฝรั่งเศส และเกิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของประชาชน (The Bill of Right 1689) ที่จำกัดอำนาจกษัตริย์ ข้อความที่สำคัญในกฏหมายฉบับนี้ คือ ห้ามกษัตริย์ยกเลิกกฎหมายของประเทศโดยพลการ เพราะเป็นสิทธิอำนาจของรัฐสภาเท่านั้น ห้ามกษัตริย์เก็บภาษีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา ประชาชนอังกฤษมีสิทธิ์ถวายฎีกาต่อกษัตริย์ได้ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ผลของการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์นี้เป็นการเพิ่มอำนาจแก่ประชาชน โดยผ่านทางรัฐสภา ทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สิ้นสุดลง รัฐสภามีอำนาจมั่นคงขึ้น
ฝรั่งเศสได้มีเข้าร่างของความเป็นรัฐชาติสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยราชอาณาจักรแฟรงก์ (Kingdom of Franks - Francia) ที่มีอำนาจครอบคลุมดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล หลังสมัยพระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne) ราชอาณาจักรแฟรงก์ได้เสื่อมอำนาจลง และต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 10 ดินแดนที่ทางตะวันตกของราชอาณาจักรแฟรงก์ ได้รวมตัวกันกลายมาเป็นราชอาณาจักรฝรั่งเศส และขยายอำนาจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนภายหลังสงครามร้อยปี (The Hundred Years War) ฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การปกครองโดยระบอบกษัตริย์แห่งราชวงศ์วาลัวร์ (Valois) และราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ตามลำดับ ราชอาณาจักรฝรั่งเศสมีการปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งเข้มแข็งและรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV of France)ฝรั่งเศสเป็นชาติที่มีอำนาจมากที่สุดบนภาคพื้นทวีปยุโรป แต่ประชาชนในฝรั่งเศสยังคงไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง และรัฐบาลไม่สนใจต่อความเป็นไปของประชาชน กอปรกับรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV of France) ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในสงคราม 7 ปี (The Seven Years War) ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง แม้กระนั้นราชสำนักก็ยังคงฟุ่มเฟือย ประชาชนจำนวนมากยังคงอดอยาก ขณะเดียวกันมีความพยายามในการเรียกประชุมสภาฐานันดร เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ แต่เกิดความไม่พอใจของสมาชิกฐานันดรที่ 3 ต่อระบบลงคะแนนแบบเก่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI of France) จึงต้องประนีประนอม จนนำไปสู่การจัดตั้งสภาแห่งชาติ (National Assembly) ขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ กอปรกับข่าวลือว่าจะมีการปราบปรามสภาแห่งชาติ และความวุ่นวายอื่น ๆ จึงนำไปสู่เหตุการณ์ที่ประชาชนชาวปารีสได้เข้าโจมตี และทำลายคุกบาสตีย์ (Bastilles) ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ซึ่งเป็นเหตุการณ์แรกของการปฏิวัติฝรั่งเศส และถือเป็นวันชาติฝรั่งเศสมาจนทุกวันนี้
ภาพที่ 1 การบุกทลายคุกบาสตีย์ สัญลักษณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศส
ที่มา:https://en.wikipedia.org/wiki/Storming_of_the_Bastille#/media/File:Prise_de_la_Bastille.jpg
ผลของการปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ระบอบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีการตั้งสภากองวองเซียง (Convention) แต่อย่างไรก็ตามการเมืองการปกครองของฝรั่งเศสยังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจนเหมือนเดิม รัฐไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ รัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศ สังคมฝรั่งเศสมีความหวาดระแวงกัน เนื่องจากแมกซิมิเลียน โรเบสปีแอร์ (Maximilian Robespierre) ซึ่งเป็นคนจากกลุ่มจาโคแบงส์ (Jacobins) ได้เข้ายึดอำนาจและบริหารสภากองวองเซียงแบบเผด็จการ มีการปราบปรามผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นภัยและทรยศต่อสาธารณรัฐ โดยเฉพาะกลุ่มนิยมเจ้า บุคคลเหล่านั้นถูกประหารชีวิตเป็นจำนวนมาก ในช่วงนี้จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror) กินเวลาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1793 - 1794
บรรดาสมาชิกสภาได้รวมตัวกันสำเร็จโทษโรเบสปิแอร์ และปรับปรุงการบริหารงานใหม่ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการไดเรอทอรี (Directory) จำนวน 5 คน ในการบริหารประเทศ แต่ไม่มีอำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่สภาเห็นชอบแล้ว อย่างไรก็ตามคณะกรรมการต่างเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และเสียเปรียบในการรบ ในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution War) ระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียและพันธมิตรที่ต้องการนำระบอบกษัตริย์กลับคือสู่ฝรั่งเศส
ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นส่งผลให้ นายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ซึ่งมีชื่อเสียงจากความสามารถในการรบ และเป็นที่นิยมของชาวฝรั่งเศส ได้ก่อการรัฐประหารล้มคณะกรรมการไดเรอทอรี ในปี ค.ศ. 1799 และดำรงตำแหน่งกงศุลหมายเลขหนึ่ง พร้อมกับกงศุลผู้ช่วยอีก 2 คน ต่อมาเมื่อแน่ใจว่าตนได้รับการสนับสนุนจากทั้งสมาชิกสภา ข้าราชการ และประชาชนแล้ว นโปเลียนจึงได้ยกเลิกตำแหน่งกงศุลอันดับสองและสาม พร้อมสถาปนาตนเองเป็นกงศุลอันดับหนึ่งตลอดชีพ และเป็นจักพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoleon I) ในที่สุด
ภาพที่ 2 จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Napoleon#/media/File:Jacques-Louis_David_-_The_Emperor_Napoleon_in_His_Study_at_the_Tuileries_-_Google_Art_Project.jpg
สถานการณ์ทางการเมืองบนคาบสมุทรอิตาลี ภายหลังจากที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย อิตาลีก็ปกครองโดยนครรัฐต่าง ๆ มากมาย และภายหลังการประชุมใหญ่ที่กรุงเวียนนา (The Congress of Vienna) ในปี ค.ศ. 1815 บรรดานครรัฐหลายแห่งก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของจักรวรรดิออสเตรียเรื่อยมา ยกเว้นราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย - ปิเอดมอนต์ (Kingdom of Sardinia - Piedmont) นอกจากนี้ภายหลังการปฏิวัติทั่วยุโรปในปี ค.ศ. 1848 ฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพเข้ามาอารักขากรุงโรม เพื่อป้องกันและช่วยเหลือนครรัฐของพระสันตปาปา (Papal States) ให้รอดพ้นจากการโจมตีของพวกชาตินิยมอิตาลี ดังนั้น ออสเตรียและฝรั่งเศส จึงถือเป็นรัฐต่างชาติที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือคาบสมุทรอิตาลี ก่อนการรวมชาติในปี ค.ศ. 1870
ผลจากสภาพการณ์เบื้องต้น และอย่างยิ่งการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1848 ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของขบวนการชาตินิยมอิตาลีในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อขับไล่อิทธิพลของต่างชาติและสถาปนารัฐชาติของชาวอิตาลี สำหรับขบวนการชาตินิยมอิตาลีแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีนโยบายและแนวทางที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย
1) กลุ่มนิยมสหพันธรัฐ นำโดยพระสันตปาปา และมีนักคิดคนสำคัญคือ บาทหลวงจิโอแบร์ตี (Gioberti) มีแนวคิดที่จะผสมผสานลัทธิชาตินิยม และเสรีนิยมเข้ากับประเพณีทางศาสนา กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากพวกพระชั้นสูง
2) กลุ่มนิยมสาธารณรัฐ มี มาซซินี (Mazzini) เป็นผู้นำ กลุ่มนี้ต้องการขับไล่ต่างชาติออกไป และสถาปนาอิตาลีเป็นสาธารณรัฐ กลุ่มนี้มีขุนพลกาลิบอดี (Galibodi) เป็นผู้นำอาสาสมัครเสื้อแดง (Red Shirt) ในการช่วยรวมชาติ
3) กลุ่มนิยมกษัตริย์ มีพระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 2 (Victor Emmanuel II of Italy) เป็นผู้นำกลุ่ม และมีเคานท์คามิโล เบนโซ แห่งคาวัวร์ (Camillo Benso, Count of Cavour) เสนาบดีคนสำคัญ ซึ่งจะมีบทบาทในการรวมชาติอิตาลีจนสำเร็จ ภายใต้การนำของราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย
ภาพที่ 3 พระเจ้าวิคเตอร์ เอมมานูเอลที่ 2 กษัตริย์แห่งอิตาลี
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Victor_Emmanuel_II_of_Italy#/media/File:VictorEmmanuel2.jpg
ภาพที่ 4 เคานท์คามิโล เบนโซ แห่งคาวัวร์ เสนาบดีผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมชาติอิตาลี
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Camillo_Benso,_Count_of_Cavour#/media/File:Camillo_Benso_Cavour_di_Ciseri.jpg
หลังจากการเจรจาต่อรองกับฝรั่งเศส รวมถึงการทำสงครามกับออสเตรีย และการก่อการจลาจลในบางพื้นที่ ในที่สุดกลุ่มนิยมกษัตริย์ ก็ได้กลายมาเป็นผู้นำในการรวมชาติแต่เพียงผู้เดียว การรวมชาติอิตาลีส่วนใหญ่บรรลุผลในปี ค.ศ. 1860 คงเหลือเวเนเซียที่อยู่ใต้อิทธิพลของออสเตรีย และกรุงโรมที่ยังคงมีกองทหารฝรั่งเศสประจำการอยู่ ในปี ค.ศ. 1866 อิตาลีได้รับมอบแคว้นเวเนเซียจากปรัสเซีย เนื่องจากอิตาลีได้เข้าร่วมสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Austro - Hungarian War) โดยอยู่ข้างปรัสเซีย เมื่อปรัสเซียมีชัยชนะ จึงยกแคว้นเวนีเซียคืนให้ ส่วนกรุงโรมนั้น กองทหารฝรั่งเศสได้ถอนกำลังออกไปในช่วงสงครามฝรั่งเศส - ปรัสเซีย (Franco - Prussian War) ระหว่าง ค.ศ. 1870 - 1871 ทำให้อิตาลีบุกเข้ายึดไว้ได้ และเมื่อฝรั่งเศสแพ้สงคราม พระสันตปาปาหมดที่พึ่ง จึงต้องยอมยกกรุงโรมให้อิตาลี ดังนั้น การรวมชาติอิตาลีจึงเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1870
ออสเตรียและฮังการีพัฒนาไปสู่ความเป็นรัฐชาติจากดินแดนในอดีตคือจักรวรรดิออสเตรียและราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมดินแดนของออสเตรีย ฮังการี เชโกสโลวะเกีย บางส่วนของโปแลนด์ และยูโกสลาเวีย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ดินแดนยุโรปตะวันตกถูกพวกเติร์กรุกราน หลังจากที่ได้ขับไล่พวกเติร์กออกไปได้ ออสเตรียได้ครอบครองฮังการีและจัดการปกครองฮังการีอย่างเข้มงวด (ออสเตรียและฮังการีมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์อย่างชัดเจน กล่าวคือ ชาวออสเตรียมีเชื้อชาติเยอรมัน ในขณะที่ชาวฮังการีมีเชื้อชาติแมกยาร์) โดยเฉพาะหลังการประชุมใหญ่แห่งกรุงเวียยนา (The Congress of Vienna) ออสเตรียได้มีนโยบายทางการเมืองที่เน้นความเป็นอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้นมากขึ้น ภายใต้การควบคุมของเจ้าชายเคลเมนส์ แห่งเมตเตอร์นิช (Prince Klemens von Metternich) มีการปราบปรามขบวนการหรือผู้สนับสนุนลัทธิชาตินิยม และเสรีนิยมอย่างรุนแรง จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1848 ได้เกิดความเคลื่อนไหวในหมู่ชาวฮังกาเรียน เพื่อเรียกร้องการปกครองตนเอง นำโดยหลุยส์ คอสซุท (Louis Kossuth) รวมทั้งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในเวลาต่อมาอีกด้วย ปรากฏการณ์นี้ได้ส่งอิทธิพลต่อไปยังชาวเชค ในแคว้นโบฮีเมีย และกรรมกรชาวออสเตรีย ในกรุงเวียนนา และลุกลามกลายเป็นการจลาจลในที่สุด
ภาพที่ 5 เจ้าชายเคลเมนส์ แห่งเมตเตอร์นิช อัครมหาเสนาบดีแห่งออสเตรีย และนักการเมืองสายอนุรักษ์นิยม เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Klemens_von_Metternich#/media/File:Prince_Metternich_by_Lawrence.jpeg
จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีความพยายามในการประนีประนอมระหว่างกษัตริย์ของออสเตรียกับกลุ่มผู้ประท้วง แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดทางการออสเตรียจึงเลือกแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง การปกครองตนเองในฮังการีถูกล้มเลิก จากการปราบปรามของออสเตรียและรัสเซีย ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1849 ดังนั้น ฮังการีจึงตกเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรียเช่นเดิม
หลังสงครามเจ็ดสัปดาห์ (Austro - Prussian War) ในปี ค.ศ. 1866 ออสเตรียได้พ่ายแพ้แก่ปรัสเซีย และได้สูญเสียอำนาจและความเป็นผู้นำในกลุ่มรัฐเยอรมันไป ด้านฮังการีได้ถือโอกาสจากสงครามดังกล่าว เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง ซึ่งออสเตรียก็ต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตาม ด้วยการยกให้ฮังการีมีสถานะเทียบเท่ากับออสเตรีย กล่าวคือ ทั้งสองประเทศต่างมีอิสระในการดำเนินนโยบายภายในรัฐของตนเอง แต่ก็ยังคงมีประมุข และดำเนินนโยบายทางการทหาร และการต่างประเทศร่วมกัน ผลจากเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ออสเตรียได้รวมฮังการีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิภายใต้ข้อประนีประนอมปี ค.ศ. 1867 (Austro - Hungarian Compromise of 1867) และกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจของโลก ตราบจนล่มสลายลงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ประเทศสเปนเป็นประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรป ขยายอำนาจครอบครองเกาะซิซิลี เนเปิลส์ เกาะซาร์ดิเนีย ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และพื้นที่บางส่วนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งอาณานิคมในทวีปอเมริกาด้วย แต่อำนาจของสเปนได้เสื่อมลงในสมัยพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 เนื่องจากกองเรือาร์มาดา (Spanish Armada Fleet) อันเป็นกองเรือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสเปนได้พ่ายแพ้ต่อกองเรืออังกฤษในการสู้รบทางทะเลที่บริเวณช่องแคบของอังกฤษ ซึ่งสเปนได้สูญเสียทรัพยากรและเวลาไปกับกองเรือดังกล่าวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้สเปนต้องสูญเสียอำนาจทางการค้า ทางทะเล และทำให้อุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ถดถอยลง อันนำไปสู่การสูญเสียสถานะประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรปราวช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในที่สุด
ภายหลังจากที่สงครามนโปเลียนสิ้นสุดลง ราชอาณาจักรปรัสเซียได้ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐเยอรมันที่มีบทบาททางการเมือง และเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในบรรดากลุ่มรัฐเยอรมันตอนเหนือแข่งกับจักรวรรดิออสเตรีย ในการประชุมใหญ่แห่งกรุงเวียนนา (The Congress of Vienna) ในปี ค.ศ. 1815 ได้มีมติให้จัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation) โดยมีออสเตรียเป็นผู้นำ ด้านปรัสเซียในช่วงแห่งความเคลื่อนไหวด้านชาตินิยมและเสรีนิยม ก็มีความเคลื่อนในการรวมชาติเยอรมัน และจัดตั้งสภาเมืองฟรังค์ฟวร์ต (Frankfurt Parliament) แต่หลังจากการปฏิวัติทั่วยุโรปในปี ค.ศ. 1848 ออสเตรียก็ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามบรรดาขบวนการชาตินิยม และเสรีนิยมอย่างรุนแรง รวมทั้งยุบเลิกสภาเมืองฟรังค์ฟวร์ต ทำให้ขบวนการดังกล่าวเงียบหายไปจากกระแสสังคมนานหลายปี
การรวมชาติเยอรมนีประสบปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการรวมชาติ กล่าวคือ บรรดารัฐต่าง ๆ ยังคงมีความยึดมั่นในพวกพ้องของตน และต่างสนับสนุนรัฐที่ใหญ่กว่าในการเป็นผู้นำของสมาพันธรัฐเยอรมัน โดยบรรดารัฐทางใต้ต่างสนับสนุนออสเตรียอย่างเต็มที่ เนื่องจากออสเตรียเคยดำรงตำแหน่งรัฐผู้นำของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) ในอดีตมาเป็นเวลานาน แม้กระนั้นดินแดนของออสเตรียก็เต็มไปด้วยผู้คนจากเชื้อชาติอื่นเป็นอันมาก เช่น เชค, แมกยาร์, โปล เป็นต้น ด้านออสเตรียเองก็ขัดขวางขบวนการรวมชาติอย่างแข็งขัน ในขณะที่ปรัสเซีย แม้จะมีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับความเชื่อถือจากบรรดารัฐเยอรมันอื่น ๆ มากพอ
ในเวลานั้นพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 กษัตริย์แห่งปรัสเซีย (Wilhelm I of Prussia) ได้แต่งตั้งอัครมหาเสนาบดีคนใหม่เพื่อช่วยเหลือพระองค์ในการรวมชาติ นั่นคือ ออตโต ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck) ซึ่งบิสมาร์คและนโยบายของเขาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปรัสเซียสามารถเอาชนะรัฐเยอรมันอื่น ๆ และรวมชาติเยอรมันได้สำเร็จในที่สุด
ภาพที่ 6 พระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 กษัตริย์แห่งปรัสเซีย และภายหลังได้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเยอรมนีอีกด้วย
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/William_I,_German_Emperor#/media/File:Kaiser_Wilhelm_I._.JPG
ภาพที่ 7 ออตโต ฟอน บิสมาร์ค อัครมหาเสนบดีแห่งปรัสเซีย ผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมชาติเยอรมนี
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Otto_von_Bismarck#/media/File:Bundesarchiv_Bild_146-2005-0057,_Otto_von_Bismarck.jpg
บิสมาร์คได้ดำเนินนโยบายและกุศโลบายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพปรัสเซีย ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อว่า "นโยบายเลือดและเหล็ก" (Blood and Iron Policy) และการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการแสวงหาพันธมิตรจากชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรป (ระบบการแสวงหาพันธมิตรของบิสมาร์คจะมีผลสืบเนื่องไปจนถึงช่วงก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1) จุดประสงค์สำคัญของนโยบายและกุศโลบายดังกล่าว คือ การเตรียมความพร้อมในการขับไล่ออสเตรียออกจากสหพันธรัฐเยอรมัน โดยบิสมาร์คได้ทดลองความพร้อมของกองทัพครั้งแรกในกรณีปัญหาแคว้นชเลสวิกและโฮลสไตน์ (Schleswig-Holstein Question) ในปี ค.ศ. 1864 และในที่สุดบิสมาร์คก็ได้เหตุในการก่อสงครามกับออสเตรีย และสามารถกำชัยชนะไปได้ในสงคราม 7 สัปดาห์ (Austro - Prussian War) ในปี ค.ศ. 1866 ผลจากสงครามทำให้ออสเตรียหมดอิทธิพลในบรรดารัฐเยอรมัน และต้องเสียดินแดนบางส่วนให้กับปรัสเซีย ด้านปรัสเซียได้ขึ้นมามีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นในกลุ่มรัฐเยอรมันตอนเหนือ
ต่อมาบิสมาร์คได้วางแผนและหาเหตุในการทำสงครามกับฝรั่งเศส สงครามครั้งนี้ถูกเรียกว่า "สงครามฝรั่งเศส - ปรัสเซีย" (Franco - Prussian War) ในสงครามครั้งนี้ปรัสเซียได้เตรียมความพร้อมมาเป็นอย่างดีในการบุกโจมตีฝรั่งเศส ในขณะที่ฝรั่งเศสขาดการเตรียมพร้อมและปราศจากพันธมิตรช่วยเหลือ เนื่องมาจากนโยบายทางการทูตและการแสวงหาพันธมิตรของบิสมาร์ค ผลของสงครามทำให้ฝรั่งเศสต้องยอมแพ้ จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 (The Second French Empire) ล่มสลาย จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) ถูกขับออกจากบังลลังก์ ฝรั่งเศสกลับมาเป็นสาธารณรัฐอีกครั้ง และต้องยกแคว้นอัลซาส (Alsace) และลอร์เรน (Lorrain) อันเป็นแหล่งถ่านหินให้กับปรัสเซีย และต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามที่กำหนด โดยปรัสเซียจะยึดครองภาคเหนือของฝรั่งเศสไว้จนกว่าจะจ่ายครบในปี ค.ศ. 1873 (ผลของสงครามครั้งนี้ได้สร้างความแค้นให้กับชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก และนำไปสู่การร่างสนธิสัญญาแวร์ซายเพื่อแก้แค้นเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง)
การทำสงครามกับฝรั่งเศสได้รับผลสำเร็จตามความคาดหมายของบิสมาร์ค โดยเฉพาะการสร้างความสามัคคีในหมู่ชาวเยอรมัน ซึ่งเกิดความรู้สึกชาตินิยมจากการที่ได้รับชัยชนะเหนือฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้บิสมาร์คจึงสามารถชักชวนบรรดารัฐเยอรมันอื่น ๆ ให้มาร่วมกันภายใต้ร่มธงแห่งเยอรมนีได้ จักรวรรดิเยอรมนี (German Empire - Deutsches Reich) ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1871 ณ ห้องโถงกระจก พระราชวีงแวร์ซาย โดยมีพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 ทรงดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเยอรมนี