1.1 ความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี
การทำปฏิบัติการเคมีส่วนใหญ่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับสารเคมี อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆซึ่งผู้ทำปฏิบัติการต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเอง ผู้อื่นๆ และสิ่งแวดล้อม โดยผู้ปฏิบัติการควรมีความรู้เกี่ยวกับประเภทของสารเคมีที่ใช้ ข้อควรปฏิบัติในการทำปฏิบัติการเคมี และการกำจัดสารเคมีที่ใช้แล้วหลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถทำปฏิบัติการเคมีได้อย่างปลอดภัย
1.1.1 ประเภทของสารเคมี
สารเคมีมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีสมบัติแตกต่างกัน สารเคมีจึงจำเป็นต้องมีฉลากที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอันตรายของสารเคมี เพื่อความผลอดภัยในการวิธีการจัดเก็บ การนำไปใช้ และการกำจัดที่ถูกต้อง
โดยฉลากของสารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการควรมีข้อมูลดังนี้
- ชื่อผลิตภัณฑ์
- รูปสัญลักษณ์ แสดงความเป็นอันตรายของสารเคมี
- คำเตือน ข้อมูลความเป็นอันตราย และข้อควรระวัง
- ข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตสารเคมี

รูปที่ 1.1 ตัวอย่างฉลากสารเคมีกรดไฮโดรคลอลิกเดข้มข้น (Concentrate Hydrochloric Acid)
บนฉลากบรรจุภัณฑ์มีสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายที่สื่อความหมายได้ชัดเจนเพื่อให้ผู้ใช้สังเกตได้ง่าย
สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายมีหลายระบบ ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 ระบบ ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ
- “Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemical” หรือ GHS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้สากล
- “National Fire Protection Association Hazardous Identification System” หรือ NFPA เป็นระบบที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสัญลักษณ์ทั้งสองระบบนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบนบรรจุภัณฑ์สารเคมี
ในระบบ GHS จะแสดงสัญลักษณ์ในสี่เหลี่ยมกรอบสีแดง พื้นสีขาว ลักษณะดังรูป

รูปที่ 1.2 ตัวอย่างสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในระบบ GHS
สำหรับสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในระบบ NFPA จะใช้สีแทนความเป็นอันตรายในด้านต่างๆ ได้แก่
- สีแดงแทนความไวไฟ
- สีน้ำเงินแทนความเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- สีเหลืองแทนความว่องไวในการเกิดปฏิกิริยาเคมี
โดยใส่ตัวเลข 0 ถึง 4 เพื่อระบุความเป็นอันตรายจากน้อยไปหามากและช่องสีขาวใช้ใส่อักษรหรือสัญลักษณ์ที่แสดงสมบัติที่เป็นอันตรายด้านอื่นๆ
ดังตัวอย่างไนรูปที่ 1.3
รูปที่ 1.3 สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายในระบบ NFPA และ สัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตรายของกรดซัวฟิวริก
1.1.2 ข้อควรปฏิบัติในการทำปฏิบัติการเคมี
การทำปฏิบัติการเคมีให้เกิดความปลอดภัยนอกจากต้องทราบข้อมูลของสารเคมีที่ใช้แล้ว ผู้ทำปฏิบัติการควรทราบเกี่ยวกับการปฏิบัติตนเบื้องต้นทั้งก่อน ระหว่าง และ หลังทำปฏิบัติการ
ดังต่อไปนี้
ก่อนทำปฏิบัติการ
- ศึกษาขั้นตอนหรือวิธีการทำปฏิบัติการให้เข้าใจ วางแผนการทดลอง หากมีข้อสงสัยต่องสอบถามครูผู้สอนก่อนที่จะทำการทดลอง
- ศึกษาข้อมูลของสารเคมีที่ใช้ในการทดลอง เทคนิคการใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนวิธีการทดลองที่ถูกต้องและปลอดภัย
- แต่งกายแต่งกายรัดกุมเหมาะสม เช่นสวมกางเกงหรือกระโปรงยาว สวมรองเท้ามิดชิดส้นเตี้ยไม่เปิดส้นเท้า
- คนที่มีผมยาวควรรวบผมให้เรียบร้อย
- หลีกเลี่ยงการสมใส่เครื่องประดับ และคอนแทคเลนส์
ขณะทำปฏิบัติการ
1) ข้อปฏิบัติโดยทั่วไป
ควรให้ความสำคัญในเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยดังนี้
- สวมเสื้อคลุมปฏิบัติการที่ติดกระดุมทุกเม็ด
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันตามความเหมาะสมเช่น สวมแว่นตานิรภัย ควรสวมถึงมือเมื่อต้องใช้สารกัดกร่อนหรือสารที่มีอันตราย ควรสวมผ้าปิดปากเมื่อต้องใช้สารเคมีที่มีไอระเหย และทำปฏิบัติการในที่ซึ่งมีอากาศถ่ายเทหรือในตู้ดูดควัน
ดังรูปที่ 1.4 - ห้ามนำอาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ และเครื่องสำอาง เข้ามาในห้องปฏิบัติการ
- ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม หรือ ทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำปฏิบัติการ
- ไม่ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการตามลำพังคนเดียว เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุชึ้น จะไม่มีใครทราบและไม่อาจช่วยได้ทันท่วงที หากเกิดอุบัติเหตุในห้องปฏิบัติการต้องแจ้งให้ครูผู้สอนทราบทันที
- ไม่เล่นและไม่รบกวนผู้อื่นในขณะที่ทำปฏิบัติการ
- ห้ามใช้ปากดูดปิเปต (pipette) ให้ใช้ลูกยางร่วมกับปิเปตทุกครั้ง
- ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอย่างเคร่งครัด ไท่ทำการทดลองใดๆที่นอกเหนือจากที่ได้รับมอบหมาย และไม่เคลื่อนย้ายสารเคมี เครื่องมือ และอุปกรณ์ส่วนกลางที่ต้องใช้ร่วมกัน นอกจากได้รับอนุญาตจากครูผู้สอนเท่านั้น
- ไม่ปล่อยให้อุปกรณ์ให้ความร้อน เช่น ตะเกียงแอลกอฮอล์ เตาแผ่นความร้อน (hotplate) ทำงานโดยไม่มีคนดูแล และหลังจากใช้งานเสร็จแล้วให้ดับตะเกียงแอลกอฮอล์หรือปิดเครื่องและถอดปลั๊กออกทันที แล้วปล่อยไว้ให้เย็นก่อนการจัดเก็บ เมื่อใช้เตาแผ่นให้ความร้อนต้องระวังไม่ให้สายไฟพาดบนอุปกรณ์
รูปที่ 1.4 การแต่งกายเพื่อทำปฏิบัติการเคมีที่ใช้สารกัดกร่อน สารที่มีอันตราย หรือสารที่มีไอระเหย
2) ข้อปฏิบัติในการใช้สารเคมี
- อ่านชื่อสารเคมีบนฉลากให้แน่ใจก่อนนำสารเคมีไปใช้
- การเคลื่อนย้าย การแบ่ง และการถ่ายเทสารเคมีต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารอันตราย และควรใช้อุปกรณ์ เช่นช้อนตักสารและบีกเกอร์ที่แห้งและสะอาด การเทของเหลวจากขวดบรรจุสารให้เทด้านตรงข้ามฉลาก เพื่อป้องกันความเสียหายของฉลากเนื่องจากการสัมผัสสารเคมี
- การถ่ายเท ผสม หรือให้ความร้อนสารเคมี ควรทำในตู้ดูดควัน
- ห้ามใช้เปลวไฟในการให้ความร้อนแก่ของเหลวไวไฟ หรือในขวนการกลั่น
- ให้ระมัดระวังการจุดไฟ และกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดประกายไฟในห้องปฏิบัติการ
- การทำปฏิกิริยาของสารในหลอดทดลอง ต้องหันปากหลอดออกจากตัวเองและผู้อื่นเสมอ
- ห้ามชิมหรือสูดดมสารเคมีโดยตรง ถ้าจำเป็นต้องทดสอบกลิ่นให้ใช้มือโบกให้ไอของสารเข้าจมูกเพียงเล็กน้อย
- การเจือจางกรด ห้ามเทน้ำลงกรด แต่ให้เทกรดลงน้ำ เพื่อให้น้ำปริมาณมากช่วยถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากการละลาย
- ไม่เทสารเคมีที่เหลือจากการเทหรือตักออกจากขวดสารเคมีแล้วกลับเข้าขวดอย่างเด็ดขาด ให้เทลงภาชนะทิ้งสารที่จัดเตรียมไว้
- เมื่อสารเคมีหกในปริมาณเล็กน้อย ให้กวาดหรือเช็ด แล้วทิ้งลงในภาชนะสำหรบทิ้งสารที่เตรีบมไว้ในห้องปฏิบัติการเพื่อเก็บรวบรวมไปกำจัดต่อไป หากในปริมาณมากให้แจ้งครูผู้สอน
หลังทำปฏิบัติการ
- ทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องแก้ว และวางหรือเก็บในบริเวณที่จัดเตรียมไว้ให้ รวมทั้งทำความสะอาดโต๊ะทำปฏิบัติการ
- ก่อนออกจากก้องปฏิบัติการให้ถอดอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เช่น เสื้อคลุมปฏิบัติการ แว่นตานิรภัย ถุงมือ
การจัดเก็บสารเคมี
สารเคมีหลายตัวเมื่ออยู่ใกล้กันจะทำปฏิกิริยากัน และก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น การจัดเก็บสารเคมีที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องพึงระวังเช่นกัน
สำหรับสารเคมีที่ไม่ควรจัดเก็บไว้ร่วมกัน มีรายละเอียดดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 สารเคมีที่ไม่ควรเก็บร่วมกัน
1.1.3 การกำจัดสารเคมี
สารเคมีที่ใช้แล้วหรือเหลือใช้จากการทำปฏิบัติการเคมี จำเป็นต้องมีการกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต
การกำจัดสารเคมีแต่ละประเภท มีแนวปฏิบัติดังนี้
- สารเคมีที่เป็นของเหลวไม่อันตรายที่ละลายน้ำได้และมี pH เป็นกลาง ปริมาณไม่เกิน 1 ลิตร สามารถเทลงอ่างน้ำและเปิดน้ำตามมากๆ ได้
- สารสะสายเข้มข้นบางชนิด เช่นกรดไฮโรคลอริก โซเดียมไฮดรอกไซด์ ไม่ควรทิ้งลงอ่างน้ำหรือท่อน้ำทันที ควรเจือจางก่อนเทลงอ่างน้ำ ถ้ามีปริมาณมากต้องทำให้เป็นกลางก่อน
- สารเคมีที่เป็นของแข็งไม่เป็นอันตราย ปริมาณไม่เกิน 1 กิโลกรัม สามารถใส่ในภาชนะที่ปิดมิดขิด พร้อมทั้งติดฉลากชื่อสารให้ชัดเจน ก่อนทิ้งในที่ซึ่งจัดเตรียมไว้
- สารไวไฟ ตัวทำละลายที่ไม่ละลายน้ำ สารประกอบของโลหะเป็นพิษ หรือ สารที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ ห้ามทิ้งลงอ่างน้ำ ให้ทิ้งไว้ในภาชนะที่ทางห้องปฏิบัติการจัดเตรียมไว้ให้
1.2 อุบัติเหตุจากสารเคมี
ในการทำปฏิบัติการเคมีอาจเกิดอุบัติเหตุต่างๆ จากการใช้สารเคมีได้ ซึ่งหาก ผู้ทำปฏิบัติการมีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะสามารถลดความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
โดยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากอุบัติเหตุจากการใช้สารเคมี มีข้อปฏิบัติดังนี้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อร่างกายสัมผัสสารเคมี
- ถอดเสื้อผ้าบริเวณที่เปื้อนสารเคมีออก และซับสารเคมีออกจากร่างกายให้มากที่สุด
- กรณีเป็นสารเคมีที่ละลายน้ำได้ เช่น กรดหรือ เบส ให้ล้างบริเวณที่สัมผัสสารเคมีด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านปริมาณมาก เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที
- กรณีเป็นสารเคมีที่ไม่ละลายน้ำ ให้ล้างบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสบู่
- หากทราบว่าสารเคมีที่สัมผัสร่างกายคือสารใด ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในเอกสารความปลอดภัยของสารเคมี (MSDS หรือ SDS)
*** กรณีที่ร่างกายสัมผัสสารเคมีในปริมาณมากหรือมีความเข้มข้นสูง ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วนำส่งแพทย์ ***การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีเข้าตา
ให้ตะแคงศีรษะ โดยให้ตาด้านที่สัมผัสสารเคมีอยู่ด้านล่าง ล้างตาโดยการเปิดน้ำเบาๆ ไหลผ่านดั้งจมูกให้น้ำไหลผ่านตาข้างที่โดยสารเคมี ดังรูปที่ 1.5 พยายามลืมตาและกรอกตาในน้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที หรือ จนกว่าจะแน่ใจว่าชะล้างสารออกหมดแล้ว ระวังไม่ให้น้ำเข้าตาอีกข้างหนึ่ง แล้วรีบนำส่งแพทย์ทันที
รูปที่ 1.5 การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีเข้าตา
การปฐมพยาบาลเมื่อสูดดมแก๊สพิษ
- เมื่อมีแก๊สพิษเกิดขึ้น ต้องรีบออกจากบริเวณนั้นและไปอยู่ในที่ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวกทันที
- หากมีผู้ที่สูดดมแก๊สพิษจนหมดสติหรือไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องรีบเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณนั้นทันที โดยผู้ที่เข้าช่วยเหลือต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันที่เหมะสม เช่นหน้ากากป้องกันแก๊สพิษ ผ้าปิดปาก
- ปลดเสื้อผ้าเพื่อให้ผู้ประสบอุบัติเหตุหายใจได้สะดวกขึ้น หากหมดสติให้จับนอนคว่ำและตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดกั้นทางเดินหายใจ
- สังเกตการเต้นหัวใจและกายหายใจ หากพบว่าผู้ประสบอุบัติเหตุหัวใจหยุดเต้นและหยุดหายใจ ให้นวดหัวใจและผายปอดโดยผู้ที่ผ่านการฝึก แต่ไม่ควรใช้วิธีเป่าปาก (mouth-to-mouth) แล้วนำส่งแพทย์ทันที
การปฐมพยาบาลเมื่อโดนความร้อน
ให้แช่น้ำเย็นหรือปิดแผลด้วยผ้าชุบน้ำจนหายปวดแสบปวดร้อน แล้วทายาขี้ผึ่งสำหรับไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก หากเกิดบาดแผลให้รีบนำส่งแพทย์
***กรณีที่สารเคมีเข้าปากให้ปฏิบัติตามคำแนะนำตามเอกสารความปลอดภัยแล้วนำส่งแพทย์ทันทีทุกกรณี***
รูปที่ 1.6 การปฐมพยาบาลเมื่อโดนน้ำโดนความร้อนหรือน้ำร้อนลวก
1.3 การวัดปริมาณสาร
ในการทำปฏิบัติการเคมี จะมีการวัดปริมาณต่างๆ ซึ่งค่าที่ได้จะมีความคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจเกิดจากอุปกรณ์ที่ใช้หรือผู้ทําปฏิบัติการ และทำให้ผลการทดลองที่ได้เกิดความคลาดเคลื่อนไปจากค่าจริง
ผลการทดลองที่ได้มีความน่าเชื่อถือเพียงใด สามารถพิจารณาได้จากความเที่ยง (precision) และความแม่น (accuracy) ของข้อมูล
ความเที่ยง หมายถึง ค่าที่ได้จากการวัดซ้ำแต่ละค่ามีค่าใกล้เคียงกัน
ความแม่น หมายถึง ค่าเฉลี่ยจากการวัดซ้ำมีค่าใกล้เคียงกับค่าจริงดังนั้น ข้อมูลที่น่าเชื่อถือควรเป็นข้อมูลที่มีการกระจายตัวน้อยและมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกับค่าจริง ซึ่งขึ้นอยู่กับทักษะของผู้ทำการวัดและความละเอียดของอุปกรณ์ที่ใช้

ตัวอย่างแสดงความแม่นยำและความเที่ยงของข้อมูล
อุปกรณ์การวัดที่ใช้ทั่วไปในปฏิบัติการเคมีประกอบด้วย อุปกรณ์วัดปริมาตร และอุปกรณ์วัดมวล ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีระดับความละเอียดของอุปกรณ์และวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน
1.3.1 อุปกรณ์วัดปริมาตร
อุปกรณ์วัดปริมาตรเป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดปริมาตรสารเคมีที่เป็นของเหลว อุปกรณ์ประเภทนี้มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีขีดและตัวเลขแสดงปริมาตรที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน และกําหนดความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ไว้ ดังนั้น ในการเลือกใช้อุปกรณ์วัดปริมาตรจึงต้องคํานึงถึงความเหมาะสมกับปริมาตรและระดับความแม่นที่ต้องการ
อุปกรณ์วัดปริมาตรที่ใช้งานในการทําปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็น
- อุปกรณ์ที่ไม่สามารถบอกปริมาตรได้แม่นมากพอสําหรับการทดลองในบางปฏิบัติการ เช่น บีกเกอร์ (beaker) ขวดรูปกรวย (erlenmeyer flask) กระบอกตวง (measuring cylinder) เป็นต้น อุปกรณ์เหล่านี้มีขีดบอกปริมาตรในระดับมิลลิลิตร มีหลายขนาด
- อุปกรณ์ที่สามารถวัดปริมาตรของของเหลวได้แม่นมากพอสําหรับการทดลองในบางงปฏิบัติการ เช่น ปิเปตต์ (pipette) และบิวเรตต์ (burette) เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรสำหรับถ่ายเทของเหลว ในขณะที่ขวดกำหนดปริมาตร (volumetric flask) เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรของที่บรรจุภายใน มีหลายขนาด
การอ่านปริมาตรของของเหลวในอุปกรณ์วัดปริมาตรของของเหลวที่มีความแม่นยำสูงต้องให้สายตาอยู่ระดับเดียวกันกับระดับส่วนโค้งของของเหลว โดยถ้าส่วนโค้งของของเหลวมีลักษณะเว้า ให้อ่านปริมาตรที่จุดต่ำสุดของส่วนโค้งนั้น แต่ถ้าส่วนโค้งของของเหลวมีลักษณะนูน ให้อ่านปริมาตรที่จุดสูงสุดของส่วนโค้งนั้น การอ่านค่าปริมาตรของของเหลวให้อ่านตามขีดบอกปริมาตรและประมาณค่าทศนิยมตําแหน่งสุดท้าย และการบันทึกค่าปริมาตรที่อ่านได้ให้บันทึกตามปริมาตรและความละเอียดของอุปกรณ์

การอ่านปริมาตรของเหลว
1.3.2 อุปกรณ์วัดมวล
เครื่องชั่ง (balance) เป็น อุปกรณ์สำหรับวัดมวลของสารที่เป็นของแข็งและของเหลว ความน่าเชื่อถือของค่ามวลที่วัดได้ขึ้นอยู่กับความละเอียดของเครื่องชั่งและวิธีการใช้เครื่องชั่ง
เครื่องชั่งที่ใช้ในห้องปฏิบัติการเคมีโดยทั่วไปมี 2 แบบคือ
- เครื่องชั่งแบบสามคาน (triple beam) การบันทึกค่ามวลที่วัดได้นั้นต้องมีการประมาณค่าในตำแหน่งสุดท้าย โดยตัวเลขทศนิยมตําแหน่งสุดท้ายของเครื่องชั่งแบบสามคานมาจากการประมาณของผู้ชั่ง
- เครื่องชั่งไฟฟ้า (electronic balance) การบันทึกค่ามวลที่วัดได้นั้นต้องมีการประมาณค่าในตำแหน่งสุดท้าย ตัวเลขทศนิยมตําแหน่งสุดท้ายของเครื่องชั่งไฟฟ้ามาจากการประมาณของอุปกรณ์
1.3.3 เลขนัยสำคัญ (significant figure)
เลขนัยสำคัญ คือ ตัวเลขที่ได้จากการวัดด้วยเครื่องมือวัดทั้งแบบขีดสเกลและแบบตัวเลข ประกอบด้วย ค่าจริง และ ค่าประมาณ

การปัดตัวเลข (rounding the number)
การปัดตัวเลขให้พิจารณาจากตัวเลขที่อยู่ถัดจากตําแหน่งที่ต้องการดังนี้
- กรณีที่ตัวเลขถัดจากตําแหน่งที่ต้องการมีค่าน้อยกว่า 5 ให้ตัดตัวเลขที่อยู่ถัดไปทั้งหมด (ปัดลง)
เช่น
5.7432 ถ้าต้องการเลขนัยสําคัญ 2 ตัว ปัดเป็น 5.7 ถ้าต้องการเลขนัยสําคัญ 3 ตัว ปัดเป็น 5.74
- กรณีที่ตัวเลขถัดจากตําแหน่งที่ต้องการมีค่ามากกว่า 5 ให้เพิ่มค่าของตัวเลขตําแหน่งสุดท้ายที่ต้องการอีก 1 (ปัดขึ้น)
เช่น
3.7892 ถ้าต้องการเลขนัยสําคัญ 2 ตัว ปัดเป็น 3.8 ถ้าต้องการเลขนัยสําคัญ 3 ตัว ปัดเป็น 3.79
- กรณีที่ตัวเลขถัดจากตําแหน่งที่ต้องการมีค่าเท่ากับ 5 และมีตัวเลขอื่นที่ไม่ใช่ 0 ต่อจากเลข 5 ให้เพิ่มค่าของตัวเลขตําแหน่งสุดท้ายที่ต้องการอีก 1 (ปัดขึ้น)
เช่น
2.1652 ถ้าต้องการเลขนัยสําคัญ 3 ตัว ปัดเป็น 2.17
กรณี ที่ตัวเลขถัดจากตําแหน่งที่ต้องการมีค่าเท่ากับ 5 และมี 0 ต่อจากเลข 5 ให้พิจารณาโดยใช้หลักการในข้อ 4
- กรณีที่ตัวเลขถัดจากตําแหน่งที่ต้องการมีค่าเท่ากับ 5 และไม่มีเลขอื่นต่อจากเลข 5 ต้องพิจารณาตัวเลขที่อยู่หน้าเลข 5
ดังนี้
4.1 หากตัวเลขที่อยู่หน้าเลข 5 เป็นเลขคี่ ให้ตัวเลขดังกล่าวบวกค่าเพิ่มอีก 1 แล้วตัดตัวเลขตั้งแต่เลข 5 ไปทั้งหมด เช่น 0.635 ถ้าต้องการเลขนัยสําคัญ 2 ตัว ปัดเป็น 0.64
4.2 หากตัวเลขที่อยู่หน้าเลข 5 เป็นเลขคู่ ให้ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขเดิม แล้วตัดตัวเลขตั้งแต่เลข 5 ไปทั้งหมด เช่น 0.645 ถ้าต้องการเลขนัยสําคัญ 2 ตัว ปัดเป็น 0.64
สําหรับการคํานวณหลายขั้นตอน การปัดตัวเลขของผลลัพธ์ให้ทําในขั้นตอนสุดท้ายของการคํานวณ
การบวกลบ ผลลัพธ์ที่ได้จะมีจำนวนตัวเลขที่อยู่หลังจุดทศนิยมเท่ากับข้อมูลที่มีจำนวนตัวเลขที่อยู่หลังจุดทศนิยมที่น้อยที่สุด
การคูณหาร ผลลัพธ์ที่ได้จะมีตัวเลขนัยสำคัญเท่ากับจำนวนตัวเลขนัยสำคัญที่น้อยที่สุดของข้อมูลตัวเลขที่นำมาคูณหรือหารกัน
การคำนวณที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขที่แม่นตรง ไม่ต้องพิจารณาเลขนัยสําคัญของตัวเลขที่แม่นตรง
1.4 หน่วยวัด
หน่วยเอสไอ (SI units) เป็นหน่วยวัดสากลสำหรับระบุหน่วยของการวัดปริมาณต่าง ๆ ในทางเคมี เป็นหน่วยที่ดัดแปลงจากหน่วยเมทริกซ์ ประกอบด้วย
- หน่วยเอสไอแบ่งเป็นหน่วยพื้นฐาน (SI base units) เป็นหน่วยที่ไม่ขึ้นต่อกัน และสามารถนําไปใช้ในการกําหนดหน่วยอื่นๆ ได้
- หน่วยเอสไออนุพันธ์ (Derived SI units) เป็นหน่วยอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันทางคณิตศาสตร์ของหน่วยเอสไอ
- หน่วยนอกระบบเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยอื่นที่ได้รับการยอมรับและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นเดียวกัน
การเปลี่ยนหน่วยวัดจากหน่วยหนึ่งไปเป็นอีกหน่วยหนึ่ง เช่น จากพลังงานในหน่วยแคลอรีไปเป็นจูล หรือในทางกลับกัน สามารถทำได้โดยใช้วิธีการเทียบหน่วยซึ่งต้องใช้แฟกเตอร์เปลี่ยนหน่วย

1.5 วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method)
การทำปฏิบัติการเคมี ประกอบด้วย การวางแผนการทดลอง การทำการทดลอง การบันทึกข้อมูล การสรุปและวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอข้อมูล และการเขียนรายงานการทดลอง ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่มีแบบแผน ขั้นตอน ดังนี้
- การสังเกต หมายถึง การสังเกตโดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การมองเห็น การฟังเสียง การได้กลิ่น การรับรส และการสัมผัส เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกตมาตั้งเป็นคําถามหรือระบุปัญหาที่ต้องการคําตอบ
- การตั้งสมมติฐาน เป็นการคาดคะเนคําตอบที่อาจเป็นไปได้ของคําถามหรือปัญหา
- การตรวจสอบสมมติฐาน เป็นกระบวนการหาคําตอบของสมมติฐาน
- การรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผล เป็นการนําข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การตรวจสอบสมมติฐาน มารวบรวม วิเคราะห์ และอธิบายข้อเท็จจริง
- การสรุปผล เป็นการสรุปความรู้หรือข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบสมมติฐาน และเปรียบเทียบกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ก่อนหน้า
การเขียนรายงาน เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อช่วยให้ผู้ทำการทดลองมีข้อมูลไว้อ้างอิง และใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อให้ผู้อื่นสามารถนําไปศึกษาและปฏิบัติตามได้
ดังนั้น หัวข้อที่ควรมีในรายงานการทดลองจะประกอบด้วย
- ชื่อการทดลอง
- จุดประสงค์
- สมมติฐานและการกําหนดตัวแปร
- อุปกรณ์และสารเคมี
- วิธีการทดลอง
- ผลการทดลอง
- อภิปรายและสรุปผลการทดลอง
ในการศึกษาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นอกเหนือจากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับผู้ทำการทดลองเคมีแล้ว ผู้ทำการทดลองยังต้องมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (scientific process skill) และจิตวิทยาศาสตร์ (scientific mind)
ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็น ความสามารถและความชํานาญในการคิด เพื่อค้นหาความรู้และแก้ไขปัญหา
ประกอบด้วย 14 ทักษะ คือ
- การสังเกต
- การวัด
- การลงความเห็นจากข้อมูล
- การจําแนกประเภท
- การหาความสัมพันธ์ของสเปซกับเวลา
- การใช้จํานวน
- การจัดกระทําและสื่อความหมายข้อมูล
- การพยากรณ์
- การตั้งสมมติฐาน
- การกําหนดนิยามเชิงปฏิบัติการ
- การกําหนดและควบคุมตัวแปร
- การทดลอง
- การตีความหมายข้อมูลและลงข้อสรุป
- การสร้างแบบจําลอง
จิตวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม หรือลักษณะนิสัย ที่เป็นผลมาจากประสบการณ์และการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีต่อความรู้หรือสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์
ได้แก่
- ความสนใจใฝ่รู้
- การใช้วิจารณญาณ
- ความใจกว้าง
- ความซื่อสัตย์
- ความมุ่งมั่น
- อดทน
- ความรอบคอบ
- ความรับผิดชอบ
- ความซื่อสัตย์
- ประหยัด
- การร่วมแสดงความคิดเห็นและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
- ความมีเหตุผล
- การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์
- การเห็นความสําคัญและคุณค่าของวิทยาศาสตร์
ในการศึกษาความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้น ผู้เรียนยังต้องคํานึงถึงจริยธรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความถูกต้องในการศึกษาวิทยาศาสตร์ที่มีต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างจริยธรรมทางวิทยาศาสตร์ เช่น
ความซื่อสัตย์ในการรายงานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การอ้างอิงแหล่งของข้อมูลต่าง ๆ ความรับผิดชอบต่อสังคมหรือสภาพแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง.