เซลล์เคมีไฟฟ้า
เซลล์เคมีไฟฟ้า (electrochemical cell) เป็นอุปกรณ์ที่ต่อครบวงจรเพื่อแสดงให้เห็นว่าภายในเซลล์มีการให้และรับอิเล็กตรอน เซลล์เคมีไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. เซลล์กัลวานิก (Galvanic cell) คือ เซลล์ไฟฟ้าเคมีที่เปลี่ยนพลังงานเคมีเป็น พลังงานไฟฟ้า เกิดจากสารเคมีทำปฏิกิริยากันในเซลล์ แล้วเกิดกระแสไฟฟ้า
เช่น ถ่านไฟฉาย เซลล์อัลคาไลน์ เซลล์ปรอท เซลล์เงิน แบตเตอรี่
2. เซลล์อิเล็กโทรไลต์ (electrolytic cell) เป็นเซลล์ไฟฟ้าที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานเคมี ซึ่งต้องผ่านกระแสไฟฟ้าภายนอกเข้าไปในเซลล์แล้วจึงเกิดปฏิกิริยาเคมี
เช่น เซลล์แยกน้ำด้วยไฟฟ้าหรือการชุบโลหะด้วยไฟฟ้า เป็นต้น
เซลล์กัลวานิก
เซลล์กัลวานิก (galvanic cell) หรือ เซลล์โวลตาอิก (voltaic cell) คือ เป็นเซลล์ไฟฟ้าเคมีที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยทั่วไป ประกอบด้วยครึ่งเซลล์ 2 ครึ่งเซลล์มาต่อเข้าด้วยกัน จะมีแท่งโลหะซึ่งเป็นขั้วไฟฟ้าจุ่มอยู่ในสารละลายที่มีไอออนของโลหะนั้น ปลายทั้ง 2 ของขั้วไฟฟ้าจะต่ออยู่กับมิเตอร์สำหรับวัดความต่างศักย์ และครึ่งเซลล์ทั้ง 2 จะเชื่อมต่อให้ครบวงจรด้วยสะพานไอออน หรือสะพานเกลือ
ดังรูป

รูปแสดงลักษณะของเซลล์กัลวานิกทั่วไป
ส่วนประกอบของเซลล์กัลวานิก
- ขั้วไฟฟ้า ซึ่งมี 2 ชนิด คือ
- ขั้วว่องไว (Active electrode) ได้แก่ ขั้วโลหะทั่วไป เช่น Zn , Cu , Pb
- ขั้วเฉื่อย (Inert electrode) คือ ขั้วที่ไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการเกิดปฏิกิริยาเคมี เช่น Pt , C (แกร์ไฟต์)
ในเซลล์ไฟฟ้าหนึ่ง ๆ จะต้องประกอบไปด้วยขั้วไฟฟ้า 2 ขั้วเสมอ คือ ขั้วแอโนด (Anode) คือ ขั้วที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน และ ขั้วแคโทด (Cathode) คือ ขั้วที่เกิดปฏิกิริยารีดักชัน
- อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) คือ สารที่สถานะเป็นของเหลว นำไฟฟ้าได้ เพราะมีไอออนบวกและลบเคลื่อนที่ไปมา
อิเล็กโทรไลต์มี 2 ชนิด คือ
- สารประกอบไอออนิกหลอมเหลว เช่น NaCl (s) → Na+ (l) + Cl- (l)
- สารละลายอิเล็กโทรไลต์ เช่น สารละลายกรด เบส และเกลือ
- สะพานเกลือ คือ ตัวเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าภายในของแต่ละครึ่งเซลล์เข้าด้วยกันให้ครบวงจรถ้าไม่มีสะพานไอออนจะไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลในวงจร เนื่องจาก ไม่ครบวงจร ซึ่งสะพานไอออนทำหน้าที่รักษาสมดุลระหว่างไอออนในครึ่งเซลล์ทั้งสอง ในขณะเกิดปฏิกิริยาไอออนในสะพานไอออนจะถูกใช้ไป กล่าวคือ ด้านใดขาดไอออนบวก ไอออนบวกจากสะพานไอออนจะเคลื่อนที่ไปชดเชย ด้านใดขาดไอออนลบ ไอออนลบจากสะพานไอออนจะเคลื่อนที่ไปชดเชย
- โวลต์มิเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดค่าศักย์ไฟฟ้า
ตัวอย่างเซลล์กัลวานิก
ครึ่งเซลล์ | oxidation | reduction |
ขั้วไฟฟ้า | แอโนด (ลบ) | แคโทด (บวก) |
ครึ่งปฏิกิริยา | Zn(s) → Zn2+(aq) + 2e- | Cu2+(aq) + 2e- → Cu(s) |
ปฏิกิริยารีดอกซ์ : Zn(s) + Cu2+(aq) ⇋ Zn2+(aq) + Cu(s) |
แผนภาพเซลล์เคมีไฟฟ้า : Zn(s) | Zn2+(aq) || Cu2+(aq) | Cu(s) |

การเขียนแผนภาพของเซลล์กัลวานิก
การเขียนแผนภาพของเซลล์กัลวานิก คือ กลุ่มสัญลักษณ์ที่แสดงเซลล์กัลวานิกหนึ่ง ๆ ซึ่งบอกให้ทราบถึงชนิดของครึ่งเซลล์ องค์ประกอบของแต่ละครึ่งเซลล์ และขั้วไฟฟ้าของเซลล์
โดยมีหลักการในการเขียนดังนี้
เป็นการเขียนสัญลักษณ์แสดงส่วนประกอบของเซลล์ ซึ่งมีหลักการดังนี้
- เขียนครึ่งเซลล์ที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (ขั้วแอโนด) ไว้ทางซ้าย คั่นด้วยสะพานเกลือ (II) แล้ว เขียนครึ่งเซลล์ที่เกิดปฏิกิริยารีดักชัน (ขั้วแคโทด) ไว้ทางขวา
- ในแต่ละครึ่งเซลล์ ให้เขียนขั้วไฟฟ้าของครึ่งเซลล์ที่เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันไว้ทางซ้ายสุด ส่วนขั้วไฟฟ้าของครึ่งเซลล์ที่เกิดปฏิกิริยารีดักชันให้เขียนไว้ทางขวาสุด และใช้เส้นเดี่ยว (I) คั่นระหว่างสารที่มีสถานะต่างกันถ้าสารอยู่ในสถานะเดียวกันให้คั่นด้วยเครื่องหมายจุลภาค (,) รวมทั้งระบุสถานะของสารโดยใช้ (s คือของแข็ง) (l คือของเหลว) (g คือแก๊ส) (aq คือ สารละลาย)
เช่น
Fe(s)|Fe2+(aq) หรือ Pt(s)|Fe3+ (aq), Fe2+(aq)
- สำหรับครึ่งเซลล์บางชนิด เช่น ครึ่งเซลล์ที่มีแก๊สมาเกี่ยวข้อง จะใช้ขั้วไฟฟ้าเฉื่อยซึ่งทำจาก วัสดุนำไฟฟ้าที่ไม่ทำปฏิกิริยากับแก๊ส และอิเล็กโทรไลต์ เช่น ขั้วแพลทินัม ขั้วคาร์บอน ซึ่งให้ อิเล็กตรอนเคลื่อนที่ผ่านได้ ส่วนสารในครึ่งเซลล์ที่มีสถานะเป็นแก๊สต้องระบุความดันของแก๊ส ไว้ในวงเล็บ และใช้เครื่องหมายจุลภาคคั่นระหว่างสถานะกับความดัน
เช่น
Pt(s)|H2(g, 1 atm)|H+(aq)
- การระบุความเข้มข้นของไอออนในสารละลายให้เขียนไว้ในวงเล็บ
เช่น
Mg(s)|Mg2+(aq, 1 mol/dm3)||Fe3+(aq, 1 mol/dm3) , Fe2+ (aq, 1 mol/dm3)|Pt(s)
Zn(s)|Zn2+ (aq, 1 mol/dm3)||H+,(aq, 1 mol/dm3)|H2(g, 1 atm)|Pt(s)