ปฏิกิริยาเคมีที่อยู่ในภาวะสมดุล ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงทั้งไปข้างหน้าและย้อนกลับเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดเวลาด้วยอัตราเร็วที่เท่ากัน โดยมีสมบัติเหล่านี้ของระบบคงที่ เช่น ความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์ และสารตั้งต้นในระบบ
แต่เมื่อมีการรบกวนสมดุลของระบบด้วย 3 ปัจจัยคือ ความเข้มข้นของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ อุณหภูมิ และความดัน 3 ปัจจัยนี้จะทำให้ปฏิกิริยาเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบไปข้างหน้าหรือย้อนกลับเพื่อปรับเข้าสู่สมดุลอีกครั้ง เรียกหลักการนี้ว่า หลักของเลอชาเตอลิเอ
โดยมีหลักเกณฑ์โดยสรุปดังนี้
- ความเข้มข้นของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์มีผลต่อภาวะสมดุลของระบบ แต่ไม่มีผลต่อค่าคงที่สมดุล การปรับเข้าสู่สมดุลใหม่จะเกิดขึ้น โดยค่าคงที่สมดุลจะมีค่าเท่าเดิม
- ความดัน การเปลี่ยนแปลงความดันไม่มีผลต่อภาวะสมดุลของสารในสถานะของเหลวหรือของแข็ง เนื่องจากของเหลวและของแข็งมีปริมตรคงที่ แต่มีผลโดยตรงต่อภาวะสมดุลของปฏิกิริยาที่มีสารในสถานะแก๊สเท่านั้น ทั้งนี้การรบกวนปฏิกิริยาโดยความดันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ จำนวนโมลรวมของแก๊สที่เป็นสารตั้งต้นไม่เท่ากับจำนวนโมลของแก๊สในผลิตภัณฑ์ โดยการเปลี่ยนแปลงความดันของแก๊สมีผลต่อการรบกวนสมดุลในลักษณะเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้น คือที่สมดุลใหม่จะมีความเข้มข้นของแก๊สเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ค่าคงที่สมดุลไม่เปลี่ยนแปลง
- อุณหภูมิ ขึ้นกับชนิดของปฏิกิริยาว่าเป็นแบบคายความร้อนหรือดูดความร้อน โดยมีผลต่อระบบสมดุลและมีผลต่อค่าคงที่สมดุลด้วย กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ ปฏิกิริยาคายความร้อน การลดอุณหภูมิทำให้ได้ผลิตภัณฑ์มากขึ้นและค่าคงที่สมดุลมากขึ้น แต่ถ้าเป็นปฏิกิริยาดูดความร้อน การลดอุณหภูมิทำให้ได้ผลิคภัณฑ์น้อยลงและค่าคงที่สมดุลลดลง ดังนั้นในการบอกค่าคงที่สมดุลใดๆ จะต้องระบุอุณหภูมิไว้ด้วย
สรุปได้ดังตารางนี้
