ในสมัยกลาง บรรดาสินค้าจากตะวันออกที่เป็นที่ต้องการของชาวตะวันตก และทำกำไรมหาศาลให้แก่พ่อค้า ได้แก่ ผ้าไหมจากจีน, เครื่องเทศจากหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, แร่ทองคำและเงินจากเอเชียกลาง สำหรับเส้นทางการค้าระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกต้องใช้เส้นทางทางบกเป็นเส้นทางหลัก ชาวยุโรปสามารถเดินทางไปตะวันออกโดยผ่านทางดินแดนตะวันออกกลาง เช่น การเดินทางของมาร์โคโปโลเดินไปยังจีน แม้กระนั้นเส้นทางบกกลับไม่ได้รับความนิยมจากชาวยุโรป สืบเนื่องมาจากสาเหตุ ดังนี้
การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบากและมีอันตราย
ตามเส้นทางมีการกีดกันและผูกขาดทางการค้าโดยเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางที่ผ่าน
เส้นทางการเดินทางมีระยะไกลมากทำให้มีกำไรน้อย
ตามเส้นทางการเดินทางถูกควบคุมโดยจักรวรรดิอิสลามที่เป็นศัตรูกับชาวยุโรป
ความต้องการทางการค้า เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวตะวันตกพยายามที่จะหาเส้นทางการค้าทางทะเลแทนการค้าทางบกที่พวกมุสลิมเติร์กยึดครองไว้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ชาวยุโรปพยายามหาเส้นทางทางทะเล
เริ่มด้วยโปรตุเกส โดยเจ้าชายเฮนรี ราชนาวิก (Henri The Navigator) ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนราชนาวีขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมวิทยาการใหม่ ๆ และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับการเดินทะเล ในช่วงเวลานี้เทคโนโลยีด้านการเดินเรือ เช่น ความรู้ในเรื่องการใช้เข็มทิศ การใช้กล้องส่องทางไกลและการดูดาว มีการพัฒนาเทคนิครูปทรงและขนาดของเรือให้มีประสิทธิภาพในการเดินเรือทะเลเพิ่มขึ้น เป็นผลให้นักเดินเรือชาวโปรตุเกส บาร์โทโลมิว ไดแอส (Bartolomeu Dias) สามารถเดินเรือมาจนถึงแหลมกู๊ดโฮป (Good Hope Cape) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ในปี ค.ศ. 1488 และในปี ค.ศ. 1498 วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) ได้เดินเรือตามเส้นทางของไดแอส จนมาถึงฝั่งที่เมืองกาลิกัต (Calicut) ของอินเดียได้ในที่สุด ยุโรปจึงเข้าสู่ยุคแห่งการค้นพบและการสำรวจ
ภาพที่ 1 เจ้าชายเฮนรี่ นาวิกราช ผู้บุกเบิกศาสตร์การเดินเรือของตะวันตก
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Prince_Henry_the_Navigator#/media/File:Henry_the_Navigator1.jpg
ภาพที่ 2 วาสโก ดา กามา นักเดินเรือชาวโปรตุเกสที่สามารถเดินเรือตามเส้นทางของไดแอส จนมาถึงฝั่งที่เมืองกาลิกัต (Calicut)ของอินเดียได้ในที่สุด
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Vasco_da_Gama#/media/File:Lisboa-Museu_Nacional_de_Arte_Antiga-Retrato_dito_de_Vasco_da_Gama-20140917.jpg
ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 - 18 หลายชาติในยุโรปมีการเดินทางรอบโลกเพื่อค้นหาเส้นทางใหม่ทางทะเล ทำให้พบดินแดนและแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น
นักเดินเรือชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เริ่มต้นการเดินทางไกลในทะเลเพื่อไปยังดินแดนใหม่ ๆ ของโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าชายเฮนรี เริ่มต้นด้วยการเดินเรือในมหาสมุทรแอตแลนติก ค้นพบเกาะมาเดย์รา (Madeira) เมื่อ ค.ศ. 1419 และหมู่เกาะอะโซร์ส (Azores) เมื่อ ค.ศ. 1427 ต่อมาทั้งเกาะมาเดย์ราและอะโซร์สเป็นเมืองอาณานิคมของโปรตุเกส การสำรวจครั้งสำคัญของเจ้าชายเฮนรีแห่งโปรตุเกส คือ การเดินทางไปยังดินแดนทางชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา โดยชาวโปรตุเกสพัฒนาความก้าวหน้าด้านการเดินเรือไปอย่างช้า ๆ
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงแห่งการแข่งขันอำนาจทางทะเลระหว่างสเปนกับโปรตุเกส สันตะปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่ 6 ได้ให้สเปนและโปรตุเกสทำ "สนธิสัญญาทอร์เดซียัส" (Tordesillas Treaty) โดยให้สเปนมีสิทธิในการสำรวจและยึดครองดินแดนทางด้านตะวันตก ส่วนโปรตุเกสได้สิทธิทางด้านตะวันออก สนธิสัญญาดังกล่าวนี้นำไปสู่การยึดครองดินแดนต่าง ๆ เป็นอาณานิคม
ภาพที่ 3 สนธิสัญญาทอร์เดซียัส
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Treaty_of_Tordesillas#/media/File:Treaty_of_Tordesillas.jpg
ภาพที่ 4 เส้นแบ่งเชตอิทธิพลระหว่างสเปนและโปรตุเกส
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Treaty_of_Tordesillas#/media/File:Spain_and_Portugal.png
สเปน สามารถยึดครองโปรตุเกสได้ใน ค.ศ. 1580 ทำให้โปรตุเกสตกอยู่ใต้อำนาจสเปนจนถึง ค.ศ. 1640 การแข่งขันทางทะเลระหว่างสเปนกับโปรตุเกสจึงสิ้นสุดลง
ฮอลันดา หรือเนเธอร์แลนด์ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนใจเส้นทางการค้าทางทะเล เดิมชาวดัตช์ (Dutch) ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าเครื่องเทศแถบยุโรป ภายหลังจากที่ฮอลันดาสามารถแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนและพัฒนากองเรือให้เข้มแข็งได้ ก็สามารถแย่งชิงเส้นทางการค้าและเข้าแทนที่อิทธิพลโปรตุเกสได้สำเร็จ
อังกฤษ ในสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 1 เป็นยุคสำคัญแห่งการสำรวจและการขยายอำนาจของอังกฤษ หลังจากที่สามารถทำสงครามชนะกองเรืออันแข็งแกร่งของสเปน ทำให้อังกฤษเริ่มหาอาณานิคมในดินแดนโพ้นทะเลโดยเข้าไปมีบทบาทในการค้าแถบเอเชีย ต่อมาอังกฤษก็สามารถมีอำนาจทางทะเลเหนือโปรตุเกส มีอิทธิพลในอินเดียและอ่าวเปอร์เซียในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จนอังกฤษกลายเป็นคู่แข่งทางการค้ากับฮอลันดา
ฝรั่งเศส ได้เริ่มต้นสำรวจอเมริกาเหนือ เมื่อสามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือเข้าสู่อ่าวเซนต์ลอว์เรนซ์ (Gulf of Saint Lawrence) ได้สำเร็จ และได้ก่อตั้งชุมชนถาวรเป็นแห่งแรกที่บริเวณเมืองควิเบก (Quebec) แม้กระนั้นฝรั่งเศสยังต้องแข่งขันการค้าขนสัตว์กับอังกฤษมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสก็สามารถขยายดินแดนไปจนถึงเขตลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้และแม่น้ำสาขา จนสามารถตั้งอาณานิคมลุยเซียนาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ถึงอย่างไรก็ตามยังคงมีความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจตลอดเวลา จนกระทั่งเมื่อฝรั่งเศสพ่านแพ้ในสงคราม 7 ปี (7 Years War) และต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาปารีส ปี ค.ศ. 1763 (Paris Treaty 1763) ส่งผลให้ฝรั่งเศสต้องยกแคนาดารวมทั้งดินแดนลุยเซียนาทั้งหมดที่อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ยกเมืองนิวออร์ลีนส์และลุยเซียนาส่วนตะวันตกให้แก่สเปน
1. อารยธรรมยุโรปได้แผ่ขยายไปสู่ดินแดนต่าง ๆ เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้าง ภาษา อาหาร การแต่งกาย ระบบการปกครอง และศิลปกรรมตะวันตก
2. ชาวยุโรปได้รับวัฒนธรรมจากดินแดนต่าง ๆ เช่น ศิลปะจีนและมุสลิมอาหรับ
3. เกิดการแพร่กระจายพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เช่น ชาวยุโรปได้นำเมล็ดกาแฟจากตะวันออกกลางมาปลูกที่เกาะชวาและอเมริกาใต้ มันฝรั่งและข้าวโพดจากทวีปอเมริกามาปลูกที่ยุโรป
4. ศาสนาคริสต์ นิกายโนมันคาทอลิก ได้แผ่ขยายไปในดินแดนอาณานิคมต่าง ๆ โดยชาวยุโรปใช้ทั้งสันติวิธีและวิธีการที่รุนแรงเพื่อบังคับให้ชาวพื้นเมืองนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
5. มีการนำทาสหรือคนพื้นเมืองในดินแดนอาณานิคมที่ด้อยความเจริญมาเป็นแรงงานในเหมืองแร่และไร่ขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกาและยุโรป อันส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมสืบจนถึงปัจจุบัน