การฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance)
การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หมายถึง การฟื้นฟูความรู้ด้านศิลปวิทยาการและภูมิปัญญาของกรีกและโรมันซึ่งเริ่มต้นขึ้นที่นครรัฐต่าง ๆ ในอิตาลี ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 ต่อมาได้ขยายตัวไปสู่ฝรั่งเศส กลุ่มรัฐเยอรมัน อังกฤษ สเปน และฮอลันดา ตามลำดับ ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ชาวตะวันตกได้หลุดพ้นจากอิทธิพลของคริสต์ศาสนาและเหล่าขุนนาง แล้วหันมาสนใจงานด้านศิลปะและวิทยาการสมัยกรีก - โรมันแทน
สาเหตุของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ
- การฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นผลมาจากการขยายตัวทางการค้า ทำให้ยุโรปโดยเฉพาะนครรัฐบนคาบสมุทรอิตาลีเจริญมั่งคั่งมากขึ้น อีกทั้งบรรดานักปราชญ์และผู้รู้ที่ได้อพยพหนีภัยพวกเติร์กมาจากตะวันออก ได้นำความรู้และวิทยาการสมัยกรีก - โรมัน มาเผยแพร่สู่ดินแดนในทวีปยุโรป สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้ความคิดของชาวยุโรปที่มีต่อกฏข้อบังคับของคริสต์ศาสนาเปลี่ยนไปและเริ่มเข้าใจว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะพัฒนาชีวิตของตนเองได้ ชาวอิตาลีได้หันความสนใจปัจเจกชนนิยมและคติทางโลก
- นอกจากนี้ยังเกิดความเสื่อมศรัทธาในสถาบันคริสต์ศาสนา เพราะมีการพบเห็นการซื้อขายตำแหน่งสมณศักดิ์ของบาทหลวง ความเป็นอยู่ที่หรูหราและฟุ่มเฟือยของบาทหลวงชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ บาทหลวงชาวเยอรมันนามว่า มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) จึงได้ตั้งข้อโต้แย้ง 95 ข้อ (95 Theses) เพื่อตั้งคำถามต่อศาสนจักรในประเด็นดังกล่าว อันนำไปสู่การปฏิรูปศาสนา (Reformation) และการกำเนิดนิกายโปรแตสแตนท์ (Protestant) ในเวลาต่อมา กอปรกับการรับวัฒนธรรมตะวันออกในสงครามครูเสดทำให้ชาวยุโรปหันมาสนใจผลงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้งานเขียนและวรรณกรรมของกรีกและโรมันโบราณกันอย่างกว้างขวาง
- ผู้ที่สนใจศึกษางานคลาสสิคของสมัยโบราณเรียกว่า พวกมนุษยนิยม (Humanist) ซึ่งเชื่อมั่นในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่มีสติปัญญา ความสามารถและความมีเหตุผล เน้นการสร้างความสุขและความสำเร็จของชีวิตด้วยตนเอง อันเป็นค่านิยมแบบใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเจ้านครในอิตาลี เช่น ฟลอเรนซ์, มิลาน, และเวนิส ทำให้มีการนำวรรณกรรมและปรัชญาของกรีกและโรมัน แปลเป็นภาษาละตินเผยแพร่ในยุโรปได้กว้างขวางมากขึ้น โดยบุคคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งมนุษยนิยม คือ "ฟรันเชสโก เปตรากา" (Francisco Petrarca)หรือ "เปทราก" (Petrach)

ภาพที่ 1 ภาพวาดเปทราก บิดาแห่งมนุษยนิยม
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Petrarch#/media/File:Francesco_Petrarca00.jpg
ผลงานในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่สำคัญ
ด้านศิลปกรรม
ผลงานด้านจิตรกรรมและประติมากรรมได้สืบทอดความนิยมของศิลปะแบบคลาสสิคของกรีกและโรมันที่สร้างศิลปะเป็นธรรมชาติคือ การให้ความสนใจต่อความสวยงามของสรีระของมนุษย์ ส่วนใหญ่ยังคงใช้ศาสนาและเทพนิยายดั้งเดิมเป็นเค้าเรื่อง แต่ได้บรรยายด้วยทัศนะและวิธีการของโลกสามัญธรรมดา สิ่งเหล่านี้แสดงออกอย่างเด่นชัดมากในงานของจิตรกรชาวอิตาลี เช่น ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) มิเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี (Michelangelo Buonarroti) และราฟาเอล ซันซีโอ (Raphael Sanzio)
ลีโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) ได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาศิลปิน” เนื่องจากเป็นศิลปินที่มีความรู้ในสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม ชีววิทยา กายวิภาคศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยนำความรู้ด้านต่าง ๆ มาถ่ายทอดในงานจิตรกรรมได้เป็นอย่างดี ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ ภาพพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู (The Last Supper) และภาพโมนา ลิซา (Mona Lisa)

ภาพที่ 2 ภาพวาดโมนา ลิซ่า หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของดาวินชี
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Mona_Lisa#/media/File:Mona_Lisa,_by_Leonardo_da_Vinci,_from_C2RMF_retouched.jpg

ภาพที่ 3 ภาพวาดพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซู
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/The_Last_Supper_(Leonardo)#/media/File:The_Last_Supper_-_Leonardo_Da_Vinci_-_High_Resolution_32x16.jpg
มิเกลันเจโล บูโอนาร์โรตี (Michelangelo Buonarroti) เป็นศิลปินที่โด่งดังด้านประติมากรรม ผลงานที่สำคัญเป็นรูปสลักผู้ชายแสดงสัดส่วนของกล้ามเนื้อร่างกาย เช่น รูปสลักเดวิด (David) รูปสลักลาปิเอตา (La Pieta) ซึ่งเป็นรูปสลักพระมารดากำลังประคองพระเยซู หลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว และจิตรกรรมฝาผนังที่เพดานและฝาผนังของโบสถ์ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์
ภาพที่ 4 รูปปั้นดาวิด ผลงานชิ้นสำคัญของมิเกลันเจโล
ด้านวรรณกรรม
วรรณกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีกรีก-โรมันผ่านมาทางอิตาลีและแผ่ขยายไปในประเทศต่างๆ ในยุโรป นักเขียนสมัยนื้ได้ยึดแนวทางมนุษยนิยม ใช้ภาษาละตินสะท้อนความคิดต่อต้านแนวคิดขนบนิยมของคริสต์ศาสนา ผสมผสานกับแนวคิดปรัชญากรีก-โรมัน
งานประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองในยุคนี้ สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางความคิดในการต่อต้านคริสต์ศาสนาหรือแสดงออกถึงปรัชญาทางการเมือง เช่น
- เรื่องเดคาเมรอน (Decameron) ของโจวันนี บอกกัชโซ (Giovanni Boccaccio) เป็นเรื่องเสียดสีสังคม
- เรื่องเจ้าผู้ปกครอง (The Prince) ของนิคโคโล มาเคียวัลลี (Niccol Machiaveli)
ซึ่งอธิบายลักษณะของผู้ปกครองว่าต้องมีอำนาจและใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครอง - เรื่องยูโทเปีย (Utopia) ของเซอร์โทมัส มอร์ (Sir Thomas More) กล่าวถึงเมืองในอุดมคติที่มนุษย์ในสังคมมีความสุข
ส่วนงานบทละครนั้นได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน นักประพันธ์คนสำคัญ คือ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ผู้แต่งเรื่องโรมิโอและจูเลียต (Romeo and Juliet) และเวนิสวาณิช (The Merchant of Vinice) ซึ่งเป็นบทละครที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์และความรู้สึก
ผลกระทบของการฟื้นฟูศิลปวิทยาการที่สำคัญ
การฟื้นฟูศิลปวิทยาการมีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การปกครองของยุโรปเป็นอย่างมาก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่หันมาใช้หลักเหตุผลแทนความเชื่อที่เกิดจากอิทธิพลทางศาสนา ซึ่งทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนาในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ชาวยุโรปยังแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเอง ทำให้การศึกษาขยายตัวอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นหลายแห่งในยุโรป มีการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่สำคัญ คือ การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ ทำให้ความรู้ด้านต่าง ๆ รวมทั้งแนวคิดด้านการเมืองการปกครอง แพร่หลายไปทั่วยุโรป การประดิษฐ์เข็มทิศ และพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะอาวุธปืน และปืนใหญ่ ทำให้ยุโรปก้าวเข้าสู่การแสวงหาดินแดนในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาเป็นอาณานิคม รวมทั้งทำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน