1.1 ความขัดแย้งเรื่องดินแดนปาเลสไตน์
ศาสนาอิสลามกำเนิดขึ้นที่เมืองเมกกะ (Mecca) ในคาบสมุทรอาหรับ ในคริสต์ศตวรรษที่ 7 เนื่องจากหลักศาสนาอิสลามเป็นแนวทางฏิบัติในวิถีการดำเนินชีวิต ทุกคนมีหน้าที่เผยแผ่ศาสนาและใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษากลางทางศาสนา ทำให้ชาวมุสลิมรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ศาสนาอิสลามจึงขยายไปทั่วในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ยุโรปทางใต้ จักรวรรดิของชาวมุสลิม เช่น เปอร์เซีย, ออตโตมัน ในทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย คาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะต่าง ๆ
ใน ค.ศ. 1078 พวกเซลจุกเติร์ก (Seljuk Turks) ซึ่งเป็นชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งได้เข้ามายึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นดินแดนที่นครเยรูซาเล็ม อันเป็นสถานที่ประสูติของพระเยซูศาสดาของคริสต์ศาสนาตั้งอยู่ ทำให้ชาวยุโรปที่มีความศรัทธาในคริสต์ศาสนาที่เดินทางไปแสวงบุญยังนครเยรูซาเล็มถูกขัดขวางหรือถูกสังหาร ทำให้สันตะปาปาเรียกร้องให้ชาวคริสต์ทำสงครามขับไล่ชาวมุสลิมออกจากนครเยรูซาเล็ม
1.2 อิทธิพลของคริสต์ศาสนา
ในยุคกลาง ศาสนาคริสต์มีอิทธิพลต่อยุโรปในทุก ๆ ด้าน พระสันตะปาปา (Pope) แห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก ณ นครวาติกัน ที่กรุงโรม เป็นประมุขสูงสุด มีอิทธิพลเหนือสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชน สันตะปาปาได้แต่งตั้งสังฆราช (Patriarch) ไปประจำตามดินแดนต่าง ๆ ที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการเก็บภาษีจากชาวคริสต์ร้อยละ 10 สามารถไต่สวนและลงโทษผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกับศาสนจักรด้วยการไล่ออกจากศาสนา ห้ามมิให้ร่วมพิธีกรรมใด ๆ และห้ามติดต่อกับคริสต์ศาสนิกชนอื่น ๆ เรียกว่า การบัพพาชนียกรรม (Excommunication) และ การตัดขาดจากศาสนาทั้งชุมชน (Interdiction)
ภาพที่ 1 พระสันตปาปาเกกอรี่ที่ 7 ทรงบัพพาชนียกรรมจักรพรรดิเฮนรี่ที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แสดงให้เห็นถึงอำนาจของศาสนจักรคาทอลิกในยุคกลาง และความขัดแย้งระหว่างฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Excommunication#/media/File:B_Gregor_IX2.jpg
ดังนั้นเมื่อสันตะปาปาขอให้คริสต์ศาสนิกชนทำสงครามศาสนากับชาวมุสลิม ซึ่งถือว่าเป็นการไถ่บาปครั้งยิ่งใหญ่ ผู้เสียชีวิตจากสงครามจะได้ขึ้นสวรรค์ ผู้ไปทำสงครามจะได้รับความคุ้มครองจากศาสนจักร จึงมีผู้ศรัทธาคริสต์ศาสนาไปร่วมทำสงครามเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากชาวมุสลิมเติร์กควบคุมเส้นทางการค้าสำคัญระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก พวกพ่อค้าจึงให้การสนับสนุนกองทหารชาวคริสต์ โดยเฉพาะการโจมตีเมืองท่าสำคัญของชาวมุสลิมและหวังว่าสงครามครูเสดช่วยให้พ่อค้ายุโรปขยายการค้าไปยังตะวันออกได้
สงครามครูเสดเริ่มใน ค.ศ. 1096 มีชาวคริสต์ไปเข้าร่วมสงครามโดยนักรบครูเสดจะสวมเสื้อที่เย็บเครื่องหมายกางเขนติดไว้ที่เสื้อ พวกนักรบเหล่านี้จึงถูกเรียกว่า “ผู้ที่ติดเครื่องหมายกางเขน” (Crusader) และเรียกสงครามครั้งนี้ว่าสงครามครูเสด ในการรบครั้งแรก ชาวคริสต์มีชัยชนะ และสามารถยึดนครเยรูซาเล็ม รวมถึงสามารถสร้างเขตปกครองชาวคริสต์ขึ้นหลายแห่ง แต่หลังจากที่ยกทัพกลับ พวกมุสลิมชาวอาหรับก็ยึดนครเยรูซาเล็มได้อีก สงครามจึงเกิดขึ้นหลายครั้งและเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนถึง ค.ศ. 1291 พวกมุสลิมได้ยึดฐานที่มั่นของชาวคริสต์ได้ทั้งหมด สงครามครูเสดจึงยุติลง
ภาพที่ 2 ภาพวาดยุคกลางแสดงให้เห็นถึงบรรดาอัศวินที่ติดเครื่องหมายกางเขนไว้บนเสื้อ
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Crusades#/media/File:Peter_the_Hermit.jpg
สงครามครูเสดมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของยุโรปอย่างกว้างขวาง อาทิ