สิ่งมีชีวิตและชีววิทยา

ยอดวิว 0

แบบฝึกหัด

EASY

สิ่งมีชีวิตและชีววิทยา (ชุดที่ 1)

HARD

สิ่งมีชีวิตและชีววิทยา (ชุดที่ 2)

เนื้อหา

สิ่งมีชีวิตและชีววิทยา

ลักษณะสำคัญของสิ่งมีชีวิต ได้แก่

1.  ต้องมีการสืบพันธุ์ (reproduction)

มีจุดเน้น 2 ข้อคือ

  • มีการถ่ายทอดลักษณะของสิ่งมีชีวิต หรือสารพันธุกรรม
  • มีการเพิ่มจำนวนลูกหลาน

     1.1 ไม่อาศัยเพศ (asexual reproduction)
           ไม่มีการผสมกันของเซลล์สืบพันธุ์ เช่น การแตกหน่อของแหน จุดเน้น คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม

     1.2  อาศัยเพศ (sexual reproduction)
            การสร้างหน่วยชีวิตใหม่จากเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียมาผสมกัน จุดเน้น คือ มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มความหลากหลายของสารพันธุกรรม ซึ่งอาจจะเอื้อต่อการปรับตัวต่อธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป


2.  ต้องการสารอาหารและพลังงาน

       เพื่อการสลายสารและสังเคราะห์สารในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism) เป็นกระบวนการทางเคมีที่เกิดขึ้นในเซลล์หรือร่างกาย มีเอนไซม์และพลังงานต่าง ๆ เกี่ยวข้องด้วย

     2.1  แคแทบอลิซึม (catabolism)
            การสลายโมเลกุลใหญ่ไปเล็ก จุดเน้น คือ
เกิดการคายพลังงานความร้อน เช่น การหายใจ การใช้พลังงานในการเคลื่อนไหว

     2.2  แอแนบอลิซึม (anabolism)
            การสร้างโมเลกุลเล็กไปใหญ่ จุดเน้น คือ  
เกิดจากการดูดพลังงานไปสะสม เช่น การเจริญเติบโตของพืชเกิดจากการสังเคราะห์ด้วยแสง การเจริญเติบโตของสัตว์สังเคราะห์โปรตีน และกรดอะมิโน


3. มีการเจริญเติบโต มีอายุและขนาดจำกัด

3.1  การเจริญเติบโต (growth)

  • สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว – ดูจากการเพิ่มขนาดของเซลล์ (cell sizes)
  • สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ – การขยายขนาดให้ใหญ่โตขึ้นจากการเพิ่มจำนวนเซลล์ และขนาดของเซลล์

3.2  การเพิ่มจำนวนเซลล์ (cell multiplication)

  • สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว – เซลล์ที่เพิ่มขึ้นจะมีลักษณะคล้ายกับเซลล์ต้นแบบ ที่เกิดจากการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น อะมีบา หากเป็นการแตกหน่อ (budding) เซลล์ต้นแบบจะมีขนาดใหญ่กว่า เช่น การแตกหน่อของยีสต์
  • สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ – เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์จากการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส จาก 1>2>4>8

3.3  การเปลี่ยนแปลงของเซลล์เพื่อไปทำหน้าที่ต่างๆ (cell differentiation)

  • สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว – สิ่งมีชีวิตบางชนิดมีการสร้างเซลล์ที่ทนทางต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นสปอร์ของแบคทีเรียบางชนิด
  • สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ – เมื่อเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเพศเมียมารวมกันจนได้เป็นไซโกต แล้วมีการเพิ่มและแบ่งจำนวนเซลล์มากขึ้น กลุ่มของเซลล์จะถูกชักนำให้มีการเปลี่ยนสภาพ และพัฒนาให้เหมาะสมกับการทำหน้าที่เฉพาะ เช่น เซลล์ตับ เซลล์ตา เซลล์หัวใจ 
    เนื้อเยื่อหลายชนิดมารวมกันเป็นอวัยวะ (organ) ซึ่งทำหน้าที่เฉพาะอย่าง เช่น ตาทำหน้าที่ในการมองเห็น แล้วอวัยวะต่างๆจึงทำงานร่วมกันเป็นระบบ (organ system) เรียกว่าระบบอวัยวะ ซึ่งทำหน้าที่ร่วมกันเพื่อแสดงออกถึงคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิต

3.4 การเกิดรูปร่างที่แน่นอน (morphogenesis)
      คือ การปรับเปลี่ยนรูปร่างของสิ่งมีชีวิตด้วยการเพิ่มจำนวนของเซลล์และการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ลักษณะที่แท้จริงของสิ่งมีชีวิต จะปรากฏขึ้นเมื่อการเกิดรูปร่างที่แน่นอนจบลง โดยลักษณะต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตถูกควบคุมโดยลักษณะทางพันธุกรรม และ อายุขัย (life span) 
ซึ่งสิ่งมีชีวิตมีวงจรชีวิต ตั้งแต่การเกิด เจริญเติบโต เสื่อมสภาพ จนถึงกระทั่งตายไป สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีอายุขัยแตกต่างกันไป  


4.  มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า

      ในสภาวะแวดล้อม มีสิ่งเร้า (stimuli) ทั้งจากทางกายภาพและทางเคมี ซึ่งสิ่งมีชีวิตจะมีปฏิกิริยาและการตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น ๆได้ เช่น เราจะดึงมือออกจากของร้อนโดยอัตโนมัติ สิ่งเร้าคือของร้อน เป็นต้น


5.  มีการรักษาดุลยภาพ (homeostasis) 

     ภาวะดำรงดุลย์ หรือที่เข้าใจง่ายๆ คือ ภาวะที่การทำงานของเซลล์ภายในร่างกายมีความสมดุลเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ทำให้เซลล์สามารถทำงานได้อย่างปกติ ได้แก่

  • ระดับน้ำในร่างกายและเซลล์
  • ความเป็นกรด - เบส
  • แร่ธาตุ
  • อุณหภูมิ
  • ระดับน้ำตาลในเลือด
  • การถ่ายทอดประจุ

6.  มีลักษณะจำเพาะ

     สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดต่างมีลักษณะที่จำเพาะแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางกายภาพ เช่น สัตว์ปีก จะมีเส้นขนที่เป็นลักษณะจำเพาะ และลักษณะทางชีวภาพ เช่น การสังเคราะห์โปรตีน เป็นต้น



7.  มีการจัดการระบบทั้งทางเคมีและทางชีวภาพ

     สิ่งมีชีวิตจะมีการจัดระบบโดยเริ่มตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุด คือ อะตอม > โมเลกุล (molecule) > โมเลกุลขนาดใหญ่ > เซลล์ > เนื้อเยื่อ (Tissue) > อวัยวะ (Organ) > ระบบอวัยวะ > สิ่งมีชีวิต > ประชากร > สังคม > ระบบนิเวศ > ชั้น Biosphere  ดังภาพ

                                     https://en.wikipedia.org/wiki/Biological_organisation

อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/Biological_organisation 

      เพื่อการอยู่รอดทำให้เกิดการปรับตัวในด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น หมีที่อยู่ขั้วโลกจะมีขนปกคลุมที่หนา เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกาย เมื่อระยะเวลาผ่านไป ก็จะเป็นการเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เรียกว่า การปรับตัวและวิวัฒนาการ (adaptation and evolution)


8. มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ (interaction)

    การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เป็นการรับหรือถ่ายทอดพลังงานในสิ่งมีชีวิต เช่น การกินอาหารต่อกันเป็นทอดๆ หรือที่เรียกว่าห่วงโซ่อาหาร ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตจะมีหลายรูปแบบ เช่น การอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย (symbiosis) และการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น (parasitism) โดยแย่งทรัพยากร

ทีมผู้จัดทำ