สภาพสังคมก่อนพุทธกาล พุทธประวัติ ชาดก พุทธสาวก และชาวพุทธตัวอย่าง
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎก พุทธศาสนสุภาษิต และคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
หน้าที่ชาวพุทธและมารยาทชาวพุทธ
การบริหารจิต การเจริญปัญญา และการสวดมนต์
วันสำคัญทางศาสนา และศาสนพิธี
เศรษฐกิจพอเพียงกับแนวทางการดำรงชิวิตตามหลักพุทธศาสนา
หลักพระพุทธศาสนากับการศึกษา หลักการวิทยาศาสตร์ หลักประชาธิปไตย การพัฒนาแบบยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ศาสนาเชน

ยอดวิว 34.7k

แบบฝึกหัด

EASY

ศาสนาเชน (ชุดที่ 1)

HARD

ศาสนาเชน (ชุดที่ 2)

เนื้อหา

ศาสนาเชน

      ศาสนาเชนเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับพุทธกาล คำว่า “เชน” มาจากภาษาสันสกฤตว่า ไชน แปลว่าผู้ชนะ  ศาสดาคือพระมหาวีระ เชนศาสนิกถือว่าพระองค์เป็น “ตีรถังกร” (ผู้สร้างท่าข้ามน้ำ หมายถึงผู้นำพาสัตว์ข้ามฝั่งแห่งวัฏสงสาร) องค์ที่ ๒๔ โดยเป็นผู้ค้นพบหลักธรรมที่สูญไปแล้วของเหล่าตีรถังกรในอดีตและฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง คติดังกล่าวใกล้เคียงกับคติเรื่องอดีตพุทธในพระพุทธศาสนา 

ประวัติศาสดา     

      พระมหาวีระมีพระนามเดิมว่าเจ้าชายวรรธมาน ประสูติแต่พระเจ้าสิทธารถะกับพระนางตฤศลา ผู้ครองนครเวสาลีในแคว้นวัชชี นามว่า “มหาวีระ” นั้นเป็นฉายา แปลว่า ผู้แกล้วกล้ายิ่ง ได้มาจากเหตุการณ์สมัยพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงจับช้างตกมันที่หลุดออกจากโรงช้างอาละวาดไล่แทงผู้คนกลับไปยังโรงช้างได้สำเร็จ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา พระมหาวีระได้ทรงรับสายยัชโญปวีตและทรงศึกษาในสำนักพราหมณาจารย์ตามธรรมเนียมกษัตริย์ ทว่าพระองค์ทรงมีทัศนะขัดแย้งกับหลักคำสอนของพราหมณ์ที่ว่าวรรณะพราหมณ์ประเสริฐสุด กลับทรงเห็นว่าแม้ผู้เกิดในวรรณะพราหมณ์ก็อาจประพฤติชั่วได้ตามทิฏฐิความเชื่อของตน

      ตามพระประวัติของพระมหาวีระในฝ่ายนิกายเศวตามพร เมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโศธา มีพระธิดาพระนามว่า อโนชชา ทรงครองเพศคฤหัสถ์อยู่จนพระชนมายุได้ ๒๘ พรรษา พระชนกและชนนีได้สิ้นพระชนม์ทั้งคู่ในเวลาไล่เลี่ยกัน พระองค์จึงเข้าเฝ้าพระเชษฐาผู้สืบราชสมบัติจากพระชนก และทูลขอออกผนวชบำเพ็ญทุกรกิริยาเพื่อไว้ทุกข์ พระเชษฐาธิราชได้ทรงรั้งไว้จน ๒ ปีต่อมาเจ้าชายวรรธมานยังไม่ทรงทิ้งความตั้งพระทัย ได้ทูลลาออกผนวชและทิ้งพระชายาและพระธิดารวมทั้งราชสมบัติทั้งปวงไว้เบื้องหลัง ทรงปฏิญาณว่า พระองค์จะไม่ตรัสอะไรเลยเป็นเวลา ๑๒ ปี และเมื่อพระชนมายุได้ ๔๒ พรรษาก็ทรงบรรลุเกวัลชญาณ อันเป็นธรรมสูงสุดของศาสนาเชน หลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง

      พระมหาวีระทรงเปลือยพระวรกาย เป็นเครื่องแสดงถึงความไม่ยึดติดกับสิ่งใดในโลก เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีตำนานเล่าว่าเดิมทีพระมหาวีระทรงนุ่งห่มผ้าเหมือนนักบวชทั่วไป ต่อมามีพราหมณ์ยากจนมาขอบริจาคผ้าไปให้ภรรยา ทรงเปลื้องประทานไปกึ่งผืน เหลือติดพระกายกึ่งผืน เมื่อภรรยาพราหมณ์นำไปให้ช่างทอผ้าดู ช่างทอผ้าก็บอกว่าหากมีผ้าอีกกึ่งผืนก็จะนำมาเย็บติดกันขายแลกเงินได้ พราหมณ์นั้นเข้าไปหาพระมหาวีระอีก แต่ไม่กล้าทูลขอ ครั้นเมื่อพระมหาวีระจะทรงพระดำเนินไป ผ้าพาดพระอังสะไปเกี่ยวติดพงหนามร่วงลง พราหมณ์ได้ฉวยเอาผ้านั้นไปเสีย พระมหาวีระก็ไม่ทรงทักท้วงแต่ประการใด เพราะได้ทรงปฏิญาณไว้แล้วว่าจะไม่ตรัสอะไรเลย และด้วยความที่ไม่ทรงยึดติดกับสิ่งใด จึงเปลือยพระกายมาแต่นั้น ครั้นเมื่อทรงบรรลุเกวัลชญาณแล้ว จึงทรงเปลี่ยนพระทัยที่จะไม่ตรัส มาเป็นการตรัสเพื่อสั่งสอนพระศาสนา

      พระมหาวีระทรงประกาศศาสนาอยู่ ๓๐ ปีก็ดับขันธ์เมื่อพระชนมายุได้ ๗๒ ปี ณ เมืองปาวา แคว้นมัลละ ประเทศอินเดีย ปัจจุบันศาสนาเชนเป็นศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งในอินเดีย มีศาสนิกกระจายอยู่ตามรัฐต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมจำนวนประมาณ ๔ ล้านคนเศษ


สัญลักษณ์ของศาสนาเชน

  • รูปกงจักรบนฝ่ามือ ตรงกลางมีคำว่าอหิงสา
  • รูปสวัสดิกะ หมายถึงวัฏสงสารอันเวียนไม่รู้จบสิ้น
  • จุด ๓ จุด หมายถึง ความเห็นชอบ ความรู้ชอบ ความประพฤติชอบ
  • จุด ๑ จุด ในครึ่งวงกลมตอนบน หมายถึงผู้หลุดพ้นจากวัฏสงสารแล้ว สถิตอยู่บนจุดสูงสุด
  • วลีภาษาสันสกฤตว่า “ปรสฺปโรปคฺรโห ชีวานามฺ” แปลว่า ทุกชีวิตล้วนอิงอาศัยกัน

นิกายในศาสนาเชน

      หลังจากพระมหาวีระดับขันธ์เข้าสู่นิรวาณไปแล้วประมาณหกศตวรรษ นักบวชเชนก็แบ่งออกเป็น ๒ นิกาย ดังนี้

  • นิกายทิคัมพร คำว่า “ทิคัมพร” มาจาก ทิคฺ + อมฺพร แปลว่า ผ้าคือทิศ (กล่าวคือนุ่งลมห่มฟ้า) เป็นนิกายดั้งเดิมที่ปัจจุบันมีผู้ถือปฏิบัติจำนวนน้อย นักบวชนิกายนี้จะเปลือยกาย ถือพัดขนนกยูง (ซึ่งทำจากขนหางนกยูงที่ร่วงหล่นเอง) และหม้อน้ำ นิกายนี้ไม่มีนักบวชเพศหญิง และถือว่าเพศหญิงไม่อาจบรรลุธรรมได้ ต้องเกิดใหม่เป็นชายก่อนในชาติต่อไปจึงจะสามารถบรรลุธรรม
  • นิกายเศวตามพร แปลว่านิกายผ้าขาว ซึ่งมีผู้ถือปฏิบัติมากกว่าทิคัมพร นักบวชในนิกายนี้จะนุ่งห่มผ้าขาว ถือพู่และมีผ้าขาวปิดปากและจมูกเพื่อกรองมิให้สูดแมลง เข้าไปโดยไม่รู้ตัว นิกายนี้มีนักบวชเพศหญิงที่ฐานะเท่าเทียมกับเพศชาย และเชื่อในการบรรลุธรรมของเพศหญิงด้วย 

หลักคำสอนในศาสนาเชน

      จุดหมายปลายทางของศาสนาเชนคือนิรวาณ หมายถึง การหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก โดยอาศัยธรรม ๓ ประการนี้คือ

  • ความเห็นชอบ (สัมยักทรรศนะ) โดยหลักมี ๓ ประการ
    • เชื่อในการแบ่งจักรวาลทั้งหมดเป็นสองด้านคือ ชีวะและอชีวะ หมายถึงสิ่งมีชีวิตและวัตถุ
    • เชื่อในปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับวัตถุ
    • เชื่อในศาสดา คัมภีร์ และบรรดาเกวลิน คือนักบวชผู้สิ้นกิเลสแล้วในศาสนาเชน
  • ความรู้ชอบ (สัมยักชญาณ) ตามหลักในศาสนาเชนมีหลักคำสอนเกี่ยวกับความรู้ที่เรียกว่า ชญาณ ซึ่งมี ๕ ประการ
    • มติชญาณ ความรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัส
    • ศรุตชญาณ ความรู้ที่เกิดจากการสดับตรับฟัง
    • อวธิชญาณ ความหยั่งรู้สิ่งที่อยู่พ้นวิสัยการมองเห็นหรือได้ยิน
    • มนปรยายชญาณ ความหยั่งรู้ความคิดจิตใจ
    • เกวัลชญาณ ความรู้อันสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อเกิดแล้วทำให้สิ้นกิเลส
  • ความประพฤติชอบ (สัมยักจริตร) คือการประพฤติตามหลักธรรมสำคัญของเชนที่เรียกว่า “พรต” (วฺรต) มีอยู่ห้าประการ ซึ่งผู้ยึดถือแนวทางของพระมหาวีระไม่ว่าจะเป็นสมณะหรือเป็นคฤหัสถ์พึงยึดถือปฏิบัติ ทว่าในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งเรียกว่าอนุพรต (พรตน้อย) เป็นหลักสำหรับคฤหัสถ์ และมหาพรต (พรตใหญ่) เป็นหลักสำหรับสมณะ ดังต่อไปนี้คือ
    • อหิงสา ในระดับอนุพรตนั้นหมายถึงการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วยความจงใจ ส่วนในระดับมหาพรตหมายถึงการระวังตนไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งด้วยกาย วาจา ใจ แม้ในกรณีเล็กน้อย และไม่จงใจก็ตาม
    • สัตย์ ในระดับอนุพรตหมายถึงการพูดความจริงและการค้าขายอย่างสุจริต ในระดับมหาพรตหมายถึงการกล่าวเพียงแต่ความจริงอย่างยิ่งยวด
    • อัสเตยะ การไม่ลักขโมย ทั้งในระดับอนุพรตและในระดับมหาพรตมีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ในระดับมหาพรตจะต้องใช้ความระมัดระวังอันยิ่งยวดกว่า ที่จะไม่หยิบฉวยสิ่งที่ไม่มีผู้ให้ให้แก่ตน แม้เพียงนิดเดียวก็ตาม
    • พรหมจรรย์ ในระดับอนุพรตหมายถึงการไม่ล่วงประเวณีภริยาผู้อื่น หรือนอกใจสามี หรือลักลอบกระทำชู้กันโดยไม่ผ่านการสมรส ส่วนในระดับมหาพรต หมายถึง การงดเว้นการข้องเกี่ยวกับเรื่องทางเพศโดยเด็ดขาดและสิ้นเชิง
    • อปริเคราะห์ ในระดับอนุพรตหมายถึงการไม่สั่งสมทรัพย์สิน และไม่ยึดติดกับวัตถุนิยม ส่วนในระดับมหาพรตนั้นหมายถึงการสละทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ถือครองทรัพย์สินสิ่งของใด ๆ เลย

ขั้นตอนแห่งการพัฒนาทางจิต

      ตามหลักศาสนาเชน ก่อนที่บุคคลจะหลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง จะผ่านภูมิธรรมต่าง ๆ ตามลำดับรวม ๑๔ ขั้นต่อไปนี้

    ขั้นที่ 1 – 4 เกิดจากการศึกษาทฤษฎีที่ถูกต้อง

  1. มิถยาตวะ ขั้นที่ยังหลงผิด เห็นผิดจากความจริง
  2. สาสาทนสัมยักทฤษฏิ ขั้นที่เริ่มมีความเห็นถูกต้อง
  3. มิศรทฤษฏิ ขั้นที่มีความเห็นถูกและผิดก้ำกึ่งกัน
  4. อวิรตสัมยักทฤษฏิ ขั้นที่มีความเห็นถูกโดยมั่นคง แต่ยังไม่ปฏิบัติพรต

    ขั้นที่ 5 เกิดจากการปฏิบัติอนุพรต
  5. เทศวิรตะ ขั้นที่เริ่มปฏิบัติอนุพรต มีการควบคุมตนเองบางส่วน

    ขั้นที่ 6 เป็นต้นไป เกิดจากการปฏิบัติถึงระดับมหาพรตเท่านั้น
  6. ปรมัตตสังยตะ ขั้นที่มีวินัยทางกายโดยสมบูรณ์ แต่จิตใจยังคงเผลอไผลชั่วขณะ
  7. อปรมัตตสังยตะ ขั้นที่ควบคุมกายและจิตใจได้โดยสมบูรณ์ ไม่เผลอสติ
  8. อปูรวกรณะ ขั้นที่ยังคงมีกิเลสตัณหาอย่างหยาบเกิดขึ้น
  9. อนิวฤตติกรณะ ขั้นที่เริ่มปฏิบัติอนิวฤตติกรณะ ยังคงมีกิเลสตัณหาเกิดขึ้นอยู่
  10. สูกษมสัมปรายะ ขั้นที่ยังเหลือแต่กิเลสตัณหาชนิดละเอียดอ่อน
  11. อุปศานตโมหะ ขั้นที่ข่มกิเลสตัณหาได้ แต่ยังไม่บรรลุเกวัลชญาณ
  12. กษีณโมหะ ขั้นที่ขจัดกิเลสตัณหาได้หมดสิ้น แต่ยังไม่บรรลุเกวัลชญาณ
  13. สโยคีเกวลิน ขั้นที่บรรลุเกวัลชญาณแล้ว แต่ยังมีการกระทำอยู่
  14. อโยคีเกวลิน ขั้นที่บรรลุเกวัลชญาณแล้ว และหมดสิ้นการกระทำทั้งปวง

ทีมผู้จัดทำ