สภาพสังคมก่อนพุทธกาล พุทธประวัติ ชาดก พุทธสาวก และชาวพุทธตัวอย่าง
หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
พระไตรปิฎก พุทธศาสนสุภาษิต และคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
หน้าที่ชาวพุทธและมารยาทชาวพุทธ
การบริหารจิต การเจริญปัญญา และการสวดมนต์
วันสำคัญทางศาสนา และศาสนพิธี
เศรษฐกิจพอเพียงกับแนวทางการดำรงชิวิตตามหลักพุทธศาสนา
หลักพระพุทธศาสนากับการศึกษา หลักการวิทยาศาสตร์ หลักประชาธิปไตย การพัฒนาแบบยั่งยืน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

ความหมาย ลักษณะ และประเภทของศาสนา

ยอดวิว 23.4k

แบบฝึกหัด

EASY

ความหมาย ลักษณะ และประเภทของศาสนา (ชุดที่ 1)

HARD

ความหมาย ลักษณะ และประเภทของศาสนา (ชุดที่ 2)

เนื้อหา

ความหมายของศาสนา

      คำว่า “ศาสนา” ปรากฏนิยามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ดังนี้

      ศาสน-, ศาสนา [สาสะนะ-, สาดสะนะ-, สาดสะหฺนา] น. ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือแสดงกำเนิดและความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็นหรือตามคำสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ. (ส. ศาสน ว่า คำสอน, ข้อบังคับ; ป. สาสน). 

      ศาสนาทุกศาสนาล้วนมีจุดมุ่งหมายในการจัดระเบียบสังคม เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกิดประโยชน์แก่ทั้งส่วนตนและส่วนรวม เปรียบเสมือนธรรมนูญแห่งชีวิต และมิอาจแยกขาดจากวิถีชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้ศาสนาย่อมวางหลักไว้ให้ปฏิบัติตาม รวมทั้งชี้ประโยชน์และโทษแห่งการปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนหลักศาสนานั้น ๆ 

ศาสนามีความสำคัญต่อบุคคลและสังคม ดังต่อไปนี้

  1. เป็นที่พึ่งทางใจของมนุษย์ ทำให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ
  2. ช่วยสมานสามัคคีระหว่างสมาชิกในสังคม ช่วยลดความขัดแย้ง
  3. ช่วยกำหนดมาตรฐานความประพฤติ ทำให้ผู้ประพฤติตามหลักศาสนาเป็นที่ยอมรับในสังคม
  4. เป็นเครื่องขัดเกลาสมาชิกของสังคมให้รู้จักเกรงกลัวและละอายต่อความชั่ว และรู้จักอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
  5. เป็นบ่อเกิดลัทธิประเพณีในแต่ละสังคม ธรรมเนียมปฏิบัติ มารยาทสังคม รวมทั้งเทศกาลและวันสำคัญต่าง ๆ
  6. เป็นอัตลักษณ์ของสังคม ซึ่งเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปในสังคมอื่น ๆ 
  7. เป็นมรดกทางสังคม แหล่งกำเนิดงานศิลปะ ศาสนวัตถุ ศาสนสถาน วรรณกรรม ซึ่งบ่งชี้ความเจริญก้าวหน้าทางภูมิปัญญาของสังคม

ลักษณะของศาสนา

      ศาสนาในโลกนี้ มีลักษณะความเชื่อแตกต่างกันมากมายหลายประเภท

พุทธทาสภิกขุได้สรุปไว้เป็น ๔ ประเภทได้แก่

  1. ประเภทที่ถือธรรมชาติ
  2. ประเภทที่ถือเทวดาหรือพระเป็นเจ้า
  3. ประเภทที่ถือการประพฤติศีลและวัตร
  4. ประเภทที่นิยมการรู้หลักปรัชญาเป็นหลักพ้นทุกข์เป็นเป้าหมาย

ศาสตราจารย์ ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ ได้ประมวลองค์ประกอบสำคัญของศาสนาไว้ดังต่อไปนี้

  1. มีความศักดิ์สิทธิ์ ศาสนาจะต้องมีหลักการอันว่าด้วยความศักดิ์สิทธิ์ มีการเคารพบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งในรูปแบบและไม่มีรูปแบบ คือ เป็นนามธรรมและรูปธรรม
  2. มีศาสนธรรม ศาสนาจะต้องมีหลักคำสอนทางศีลธรรม รวมถึงกฎเกณฑ์ ความประพฤติปฏิบัติ โดยมีความสงบสุขส่วนรวมเป็นเป้าหมาย
  3. มีศาสด ศาสนาจะต้องมีตัวบุคคลผู้สอน ผู้ก่อตั้ง ผู้ประกาศหลักธรรม (ศาสดา เจ้าลัทธิ) อันเป็นที่ยอมรับและมีความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้ โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์
  4. มีศาสนบุคคล ศาสนาจะต้องมีคณะบุคคล ทำหน้าที่รักษาและเผยแผ่คำสอนของศาสดา โดยเรียกว่าพระบ้าง นักบวชบ้าง ซึ่งมีฐานะพิเศษกว่าคนทั่วไป (เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ)
  5. มีศรัทธา ศาสนาจะต้องมีศรัทธาและความจงรักภักดีต่อคำสอนและต่อศาสดาและศาสนาที่ตนนับถือ และเมื่อตนนับถือศาสนาใดแล้วจะไม่ประกาศยอมรับศาสนาอื่นอีก
  6. มีศาสนพิธี ศาสนาจะต้องมีพิธีกรรม ซึ่งเป็นแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรม มีกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความขลังความศักดิ์สิทธิ์
  7. มีสถาบัน ศาสนาจะต้องมีการจัดระเบียบจนเกิดเป็นองค์กรหรือสถาบัน มีฐานะเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญ มีบทบาท หน้าที่และความสำคัญจนเป็นที่รับรู้ของประชาชน ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่อดีต
  8. มีศาสนสถาน ศาสนาจะต้องมีศาสนสถานเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นที่พำนักสำหรับพระ นักบวช เช่น วัด โบสถ์ สุเหร่า มัสยิด ฯลฯ รวมถึงวัตถุรูปเคารพ สัญลักษณ์ของศาสนาแต่ละศาสนา
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ อาจมีศาสนาบางศาสนา ที่มิได้มีองค์ประกอบครบถ้วนทุกประการดังกล่าว เช่น ศาสนาฮินดู ศาสนาชินโต ไม่อาจระบุได้ว่าใครเป็นศาสดา และศาสนาอิสลาม ไม่มีนักบวช ศาสนิกทุกคนมีฐานะเท่ากัน เป็นต้น

ประเภทของศาสนา

      ศาสนาแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้

  • ประเภทเทวนิยม (Theism) เป็นศาสนาที่เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าผู้รังสรรค์โลกและสรรพสิ่ง (Creator) แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ
    • เอกเทวนิยม (Monotheism) เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าสูงสุดเพียงพระองค์เดียว เป็นผู้รังสรรค์ทุกสิ่ง และควบคุมทุกสิ่งในสกลจักรวาล ศาสนาประเภทนี้ได้แก่ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาสิข เป็นต้น
    • พหุเทวนิยม (Polytheism) เชื่อว่ามีเทพเจ้าหลายองค์ สิงสถิตอยู่ในสรรพสิ่ง และมีหน้าที่ต่าง ๆ กัน ศาสนาประเภทนี้ได้แก่ศาสนาฮินดู ศาสนาชินโต ศาสนาของอียิปต์โบราณหรือกรีกโบราณ เป็นต้น
  • ประเภทอเทวนิยม (Atheism) ศาสนาประเภทนี้ ไม่เชื่อถือพระเป็นเจ้าในฐานะผู้สร้าง แต่เชื่อกฎธรรมชาติหรือกฎแห่งเหตุและปัจจัย ได้แก่ศาสนาเชน พระพุทธศาสนา เป็นต้น

ศาสนาสำคัญในโลก

      ศาสนาในโลกมีจำนวนมากมาย แต่ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักทั่วไป ได้แก่

  1. ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เกิดในประเทศอินเดีย เป็นศาสนาเก่าแก่ที่ไม่อาจสืบย้อนได้ว่าผู้ใดเป็นศาสดา  
  2. ศาสนาเชน เกิดในประเทศอินเดีย ศาสดาคือพระมหาวีระ
  3. พระพุทธศาสนา เกิดในประเทศอินเดีย ศาสดาคือพระพุทธเจ้า
  4. ศาสนาสิข เกิดในประเทศอินเดีย ศาสดาคือคุรุนานักเทพ
  5. าสนาโซโรอัสเตอร์ เกิดในประเทศเปอร์เซีย (อิหร่านปัจจุบัน) ศาสดาคือโซโรอัสเตอร์
  6. ศาสนายิว เกิดในประเทศอิสราเอล ศาสดาคือโมเสส
  7. ศาสนาคริสต์ เกิดในประเทศอิสราเอล ศาสดาคือพระเยซู
  8. ศาสนาอิสลาม เกิดในประเทศซาอุดีอาระเบีย ศาสดาคือนบีมุฮัมหมัด
  9. ศาสนาขงจื๊อ เกิดในประเทศจีน ศาสดาคือขงจื๊อ (ขงจื่อ)
  10. ศาสนาเต๋า เกิดในประเทศจีน ศาสดาคือเล่าจื๊อ (เหลาจื่อ)
นอกจากนี้ยังมีศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาชินโต ศาสนาบาไฮ และศาสนาท้องถิ่นต่าง ๆ อีกจำนวนมาก 

ทีมผู้จัดทำ